icon
giftClose
profile

"ภาษาสีรุ้ง" เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศจากภาษาไทย

62946
ภาพประกอบไอเดีย "ภาษาสีรุ้ง" เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศจากภาษาไทย

กิจกรรม "ภาษาสีรุ้ง" ช่วยให้นักเรียนรู้รู้ทั้งทักษะภาษา(ชนิดของคำ) การเห็นอกเห็นใจ การเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย และตระหนักถึงความร้ายแรงของการใช้คำบุลลี่เพื่อนร่วมชั้นที่เป็น LGBTIQN+

ที่มาของการออกแบบการเรียนรู้



เพศวิถีเป็นเรื่องที่นักเรียนหลายคนให้ความสนใจทุกครั้งที่เปิดประเด็นในห้องเรียน เพราะพวกเขาต้องการค้นหาความจริงเพื่อจะก้าวข้ามความสับสน อคติ และคลายความสงสัยของตัวเอง ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งการแต่งกาย ของเล่น พฤติกรรมและที่สำคัญคือภาษา มีนักเรียนหลายคนที่เจ็บปวดจากการตีตรา บุลลี่ด้วยคำพูด เราจึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านหลักภาษาวิชาภาษาไทย เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักว่ารูปแบบการใช้ภาษาไทยไม่ได้กดขี่หรือตีกรอบเพียงอย่างเดียว หากนักเรียนได้เรียนรู้และยอมรับความหลากหลายทางเพศของกันและกันก็จะสามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์และแสดงออกในเพศวิถีของตนเองได้อีกด้วย และจะช่วยให้นักเรียนเคารพอัตลักษณ์ทางเพศของผู้อื่น

เหตุการณ์ที่ทำให้เรานำเอาหลักภาษาไทยและแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศมาออกแบบการเรียนรู้เกิดจากเหตุการณ์ในบ่ายวันหนึ่ง

"คุณครูขาา นายAเขาเป็นกะเทยค่ะ" นักเรียนกลุ่มหนึ่งพร้อมใจกันเสียงใสตะโกนฟ้องคุณครู

"เป็นเลยค่ะ" ฉันตอบกลับอย่างรวดเร็ว

นาย A มีสีหน้าโล่งใจก่อนจะวิ่งหายลับไปทางอื่น เป็นอันว่ารอดจากการโดนบุลลี่เรื่องเพศสภาพไปอีกครั้ง

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เราต้องมานั่งคิดว่าทำอย่างไรนักเรียนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลายจะได้รับการยอมรับและได้รับการเคารพตัวตนจากนักเรียนคนอื่น ๆ เผอิญว่าคาบต่อไปที่ต้องสอนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับชนิดของคำ เราจึงคิดหาทางปรับเปลี่ยนกิจกรรมการสอนแล้วเดินเข้าห้องด้วยธงสีรุ้งขนาดใหญ่และกล่องสองใบอันโต

 

กระบวนการ



"วันนี้เราจะมาทำกิจกรรมที่ชื่อว่า ภาษาสีรุ้ง กัน"

ฉันพูดขณะที่เด็ก ๆ กำลังให้ความสนใจกับธงสีรุ้งที่ปูอยู่กลางห้องขนาบทั้งสองข้างด้วยกล่องใบโตสีฟ้าและสีชมพู

"มันจะมีคำชนิดนึงที่เอาไว้เรียกแทนชื่อสิ่งต่าง ๆ คำที่ทำหน้าที่นี้เป็นคำชนิดไหนเอ่ย"

"คำนามหรือเปล่าคะครู"

"ไม่ใช่ค่ะ คำชนิดนี้เป็นคำคำที่ใช้แทนคำนามชนิดต่าง ๆ เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำอีกครั้ง"

"คำว่า เธอ ใช่ไหมคะครู"

"ใช่ค่ะ แล้วเราเรียกคำว่าเธอว่าเป็นคำชนิดไหนคะ"

"คำสรรพพนามครับ"

"ใช่ค่ะ วันนี้เราจะมาเรียนการใช้คำสรรพนามกัน" เสียงโอดครวญของนักเรียนดังขึ้นแทบจะทันทีเพราะหลักภาษากับธรรมชาติความสนใจของนักเรียนไม่เคยเป็นของคู่กัน ฉันเลยชวนให้ดูกล่องสีฟ้า ชมพู และธงสีรุ้ง ก่อนจะแจกแผ่นกระดาษไปให้นักเรียนทุกคน ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนกิจกรรม "ภาษาสีรุ้ง" มีดังนี้


1) ให้นักเรียนเขียนคำสรรพนามที่ใช้แทนตัวเองลงในกระดาษที่แจกให้ ในขั้นตอนนี้ชวนคุยกับนักเรียนว่า "คำสรรพนามที่นักเรียนใช้แทนตัวเองส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไร" คำตอบที่นักเรียนช่วยกันแชร์เช่น

"ใช้คำว่า หนู แล้วรู้สึกว่าต้องอ่อนน้อม เรียบร้อยค่ะ"

"พอเพื่อนใช้คำว่า ผม แล้วเราคาดหวังให้เพื่อนต้องแมน ๆ ค่ะ เท่ ๆ แล้วก็เข้มแข็ง"

ลองให้นักเรียนได้ใช้คำสรรพนามที่ไม่เคยได้ใช้เช่น นักเรียนชายลองใช้คำว่า หนู ดิฉัน แล้วพูดสะท้อนความรู้สึก


2) พอมาถึงจุดนี้เราถามนักเรียนว่ามีใครไม่พอใจหรืออยากเปลี่ยนคำสรรพนามของตัวเองไหม

"รู้สึกมันไม่เป็นตัวของตัวเองอะ ถ้าเป็นไปได้อยากให้คำว่าหนู อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าหนูน่ารัก" นักเรียนที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่าเด็กชายพูดขึ้น

"ผู้หญิงมีคำให้แทนตัวเองเยอะ แต่มันก็สับสน ผู้ชายมีแค่ ผม คำเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต" เด็กผู้หญิงพูดขึ้น

เราจึงถามทั้งห้องว่ามีใครอยากแลกสรรพนามกันไหม มีทั้งนักเรียนหญิงแลกกับนักเรียนชาย นักเรียนหญิงแลกกับนักเรียนหญิง จากนั้นให้เราให้นักเรียนโยนบัตรคำสรรพนามของแต่ละคนลงไปในกล่องสีฟ้าหากสรรพนามนั้นแสดงถึงความเป็นชาย กล่องสีชมพูหากสรรพนามนั้นแสดงถึงความเป็นหญิงจากนั้นช่วยกันค้นหาคำสรรพนามที่ใช้ได้ทั้งสองเพศหรือเป็นคำกลาง ๆ ไม่ระบุเพศ นักเรียนนำคำว่า เรา เขา คุณ นำไปวางบนธงสีรุ้ง

จากนั้นชวนนักเรียนพูดคุยว่าคำที่อยู่บนธงสีรุ้งนั้นแทนความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้มีแค่หญิงและชาย เนื่องจากนักเรียนของเราอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเสนอคำสรรพนามภาษาถิ่นด้วย คำจากการ์ดที่ให้นักเรียนเขียนเรารวมรวมมาได้เช่น เรา ฉัน ข้อย เจ้า มึง กู จึงได้พูดคุยต่อยอดประโยชน์ของภาษาถิ่น




ผลลัพธ์หลังจากจัดการสอนครั้งนั้นในมุมมองของครู

- เราได้เรียนรู้ว่าการออกแบบกิจกรรมโดยให้นักเรียนเชื่อมโยงประสบการณ์หรือความรู้สึกช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

- เราได้เรียนรู้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ผ่านการแลกเปลี่ยน รับฟัง เมื่อก้าวออกมาจากกรอบเพศตามขนบเดิมได้จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์อีกมากมาย คำตอบที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจคือการนำเอาภาษาถิ่นมาเป็นคำตอบด้วย ทำให้เราได้รู้ว่านอกจากบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้คือเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ หลักการใช้ภาษา นักเรียนยังเชื่อมโยงประสบการณ์การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ได้ อีกนัยหนึ่งคือการที่นักเรียนได้ก้าวออกจากกรอบการใช้ภาษาไทยออกมาใช้ภูมิปัญญาภาษาท้องถิ่น


ผลลัพธ์หลังจากจัดการสอนครั้งนั้นในมุมมองของนักเรียน

- เราได้เห็นนักเรียนรับฟังทั้งความคิดเห็นและความรู้สึกกันและกันมากขึ้นอันเป็นบรรยากาศสำคัญของสังคมประชาธิปไตย การเคารพความรู้สึกและอัตลักษณ์ของเพื่อน แม้จะมีการพูดขัด การขำขัน ล้อเลียน แต่เมื่อเพื่อนยืนยันจุดยืนและความรู้สึก นักเรียนก็แสดงออกถึงมารยาทและการให้เกียรติกันแม้จะมีเพศวิถีที่แตกต่าง

- เราได้เห็นนักเรียนตาเป็นประกายเมื่อเราเล่า เปิดรูป เปิดวิดีทัศน์เพศวิถีแบบอื่น ๆ นอกจากชายหญิงใช้เขาฟัง เราเชื่อว่าหลังหมดคาบนี้คงมีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจของนักเรียนแล้วเขาจะค้นหา ทำความเข้าใจทั้งตัวเองและคนในสังคมให้มากขึ้น มีนักเรียนบางคนขอให้เราเล่าเรื่อง trans gender ให้ฟังเพราะเขารู้สึกเหมือนได้ค้นพบสิ่งที่นิยามตัวตนของเขาได้ หรือเรื่อง queer ที่ทำให้นักเรียนคนนึงที่รู้สึกแปลกแยก แตกต่างจากเพื่อนมักถูกเพื่อบุลลี่เพราะการแสดงออกที่ไม่ตรงตามบทบาททางเพศที่สังคมกำหนด เขาดูท่าทางจะภูมิใจในความ queer ของตัวเองถึงกับจดคำไว้ในสมุดแล้วบอกกับเราว่าตอนเย็นจะไปค้นกูเกิลต่อ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(21)
เก็บไว้อ่าน
(10)