icon
giftClose
profile

เรียนรู้ผ่านการเล่นในห้องเรียนปฐมวัย ประเทศไต้หวัน

26565
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้ผ่านการเล่นในห้องเรียนปฐมวัย ประเทศไต้หวัน

มาดูไอเดียการจัดห้องเรียนเป็นห้องเล่นปฐมวัยในไต้หวัน จากประสบการณ์จริงในการดูงาน โดยอาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เรียนรู้ผ่านการเล่นในห้องเรียนปฐมวัย ประเทศไต้หวัน


โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


ในเดือนมีนาคม 2562 อาจารย์ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนนิว เชีย เม่ย (New Chia Mei) เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน เป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งเปิดสอนในระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษาค่ะ      ในครั้งนี้อาจารย์ได้มีโอกาสดูการจัดกิจกรรมในห้องเรียนของเด็กปฐมวัยอายุ 0-3 ปี จึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์เล็กๆน้อยๆให้กับเพื่อนๆครูอาจารย์ เผื่อจะสามารถนำไปต่อยอดไอเดียในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัย และทำให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างในการจัดกิจกรรมและมุมประสบการณ์ในห้องเรียนของเด็กอายุ 0-3 ปี ในไต้หวันกับในเมืองไทยบ้านเราค่ะ

โรงเรียนนี้จะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัย ไม่มีการอ่านเขียน เด็กอายุ 0-3 ปี โรงเรียนจะมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) เด็กอายุ 3-6 ปี โรงเรียนจะมุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) โดยโรงเรียนได้ระบุความสามารถที่เด็กอายุ 3-6 ปีควรมี คือ การอ่าน การเล่าเรื่องราว และการวาดรูปเพื่อสื่อสาร แต่สำหรับการอ่านเขียนโรงเรียนจะให้เริ่มอ่านเขียนในประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนจะให้เรียนภาษาจีนแมนดาริน (จีนกลาง) ซึ่งเป็นภาษาราชการ และภาษาจีนไต้หวัน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น การสอบเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนจะไม่มีการสอบเข้า ดังนั้นเด็กประถมที่นี่จะเป็นเด็กที่ช่างคิด ช่างถาม

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการรับรองคุณสมบัติของครู ครูทุกคนมีใบประกอบวิชาชีพครู และจบตรงทางการศึกษาปฐมวัย ครูดูแลเด็ก 3-4 ปี ต้องมีอนุปริญญาทางการศึกษาปฐมวัยเป็นอย่างต่ำ


ตารางกิจกรรมประจำวัน

 ห้องเรียนที่อาจารย์มีโอกาสไปดูงานครั้งนี้ คือห้องเรียนของเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งโรงเรียนจะมีตารางกิจกรรมแบ่งเป็นช่วงเวลา ดังนี้

8.00 – 9.00 น. กิจกรรมกลางแจ้ง

9.00 - 10.00 น. กิจกรรมเสรี

10.00 – 10.30 น. ทานขนม

12.00- 13.00 น. ทานอาหารกลางวัน

13.00- 14.00 น. นอน

14.00 น. เป็นต้นไปกลับบ้าน


สำหรับกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ครูจะนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมเสรีมาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น ครูเห็นเด็กสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ก็จะนำมาพูดคุย หรือมุมไหนไม่มีค่อยมีเด็กเข้าไปเล่นก็จะเอามาพูดคุยกัน

สภาพแวดล้อมนอกห้องเรียน

สภาพแวดล้อมนอกห้องเรียน ด้านหน้าห้องเรียนมีที่แขวนเสื้อกันหนาว ชั้นวางรองเท้า ชั้นวางหนังสือนิทาน และโต๊ะอ่านหนังสือนิทานเตี้ยๆ สำหรับเด็ก รอบๆ โรงเรียนมีกรงเลี้ยงสัตว์ เช่น กระรอก และมีการเลี้ยงเต่า และปลา  

สภาพแวดล้อมในห้องเรียน

สภาพแวดล้อมในห้องเรียนของเด็กอายุ 0-3 ปี เป็นพื้นไม้ มีพื้นที่กว้างให้เด็กทำกิจกรรม มีชั้นวางกระเป๋านักเรียนติดผนัง มีที่วางแปรงสีฟันยาสีฟันติดผนัง ผนังห้องเรียนจะมีผลงานเด็กจัดแสดง มีโต๊ะทำงานของครู มีตู้เก็บสื่อการสอน สำหรับเด็กอายุ 3 ปีจะเรียนรู้ผ่านการเล่นตามมุมประสบการณ์ที่หลากหลายโดยทั้งหมดจะเรียกว่า “กิจกรรม Let’s Play” ในแต่ละมุมมีสื่ออุปกรณ์การเล่นที่เพียงพอต่อเด็ก บางมุมเช่นมุมศิลปะจะมีผลงานของเด็กจัดแสดง โดยแบ่งเป็นมุมต่างๆทั้งหมด 6 มุมประสบการณ์ ได้แก่

1. มุมของเล่น (Toy Area)

ครูจะเตรียมอุปกรณ์การเล่นไพ่ไว้ให้เด็กๆทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อสอนเรื่องจำนวน  และของเล่นอื่นๆ เช่น ตุ๊กตา เลโก้ ตัวต่อ จิ๊กซอว์ เป็นต้น

         หมายเหตุ : กิจกรรมการเล่นไพ่เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่อาจารย์ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับบริบทและสังคมไทยหรือไม่นะคะ เนื่องจากกฎหมายไทย การเล่นไพ่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่หากเป็นกิจกรรมทางการศึกษาไม่แน่ใจว่าเมืองไทยทำได้หรือไม่ค่ะ

2. มุมการเย็บ (Sewing Area)

กิจกรรมการเย็บรองเท้ากระดาษ

         อุปกรณ์

         1. กระดาษ ดินสอ สีเทียน เข็ม กรรไกร ไหมพรม อุปกรณ์ตกแต่ง

2. ผ้ากันเปื้อน

         วิธีการทำ

1.ครูให้เด็กรูปวาดรองเท้าแตะบนกระดาษ และใช้กรรไกรตัดตามรอย

2. ร้อยไหมพรมไปในรูเข็มเพื่อเนาตามขอบ

3. ใช้อุปกรณ์ตกแต่งรองเท้าให้สวยงาม

4. เมื่อทำเสร็จครูจะนำผลงานตกแต่งบริเวณด้านหลังมุม

นอกจากนั้นในมุมนี้จะมีผลงานของเด็กจะมีผลงานที่เด็กนำรูปทรงเรขาคณิตนำมาต่อกันและสร้างเป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการ



3. มุมวิทยาการคำนวณ (Computer Science / Science and Technology)

กิจกรรมการพับกระดาษ

อุปกรณ์

1. กระดาษสีหลายสีตัดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าใส่ในตระกร้า

2. ตัวอย่างขั้นตอนการพับกระดาษรูปปลา และรูปเรือ ที่ติดไว้บนกระดาษแข็ง

วิธีการเล่น

ให้เด็กเลือกระดาษสีที่ตนเองชอบ ดูตัวอย่างสังเกตขั้นตอนการพับกระดาษที่ครูทำเตรียมไว้ให้เพื่อดูแบบแล้วพับตาม เมื่อพับเสร็จแล้วให้ใส่ตระกร้าไว้ ขณะที่เด็กทำครูให้อิสระเด็กในการทำ


4. มุมเกม (Game Area)

เกมเขาวงกต

อุปกรณ์ทำเขาวงกต

1.กระดาษแข็งสีขาวใหญ่ 2 แผ่น

2.กรรไกร

3.สก็อตเทป

วิธีทำเขาวงกต

1. ใช้กระดาษแข็งแผ่นที่ 1 ตัดเป็นเส้นยาวๆ แล้วตัดออกเป็นแฉกๆด้านล่าง เพื่อนำมากางออกบนแผ่นกระดาษแข็งแผ่นที่ 2

2. ใช้กระดาษแข็งแผนที่ 2 นำมารองด้านล่าง จากนั้นนำเอาแฉกๆกางออกให้แนบกับกระดาษแข็งแผ่นใหญ่ที่รองด้านล่าง ขดให้เป็นเขาวงกต แล้วใช้สก็อตเทปติดให้แน่น 

วิธีการเล่น

1.     ให้เด็กนำลวดหนีบกระดาษ มาหนีบกับกระดาษที่เด็กพับเป็นรูปปลา และรูปเรือข้างต้น

2.     นำแม่เหล็กเลื่อนด้านล่าง ทำให้กระดาษที่เด็กพับเป็นรูปปลา และรูปเรือวิ่งได้ตามร่องของเขา

วงกต เด็กๆหาทางออกจากเขาวงกตร่วมกัน

3.     ให้เด็กๆสร้างกติการ่วมกันว่าจะเล่นอย่างไร ถึงจะหาทางออกจากเขาวงกตให้ได้ เช่น ใครที่

สามารถพาปลาออกไปจากเขาวงกตได้เร็วกว่ากันคนนั้นเป็นผู้ชนะ

4.     ครูคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ และส่งเสริมจินตนาการเด็ก เช่น ในขณะที่เด็กพับและเล่น ให้เด็ก

เอาหมวกชาวประมงที่ประดิษฐ์ขึ้นเองมาใส่ เพื่อสมมติว่าตนเองว่าอยู่ในเหตุการณ์การตกปลาในเรือ


5. มุมบล็อก (Block Area)

                                          กิจกรรมการเล่นบล็อก

อุปกรณ์

1.      ไม้บล็อกรูปร่างรูปทรงหลายขนาด แยกประเภทของขนาด รูปร่าง รูปทรง จัดไว้ใน

ตระกร้า มีสก็อตเทปชื่อของรูปทรงนั้นติดไว้

2.      หมวกวิศวะกรเหมืองแร่ ที่เด็กๆเคยทำ แล้วมาวางในมุม หมวกวิศวะกรเหมืองแร่ ทำจาก

กระดาษแข็งตัดเป็นเส้นยาวๆให้พอดีศรีษะเด็กเพื่อนำมาคาดศรีษะเด็ก ไฟฉายที่อยู่ตรงกลางที่คาดศรีษะเด็กทำจากกระดาษแข็งตัดเป็นเส้นแล้วคดเป็นวงกลม ใช้แม็กเย็บติด แล้วนำกระดาษแก้วหลายสีมาติดให้ไฟฉาย

             วิธีการเล่น

1.      ให้เด็กเล่นอิสระ เด็กส่วนใหญ่จะเล่นสร้างเมืองร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ และสมมุติเหตุการณ์ด้วย

ตนเอง

2.      เมื่อเล่นเสร็จให้เก็บเข้าที่โดยแยกใส่ตระกร้าให้ถูกต้องตามเดิม


6.มุมโบล์ลิ่ง (Bowling Area)

กิจกรรมโยนโบล์ลิ่ง

         อุปกรณ์

         1. ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วนำมาตกแต่งให้สวยงามทำเป็นพินโบล์ลิ่ง

         2. กระดานติดคะแนนทำจากกระดาษแข็ง (ดังตัวอย่างด้านล่าง) ตัวเลขที่ติดคะแนนสามารถทำได้ตามใจชอบแต่ควรให้เด็กแปะ หรือแขวนเองได้

         3. ลูกบอล

         วิธีการเล่น

1. ครูอธิบายวิธีการวางขวดว่าสามารถวางได้หลายแบบ (ตามกระดานด้านล่าง) เช่น วางเรียงเป็นแถวยาว วางเรียงเป็นวงกลม และให้เด็กนำลูกบอลโยนตามรางให้ขวดโบว์ลิ่งล้มลง และนับจำนวน

2. เมื่อเด็กทำขวดโบล์ลิ่งล้มลง ให้เด็กนับจำนวนและเอาตัวเลขมาติดที่กระดาน

3. ครูคอยสังเกตเด็ก ครูสรุปคะแนนของทั้ง 4 คนอีกครั้งหลังโยนเสร็จ ว่าใครได้มากกว่าหรือน้อยกว่ากัน


(มีภาพร่างให้ดูใน file)

 

 

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมในมุมประสบการณ์ของเด็กปฐมวัยอายุ 0-3 ปีของโรงเรียนในไต้หวันนั้นนั้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นสำคัญ กิจกรรมส่วนใหญ่ให้เด็กได้ใช้จินตนาการ เช่น การเล่นบล็อกที่มีหมวกวิศวะกรให้ใส่ เด็กๆจะสนุกมาก กิจกรรมสอดแทรกทักษะต่างๆไว้มากมาย รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม เช่น การเก็บของให้เป็นที่ดังตัวอย่างบล็อกที่มีสติ๊กเกอร์ติดให้เด็กแยกประเภท เด็กได้ทั้งคุณธรรมการเก็บของให้เป็นระเบียบและยังได้ทักษะวิทยาศาสตร์ในเรื่องการจำแนกแยกแยะไปในตัวอีกด้วย การทำเกมเขาวงกต ที่ครูสามารถนำเอากระดาษแข็งที่มีอยู่มาดัดแปลงเป็นเกมสนุกๆให้เด็กได้เล่น นอกจากนั้นทางด้านทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็มีให้เห็นอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นไพ่ การเล่นโบล์ลิ่ง การพับกระดาษตามทิศทางที่ครูเขียนบอกไว้ (เป็นลักษณะเหมือน Coding) รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมกลุ่มเกือบทุกกิจกรรม เช่น เกมเขาวงกต

ท้ายนี้อาจารย์หวังว่าสิ่งที่นำมาฝากเล็กๆน้อยๆนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับครูอาจารย์ที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ จริงๆแล้วการมีภาพถ่ายประกอบน่าจะทำให้คุณครูมองเห็นภาพได้ชัดขึ้นค่ะ แต่ภาพอาจมีลิขสิทธิ์ จึงไม่สามารถนำมาฝากได้ค่ะ


หมายเหตุ : สำหรับคุณครูหรือาจารย์ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการสอนแบบ Project Approach สำหรับเด็กปฐมวัยในไต้หวัน อาจารย์ได้เคยเขียนบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ค่ะ หากสนใจสามารถเข้ามาสอบถามได้นะคะ 

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ตารางคะแนนกิจกรรมโบว์ลิ่ง.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 5 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(2)