icon
giftClose
profile

เทคนิค Show and Sketch วาดเสร็จจำได้ขึ้นใจ

27323
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิค Show and Sketch วาดเสร็จจำได้ขึ้นใจ

ตามมาดูเทคนิคการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดี มีความสุข ได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ใช้สมองทั้ง 2 ซีกทำงานไปพร้อมๆขณะเรียน ผ่านเทคนิค Show and Sketch โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เทคนิค Show and Sketch วาดเสร็จจำได้ขึ้นใจ


โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


จากการสอนที่ผ่านมา พบว่า นักศึกษามีปัญหาเรื่องการจดจำข้อมูลต่างๆในรายวิชา เนื่องจากวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นวิชาที่นักศึกษาต้องเรียนรู้เนื้อหาทฤษฎีร่วมกับการฝึกภาคปฎิบัติ ซึ่งนักศึกษาต้องสามารถมีทั้งองค์ความรู้และสามารถนำความรู้ด้านการสอนแบบมอนเตสซอรี่ไปสอนเด็กปฐมวัยได้อนาคตได้จริงๆ ดังนั้นวิธีการสอนหนึ่งในภาคปฏิบัติที่เรานำมาใช้ในช่วงแรกๆ คือ วิธีการสอนแบบสาธิต แต่เราพบว่า หากสอนแบบสาธิตไปแบบธรรมดาเหมือนที่ผ่านมา เมื่อเวลาสอบภาคปฏิบัติ นักศึกษาจำนวนมากบอกกับอาจารย์ว่าจำวิธีการสาธิตของอาจารย์ไม่ค่อยได้ อ่านที่จดแล้วก็ยังมีบางขั้นตอนที่ยังสับสน เพราะขั้นตอนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เราจึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาสามารถดูเรานำเสนอการสาธิตการสอนแล้วสามารถจดจำได้ดี

หากมองย้อนกลับไปเมื่อตอนสมัยวัยเด็กเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีอาจารย์วิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งได้ให้เราทำสมุดบันทึกเนื้อหาวิชาที่สามารถวาดรูป ระบายสีได้ ตกแต่งได้ ตัดภาพจากนิตยสารที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่บันทึกมาใส่ติดได้ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นทั้งๆที่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์เลย และเวลาสอบก็จดจำได้ง่าย จึงมาคิดว่าเราควรใช้วิธีการลักษณะคล้ายๆกันมาใช้ ดังนั้นจึงเกิดวิธีสอนแบบสาธิต ร่วมกับ เทคนิคการทำ Sketchnote ขึ้น ซึ่งเราเรียกของเราเองว่าเป็นการ “Show and Sketch”  คือ อาจารย์เป็นผู้ show และนักศึกษาเป็นผู้ sketch ซึ่งการ sketch นี้เราไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาวาดออกมาสวย นักศึกษาไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง หรือมีทักษะการวาดรูปมาก่อน แต่เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญในการทำครั้งนี้ คือ การให้นักศึกษาสามารถจดจำขั้นตอนการสอนแบบสาธิตของอาจารย์ได้ โดยรู้สึกสนุกไปด้วย และเป็นการบูรณาการวิชาต่างๆด้วย เช่น ศิลปะ การออกแบบ เป็นต้น

           เราเห็นว่าจากการสอนด้วยวิธีสอนแบบสาธิต ร่วมกับ เทคนิคการทำ Sketchnote เป็นการสอนที่ดูธรรมดา แต่จริงๆแล้วนักศึกษาได้รับประโยชน์มากมายจากตาดู หูฟัง สมองคิด มือเขียน มือได้ปฏิบัติ (ทั้งการเขียนบันทึกขั้นตอนการสาธิตการสอนจากอาจารย์ การจับใจความสำคัญของเนื้อหาในบันทึกแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นวาดถ่ายทอดออกมาเป็นการ sketch  และการลงมือปฏิบัติจริงหลังการดูอาจารย์สาธิตจบ) และที่สำคัญสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมอง ที่ว่าสมองจะทำงานได้ดีหากทำงานร่วมกันทั้งสองซีก ซึ่งการสอนในลักษณะนี้สมองได้ทำงานร่วมกันสองซีกอย่างแน่นอน ซีกซ้าย เป็นสมองด้านการคิดต่างๆในการเรียนรู้เนื้อหา ส่วนซีกขวา เป็นสมองด้านศิลปะ ดนตรี การใช้ความรู้สึกต่างๆ Sketchnote จัดว่าเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์เนื่องจากทำให้ผู้วาดได้ใช้จินตนาการในการวาดด้วยลายเส้นของตนเอง



อุปกรณ์

 ดินสอ คู่กับเนื้อหาที่จดบันทึกการเรียนรู้ในห้องเรียน ปากกาเมจิก ดินสอสี  หรือ Apple Pencil ไอแพด คู่กับเนื้อหาที่จดบันทึกการเรียนรู้ในห้องเรียน


เทคนิค

1. ในวันเปิดเรียนวันแรกของรายวิชา อาจารย์อธิบายว่าในภาคเรียนนี้จะให้นักศึกษาฝึกทำ Sketchnote โดยให้อิสระกับ

นักศึกษาในการวาดว่าในสมุดบันทึก หรือจะวาดในไอแพดก็ได้ แล้วแต่ที่นักศึกษาถนัด ใครถนัดระบายสีก็ได้ หากไม่ถนัดสามารถวาดเป็นลายเส้นได้  อาจารย์ชี้แจงว่าการฝึกทำ Sketchnote ครั้งนี้จะให้นักศึกษาทำในส่วนที่เป็นเนื้อหาบรรยายภาคทฤษฎี และส่วนเนื้อหาภาคการปฏิบัติ คือให้ดูขณะอาจารย์สาธิต ทำการจดบันทึก และทำการ sketch ประกอบ

2. อาจารย์อธิบายถึงความหมาย ประโยชน์ของการทำ Sketchnote  เพื่อให้นักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจ

3. อาจารย์แนะนำเทคนิคการทำ Sketchnote ง่ายๆ

3.1 ให้นักศึกษาดูภาพลายเส้นอิริยาบถต่างๆ แล้วตอบว่าในภาพเป็นใคร ทำอะไร คิดอะไร (สรุปว่าลายเส้น

ต่างๆสามารถใช้แทนอารมณ์ ความรู้สึกได้)

3.2 ให้นักศึกษาทดลองวาดภาพด้วยรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม ก้อนเมฆ จุด เส้นตรง (สรุปว่าลายเส้นจะ

เกิดเป็นรูปได้จากเส้นพื้นฐาน 6 เส้น เหล่านี้)

3.3 ให้นักศึกษาฝึกวาดรูปสิ่งของ ฝึกวาดหน้าคนแบบหน้ากลม (หน้ามีสามส่วน หน้าผาก แก้ม คาง เติม

รายละเอียดบนใบหน้า เช่นทรงผม หู ความรู้สึกบนใบหน้า) ท่าทางของคน (คนแบบก้างปลา คนแบบกล่อง คนแบบดาว)

                               3.4 ให้นักศึกษาฝึกออกแบบฟอนท์ กรอบข้อความ และลูกศรเชื่อม

                       3.5 ให้นักศึกษาฝึกจับประเด็น โดยให้ใช้วิธีการย่อยข้อมูล แยกเนื้อหาออก เรียงลำดับความสำคัญ ดึงคำสำคัญออกมา (Keywords) และวาดภาพ ซึ่งการดึงคำสำคัญ (Keywords) จะสำคัญมากเพราะจะเป็นสิ่งที่เราเอามาสร้างเป็นภาพ

4. อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่าหากเป็นเนื้อหาลักษณะต่างๆ จะมีวิธีการจัดเลย์เอ้าท์ที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นเนื้อหาเชิงบรรยายหรือบทความ จะจัดเลย์เอ้าท์แบบ Linear คือมีคำบรรยายไปแล้วมีภาพประกอบด้านบนคำที่เป็นคำสำคัญ (Keywords) ถ้าเป็นเนื้อหาที่มีข้อมูลแยกชัดเจน จะจัดเลย์เอ้าท์แบบตาราง Modular เป็นต้น แต่สำหรับรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่เป็นการฝึกภาคปฏิบัติซึ่งมีขั้นตอนการสอนเป็นลำดับขั้น จึงควรใช้เลย์เอ้าท์แบบ Path ซึ่งจะเหมาะกับการสอนที่เป็นขั้นตอน มีการเขียนบันทึกเป็นเส้นทาง มีเส้นเป็นตัวนำทิศทางข้อมูล ทำให้เห็นทิศทางการดำเนินของข้อมูลที่ชัดเจน

5. อาจารย์สอนภาคทฤษฎีที่มีกิจกรรม Active Learning และในภาคปฏิบัติสอนด้วยวิธีการสอนแบบสาธิต โดยเมื่ออาจารย์สาธิตแล้วอาจารย์เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสาธิตนั้น ร่วมกับ เทคนิคการทำ Sketchnote


ตัวอย่างผลงานนักศึกษา

วิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (ภาคปฏิบัติ)



ตัวอย่างผลงานนักศึกษา

วิชาการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (ขั้นตอนการทำสื่อของเล่นจากผ้าขนหนู)



Tips สอนให้สนุก

1.       ทุกสัปดาห์อาจารย์อาจสุ่มตัวแทนออกมาให้นำเสนอ Sketchnote ให้เพื่อนๆในชั้นเรียนได้ชมเพื่อเป็นการทบทวน

เนื้อหาภาคปฏิบัติไปในตัว และเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน

2.       อาจารย์ต้องให้กำลังใจนักศึกษาในการวาดภาพและพยายามให้นักศึกษาเห็นว่าการวาดภาพเป็นสิ่งสนุกและได้

ประโยชน์มากมาย


การนำไปใช้

สำหรับการนำไปใช้ในรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า ได้ผลดี จากการพูดคุยกับนักศึกษา นักศึกษาสามารถจดจำขั้นตอนการสาธิตการสอนในภาคทฤษฎีได้ดีกว่าการจดบันทึกเพียงอย่างเดียว เพราะเห็นเป็นภาพที่ชัดเจน เข้าใจง่าย นักศึกษารู้สึกมีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำได้ใช้วิชาศิลปะ การออกแบบมาประยุกต์ใช้ จากการพูดคุยกับนักศึกษาเมื่อจบการศึกษาไปแล้วสามารถนำ sketchnote ที่จดบันทึกนำไปใช้ได้ดี เวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังจดจำได้เข้าใจง่าย เห็นเป็นภาพที่ชัดเจน 

ในการทำ Sketchnote ด้วยการเลย์เอ้าท์แบบ Path สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นที่มีลำดับขั้นตอนการสอน เช่น วิชาโภชนาการ (การประกอบอาหาร) วิชาศิลปะ วิชาการออกแบบ เป็นต้น 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(13)
เก็บไว้อ่าน
(9)