การเรียนการสอนออนไลน์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาวิธีการหนึ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เป็นการนำแนวคิด วิธีการ กระบวนการหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาและการเรียน การสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจ ในการเรียนด้วยนวัตกรรมเหล่านั้น และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย
ซึ่งโรงเรียนบ้านสันป่าสักได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์โดยใช้ Google Classroom และ Application อื่นๆ ซึ่งได้มีการประชุมคณะครูเพื่อหาแนวทางในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่เหมาะกับบริบทของนักเรียนและโรงเรียน จึงได้นำกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ตามแนวทางของสพฐ. มาขับเคลื่อนการการจัดการเรียนการสอนออนไลน์จนได้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เรื่อง “กระบวนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ 5 steps GOCQF" เมื่อได้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์นี้มาดำเนินการจัดการเรียนรู้พบว่าเป็นผลดีต่อนักเรียนและครู โดยนักเรียนมีทักษะในการเรียนรู้ออนไลน์ในระดับที่สูงขั้น นอกจากนี้ยังได้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ซึ่งมีขั้นตอนวิธีการสอนที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ด้วยตัวเองได้ ทำงานได้อย่างเป็นขั้นตอน อีกทั้งสร้างแรงจูงใจให้สำเร็จด้วยการเสริมแรงและติดตามประเมินผล การมีกลยุทธ์การเรียนรู้หรือกระบวนการขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนจะช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
กระบวนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ 5 steps GOCQF โรงเรียนบ้านสันป่าสัก สพป.เชียงใหม่ เขต 4 ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้
Step 1 G ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนทักทาย (Greeting)
เป็นขั้นตอนที่ครูจะทักทายนักเรียนผ่าน Application อาทิ Line หรือ Facebook เพื่อให้นักเรียนเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ออนไลน์ ให้นักเรียนทยอยเข้าชั้นเรียน
Step 2 O ขั้นสอนออนไลน์ให้ความรู้ (Online Learning) / มอบหมายภาระงาน (Online Assignment)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่นักเรียนจะได้รับความรู้โดยครูอาจจะมอบหมายภาระงานหรือสอนให้ความรู้แก่นักเรียนผ่าน Application ใดๆ ตามที่คุณครูและนักเรียนมีความพร้อม อาทิ Google classroom คุณครูอาจจะเตรียมคลิปการสอนให้นักเรียนดูค่ะ
Step 3 C ขั้นตรวจสอบผลการเรียนรู้ (Checking)
เป็นขั้นตอนที่จะตรวจสอบความรู้ว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนหรือไม่ ซึ่งครูอาจจะหมายงานหรือข้อสอบให้นักเรียนทำ จากนั้นครูตรวจสอบงานนักเรียนแล้วให้คะแนน
Step 4 Q ขั้นตอบข้อซักถามสะท้อนผลการเรียนรู้ (Q&A Meeting)
ในขั้นตอนนี้ครูจะเชิญนักเรียนเข้ามาประชุมออนไลน์ผ่าน Application อาทิ google meet สำหรับให้ครูและนักเรียนประชุมออนไลน์ร่วมกัน สอบถามปัญหาของนักเรียนและตอบข้อสงสัยในเนื้อหาการเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในครั้งต่อไป
Step 5 F ขั้นติดตามประเมินผล (Following Up)
ขั้นนี้เป็นการติดตามประเมินผลเพื่อให้สามารถนำผลการจัดการเรียนรู้ไปปรับปรุงและติดตามนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจบทเรียน โดยครูตรวจสอบรายชื่อนักเรียนที่ยังไม่ได้ทำงานส่งผ่าน Application google classroom แล้วติดตามนักเรียน อาทิ ผ่าน Application Line ซึ่งครูอาจจะเสริมแรงโดยการกล่าวชมเชยนักเรียนที่ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายครบ และสอบถามปัญหาของนักเรียนที่ทำมีปัญหาในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในการทำกิจกรรมให้นักเรียน
ตัวอย่างกิจกรรม
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย