inskru
gift-close

Vlookup สูตร(ไม่)​ลับ ผู้ช่วยครู

27
9
ภาพประกอบไอเดีย Vlookup สูตร(ไม่)​ลับ ผู้ช่วยครู

ข้อมูลเยอะแยะมากมาย แต่แค่ลองใช้สูตร vlookup คู่กับ รหัสนักเรียน เพียงเท่านี้ก็ช่วยเบาแรงครูไปได้อีกเยอะเลย

ก่อนหน้านี้ช่วงโควิดระบาดรอบแรกเคยได้ลองเขียนบทความเช็กชื่อสอนออนไลน์ผ่าน Google form พร้อมสรุปรายงานไว้แล้ว

แต่ก็เจอปัญหาจนได้ลองปรับปรุงแก้ไขนั่นนี่ สุดท้ายเลยได้มาเป็นสูตรที่ใช้ในบทความนี้ค่ะ [บทความเก่าปิดไปแล้วค่ะ]


มาตอนนี้ด้วยความที่สถานการณ์ตอนนี้ทำให้ตอนสอนออนไลน์ 100% แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานที่ครูต้องทำในแต่ละวันก็เหมือนจะมีมากมายยิ่งขึ้นกว่าการสอนปกติ

ทั้งเช็กชื่อ เก็บสติถิ ตรวจงาน รายงาน วุ่นวายไปหมด....

ดังนั้นตัวช่วยที่จะมาแนะนำวันนี้คืออออ


เจ้าสูตร VLOOKUP ค่ะ

โดยสูตรนี้จะมีประโยชน์กับการจัดการข้อมูลมหาศาลที่ได้มาผ่าน Google form

พอเข้ามาใน Google sheet แล้วถ้าเราใช้ VLOOKUP ดึงข้อมูลก็จะช่วยแบ่งข้อมูลได้เป็นระบบ

โดยที่ไม่ต้องสร้างฟอร์มใหม่แยกครั้งหรือแยกห้องให้ชวนสับสน แบบสิบห้องสิบฟอร์ม


เผื่อครูบางคนอาจจะยังไม่ทราบ

ว่าเราสามารถใช้สูตรนี้ดึงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลมาวิเคราะห์และสรุปเป็นสถิติได้เลย

จะแยกห้องหรือรวมทั้งวิชาก็ได้ แต่มันจะช่วยจัดระบบข้อมูลจำนวนมากในแต่ละวัน (และวิชา)

ให้เราทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น และเห็นข้อมูลสรุปเป็นสถิติต่าง ๆ เพื่อนำผลไปปรับปรุงพัฒนาต่อ

อย่างถ้านักเรียนกรอกข้อมูลใน google form

google sheets ที่ใส่สูตรไว้เรียบร้อยก็จะสรุปรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่ครูออกแบบไว้อัตโนมัติทันทีเลยยยย

(ประหยัดเวลาทำรายงาน ปริ้นปุ๊บ จบปิ๊ง!)



วันนี้เราเลยจะแนะนำจากที่ได้ใช้ลองคิด ลองผิดลองถูก

ลองเขียนสูตรแล้วนำไปใช้งานมาเรียบร้อยแล้ว

มาพอเป็นแนวทางให้คุณครูได้ลองไปประยุกต์ใช้ต่อนะคะ บอกได้ว่าสบายขึ้นจริง ๆ นะ!

แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการจะทราบข้อมูลรายบุคคลก็คือ "รหัสนักเรียน" นั่นเองค่ะ

โดยวันนี้จะมาแนะนำแนวทางประยุกต์ใช้สูตรทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่


  1. การใช้ VLOOKUP นับ/เช็กเวลาเรียนจากการส่งสะท้อนคิดในแต่ละคาบ
  2. การใช้ VLOOKUP สรุปคะแนนงานหรือแบบทดสอบรายบุคคล/รายห้อง
  3. การใช้ VLOOKUP แจ้งคะแนนเก็บนักเรียนรายบุคคล


แล้วสูตร VLOOKUP คืออะไร? ใช้อย่างไร?

มันคือการค้นหาค่าในแนวตั้งค่ะ จะไล่ดูลงมาตามค่า หากเจอก็จะแสดงผลคอลัมน์ทางขวา 2,3,4,.... ตามที่กำหนด

สูตรคือ =VLOOKUP(ค่าที่กำหนด,ช่วงข้อมูล,คอลัมน์ที่ต้องการให้แสดงข้อมูล,FALSE)

เช่น =VLOOKUP(A1,Check!A:C,2,FALSE) หมายถึง ค้นหาค่าที่ตรงกับเซลล์ A1 ในแผ่นงาน Check คอลัมน์ A-C จากนั้นแสดงผลค่าในคอลัมน์ที่ 2 (คอลัมน์ B) โดยต้องหาค่าที่ตรงกับคำที่กำหนดทั้งหมด (FALSE)


แล้วถ้าไม่พบค่านั้น เช่น ยังไม่ได้สอบ ไม่ได้กรอกข้อมูลมา?

ถ้าค้นหาข้อมูลไม่พบตามปัญหาข้างต้น สูตรจะแสดงผลเป็น #N/A ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ

ให้ใส่ =IFERROR(....สูตรVLOOKUP...... ,"ไม่พบข้อมูล")

หรือเปลี่ยนคำใน "...." หากไม่พบก็จะแสดงผลเป็นข้อความดังกล่าวค่ะ

วิธีการเขียนสูตรโดยละเอียดอาจจะค้นหาดูจากคลิป

หรือหลักสูตรการเขียนสูตร Excel ใน Youtube ก็ได้นะคะ ใช้ได้เหมือนกันเลย


ตัวอย่างคลิปสอน VLOOKUP แบบง่าย https://www.youtube.com/watch?v=xnt_Q0tOOAU

VLOOKUP พร้อมกันแบบหลายคอลัมน์ https://www.youtube.com/watch?v=C4qZXHgLXs8


ถ้าหากคุณครูพร้อมแล้วลองไปดูแนวทางที่เราได้ลองประยุกต์ใช้ดูกันเลยค่ะ



ใช้ VLOOKUP นับ/เช็กเวลาเรียน

จากการส่งบันทึกสะท้อนคิดตอบคำถามในแต่ละคาบ

ช่วงนี้ครูหลายคนคงได้สร้าง form สำหรับส่งสะท้อนคิดหรือตอบคำถามเหมือนกัน

เช่น พอจบคาบวันนี้ ให้ตอบคำถามตามนี้นะ


ถ้าเราออกแบบรายงานแผ่นงานใหม่โดยใช้ VLOOKUP มาประยุกต์นั้น

ก็จะสามารถค้นหาข้อมูลว่านักเรียนส่งหรือยัง ถ้าส่งแล้วส่งมาวันไหน

ส่งตามเวลาหรือย้อนหลังอย่างไรบ้าง


ตัวอย่างจากการเช็กเวลาเรียนด้านล่างค่ะ

เราใช้วิธีการสร้างฟอร์มสะท้อนคิดท้ายคาบ 1 ฟอร์ม/วิชา

ให้สูตรดึงข้อมูลจากฟอร์มเดียว คือให้นักเรียนเขียนสะท้อนคิดหลังจบคาบ สรุปความรู้ ปัญหาต่าง ๆ ที่พบ

แล้วมีช่องคำถามถามว่าเข้าเรียนคาบที่เท่าไร เช่น 1 2 3 4 .... มีตารางหัวข้อประกอบเพื่อให้วางแผนได้ไม่สับสน


เมื่อกดดูคำตอบในชีตก็ต้องมาแก้ไขใส่สูตรเพิ่ม 1 คอลัมน์

จากตัวอย่างคือสร้างคอลัมน์ D แล้วใส่สูตรเพื่อรวมข้อความในคอลัมน์

B (รหัสนักเรียน) กับ C (ครั้งที่ลงเวลาเรียน) เข้าด้วยกัน

แล้วก็ย้ายคอลัมน์ที่ประทับเวลาตอนส่ง (F) มาต่อท้ายคอลัมน์ D

เพื่อนำไปค้นหาต่อในสูตร VLOOKUP ในแผ่นงานอื่น ๆ ***ต้องย้ายมาต่อท้ายอยู่ทางขวาของค่าที่เราจะหาค่ะ



เมื่อสร้างแผ่นงานใหม่ตามห้อง ก็เตรียมมาเขียนสูตรก็ให้ VLOOKUP เพื่อดึงข้อมูลวันที่เรียนตามครั้งที่เรียน

ก็คือ ดูตามรหัสนักเรียนในช่อง B7 ลงครั้งที่ 1 หรือตามสูตรคือ B7&1 นั่นเอง

จากนั้นดึงค่าคอลัมน์วันที่เรียน (ใช้คอลัมน์ประทับเวลาวันที่กรอกฟอร์ม) มาใส่

หากนักเรียนยังไม่ได้เขียนสะท้อนคิดสรุป ก็จะหาไม่เจอแล้วขึ้นว่า "ไม่มีข้อมูล"


ในคอลัมน์ถัดไป ๆ ก็อาจจะประยุกต์ดัดแปลงเป็นดึงคำตอบของคำถามที่ถามไว้ใน Form

เช่น ปัญหา ระดับความเข้าใจ

ก็จะเห็นคำตอบของนักเรียนแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ (ในตัวอย่างนี้เราซ่อนคอลัมน์ไว้ค่ะ)


หากต้องการดูคำตอบของครั้งที่ 2 ที่เขียนมาก็เปลี่ยนสูตรให้เป็น

ดูตามรหัสนักเรียนในช่อง B7 ลงครั้งที่ 2 หรือตามสูตรคือ B7&2


**ข้อความสีม่วงในสูตรจะต่างไปตามคอลัมน์ของคุณครู**



ในคอลัมน์ F สามารถ ใส่สูตร IF หรือ IFS เพื่อดูค่าตามต้องการ

จากตัวอย่างที่ทำคืออยากรู้ว่านักเรียนเข้ามาเรียนตามเวลาหรือศึกษาเพิ่มเติมตามหลัง

โดยกำหนดวันที่ไว้เป็นตัวเทียบ จากนั้นจัดรูปแบบข้อความใส่สีเซลล์ตามเงื่อนไขเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน

(ถ้าใครไม่เข้ามาก็จะเห็นแดงเป็นแถบเลยทีเดียว)

อย่างในตัวอย่างคอลัมน์ G คาบที่ 1

ถ้าหากนักเรียนเขียนสรุปมาเรียบร้อยก็แสดงผลเป็นเครื่องหมาย ✓ ค่ะ

หากยังไม่เข้ามาก็จะเป็น ✕


ส่วนช่อง N ก็ใช้สูตร =COUNTIF นับจำนวนเครื่องหมาย ✓

= จำนวนคาบที่เข้าร่วมกิจกรรมและเขียนสะท้อนคิดเรียบร้อย


เมื่อได้ข้อมูลรายบุคคล (แบบแยกชีตแต่ละห้อง) ก็สามารถนำมาสรุปเป็นสติถิของแต่ละห้องได้เลย

ถ้าสูตรในห้องแรกนิ่งแล้ว ก็คัดลอกแผ่นงานแล้วเปลี่ยนเฉพาะ "รหัสนักเรียน" กับ "ชื่อ-สกุลนักเรียน"

สูตรก็จะดึงการตอบกลับตามรหัสนักเรียนที่เราระบุไว้ค่


เพียงเท่านี้ก็มีรายงานสรุปส่งโรงเรียนได้แล้ว จบไปอีกหนึ่งงาน!


ส่วนด้านล่างนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ประยุกต์ใช้ค่ะ

คือเราอยากเห็นภาพรวมการส่งงานทั้งหมด (แทนการตรวจและเช็กผ่าน Classroom)

เมื่อลองทำแล้วได้มาในรูปแบบประมาณนี้ค่ะ

อย่างในตัวอย่างก็จะเห็นปริมาณงานที่เรายังไม่ได้ตรวจ... แล้วก็นักเรียนที่ยังไม่ได้ทำงานส่งมาเลย



ส่วนในช่องสถานะก็จะต่างไปตามสูตร IFS ที่ใส่เงื่อนไขต่าง ๆ ค่ะ

เช่น ถ้าตรวจแล้วให้คะแนนแล้วก็ขึ้นสถานะ "ตรวจแล้ว"

แต่หากส่งแล้ว แต่ยังไม่มีคะแนน ก็ขึ้นสถานะ "รอตรวจ"


ซึ่งคะแนนที่ให้ก็จะถูกดึงไปรวมอยู่ในชีตเก็บคะแนน ปพ.ออนไลน์ทันที

(มีอธิบายต่อด้านล่าง)


ใช้ VLOOKUP สรุปคะแนนงานหรือแบบทดสอบรายบุคคล/รายห้อง

รูปแบบนี้ใช้เมื่อสร้างแบบทดสอบความรู้ แล้วอยากทราบว่านักเรียนแต่ละคนได้คะแนนเท่าไร

มีใครยังไม่ได้เข้ามาทำหรือไม่

ตัวอย่างการเช็กสรุปสถิติการทำแบบทดสอบ

เราสร้างฟอร์มแบบทดสอบ 1 ฟอร์ม/เนื้อหา (ทุกห้องทำรวมกัน)

(เพิ่งได้ไอเดียว่าลองสอบหลายครั้งได้แบบไม่ใส่เฉลย ก็จะลองใส่ครั้งที่ทำแบบทดสอบแล้วมาสรุปคะแนนแยกตามครั้ง

เพื่อดูพัฒนาการนักเรียนก็ได้ค่ะ)

อย่างที่เราทราบกันในสรุปของ Google form จะสรุปให้ทั้งภาพรวม

แถมพอดูคะแนนใน Sheet สรุปก็จะเรียงตามการกรอกฟอร์ม

ปนกันไปมา ไม่ตามเลขที่ บางทีไม่เรียงห้อง ดังนั้นเราเลยออกแบบมาเป็นแบบนี้ค่ะ

  1. สร้างแผ่นงานใหม่ว่า "ปกวิเคราะห์" เพื่อกำหนดเกณฑ์
  2. แล้วสร้างแผ่นงานย่อย ๆ แยกตามแต่ละห้อง เพื่อดูภาพรวมของห้องและดูคะแนนนักเรียนรายบุคคล

ว่าใครมีปัญหาตรงส่วนไหน อย่างไร รวมทั้งตรวจสอบว่ามีใครยังไม่ได้เข้ามาทำหรือเปล่า โดยไม่ต้องนั่งไล่หาจากข้อมูลตอบกลับของนักเรียนเป็นหลายร้อยคนในแผ่นงานเดียว




ต่อจากนั้นก็กำหนดค่าแต่ละห้องให้มีเลขที่ รหัสนักเรียน (ขาดไม่ได้) แล้วก็ชื่อนามสกุล

ทีนี้พอมาเขียนสูตรประยุกต์ใช้ก็จะได้แบบตัวอย่างในภาพด้านล่างเพื่อดึงคะแนนรายบุคคลในเซลล์ D4 ค่ะ

(สำหรับช่อง F ใส่สูตร IF เทียบกับข้อมูลที่เรากำหนดในแผ่นงานปกวิเคราะห์ได้เลย

จากนั้นก็จัดรูปแบบเงื่อนไขเซลล์ ผ่าน/ไม่ผ่าน ก็จะเห็นภาพคะแนนรายบุคคลตามตัวอย่างค่ะ)



อย่างที่บอกว่าได้ไอเดียจากการให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลายครั้ง (ไม่ใส่เฉลยนะ)

ก็เพิ่มช่องเลือกว่าทำแบบทดสอบครั้งที่เท่าไร

ในสูตรเราก็เขียนสูตรเป็น ค้นหาว่ารหัสนักเรียน B4 ทำครั้งที่ 1 ได้เท่าไร >>> B4&1

หรือทำครั้งที่ 2 ได้เท่าไร B4&2

เพียงเท่านี้ก็จะเห็นพัฒนาการในแต่ละครั้งของนักเรียนค่ะ

[เอาไว้ถ้าลองสร้างแล้วใช้แล้วจะมาอัปเดตให้ดูอีกครั้งค่ะ]


ส่วนถ้าต้องการเอาแบบทดสอบคนละชุดมาเปรียบเทียบในแผ่นงานเดียวกัน

ก็สามารถใช้สูตร IMPORTRANGE เพื่อดึงข้อมูลเข้ามาได้

=IMPORTRANGE("URLSheet","แผ่นงาน!ช่วงข้อมูล")

ตัวอย่าง

=IMPORTRANGE("docs.google.com/spreadsheets/d

1GXZHndvGHzRsEaIgQe_XXXXXXXXX","ห้อง2!D4:D55")


ถ้าใส่สูตรนี้ในระบบเก็บคะแนนที่จะกล่าวถึงต่อไป

ก็จะช่วยให้คุณครูไม่ต้องไปคัดลอกคะแนนข้ามแผ่นงานไปมาให้สับสนเลย

ข้อมูลจะอัปเดตทันทีที่คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเข้ามาค่ะ


สามารถประยุกต์ต่อคือสร้างกราฟคะแนนรายบุคคล

จะช่วยวิเคราะห์ให้พบปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วเป็นแนวทางในการพัฒนานักเรียนต่อไปค่ะ


เหมือนเดิมค่า ถ้าสูตรในห้องแรกนิ่งแล้ว ก็คัดลอกแผ่นงานแล้วเปลี่ยนเฉพาะ "รหัสนักเรียน" กับ "ชื่อ-สกุลนักเรียน"

สูตรก็จะดึงการตอบกลับตามรหัสนักเรียนที่เราระบุไว้ค่

เพียงเท่านี้ก็มีรายงานสรุปผลคะแนนแบบทดสอบแต่ละชุดไว้วิเคราะห์เรียบร้อย จบอีกหนึ่งงาน!


ใช้ VLOOKUP แจ้งคะแนนเก็บนักเรียนรายบุคคล

รูปแบบสุดท้ายอาจจะซับซ้อนนิดหน่อย...อันนี้เพิ่งคิดแล้วลองทำได้สด ๆ ร้อน ๆ คือไหน ๆ เราใช้ VLOOKUP พอได้

ทำไมไม่ลองให้นักเรียนค้นหาดูคะแนนตัวเองได้ด้วยล่ะ!

(ปัญหาคือถ้าให้มาบอกคะแนนทีละคน...ครูสอนห้าร้อยคน... บอกไม่ไหวจริง ๆ ค่ะ

คนคุยเยอะเกินนนนนน)


ก่อนอื่นของบอกก่อนว่าตั้งแต่เทอมก่อนเราได้ออกแบบ Google sheet เก็บคะแนน (เป็น ปพ. ออนไลน์)

ตรวจงานปุ๊บ กรอกคะแนน อัปเดตเข้าระบบ

เมื่อนักเรียนพิมพ์รหัสนักเรียนสอบถามคะแนนผ่าน Line Bot คะแนนและงานก็จะปรากฏได้ทันที

พร้อมบอกภาพรวม สรุปเกรด รวมทั้งโน้ตให้กำลังใจด้วย


หลักการคือเขียน Google Script + Dialogflow + Google Sheets



เด็กชอบมาก สะดวกมาก นักเรียนสามารถวางแผนการทำงานของตัวเองได้เลย

แถมครูไม่ต้องแจ้งคะแนนรายบุคคลด้วย

ในตัวไลน์บอทนี้เราก็สามารถประยุกต์ใส่ข้อมูลต่าง ๆ

รวมทั้งเก็บสะสมแต้มได้อีกด้วย สะดวกสุด ๆ


(สามารถลองเริ่มต้นศึกษาได้จาก Youtube ค่ะ..อันนี้มาประยุกต์ต่อเพิ่มนั่นนี่ ถ้าให้อธิบาย...ก็น่าจะยาวเกินไปค่ะ...)


แต่ถ้าแค่อยากเก็บคะแนนเป็นปพ.ออนไลน์ไว้ของตัวเองผ่าน Sheet แนะนำว่าน่าสนใจนะคะ

ข้อดีคือเปิดง่ายสะดวกแค่มีอินเทอร์เน็ต สร้างทางลัดไว้ เปิดเข้าง่ายมาก

ถ้าทำในไฟล์ Excel บางทีกว่าจะเปิด Excel ทำปพ.มามันไม่ทันใจ..


อีกทั้งถ้าเรามีคะแนนนักเรียนเก็บไว้ใน Sheet อื่น ๆ

พอใส่สูตร IMPORTRANGE ประยุกต์ให้ดึงคะแนนเข้ามาก็จะง่ายขึ้นอีกค่ะ

ประหยัดเวลาไม่ต้องดึงข้อมูลข้ามชีตไปมาด้วย

ป้องกันการผิดพลาดเวลากรอกคะแนน

ระบบก็จะอัปเดตคะแนนให้ทันทีที่อีกชีตนึงมีการแก้ไขคะแนน



...แต่! ปัญหาที่พบของการถามคะแนนผ่านไลน์บอทคือ

บางทีถามน้องแล้วไม่ตอบ... เอาแน่เอานอนไม่ได้ แล้วแต่อารมณ์.... (ส่วนน้อยที่พบ)

เพราะเกิดจากข้อมูลนักเรียนมีห้าหกร้อยกว่าคน....ปริมาณคะแนนมหาศาล!

จากที่สอบถามผู้เชี่ยวชาญก็คือระบบดึงข้อมูลมาแสดงผลไม่ทัน

พอหนักเข้าเลยไม่ทันใจวัยรุ่น เด็กก็งอแงว่าบางทีถามแล้วบอทไม่บอกคะแนน

ทีนี้จะให้ครูมาลองเขียน Web App ก็ยังเขียนไม่เป็น (...เป็นครูภาษาไทยค่ะ)

ยังไม่ได้ศึกษา + ไม่มีเวลาทำด้วย

ก็เลยลองสร้าง Sheet แบบให้นักเรียนมาพิมพ์รหัสค้นหาคะแนนเองแบบบ้าน ๆ เลย

ไม่มีเขียนโค้ดหรือใช้ Web App ใด ๆ ทั้งนั้น... T_T


หลักการนี้คือลองผสมกันเองล้วน ๆ เลยนะคะ (แบบนี้เหมาะสำหรับให้เด็กจำนวนไม่มากเข้ามาใช้)

หากคุณครูมีวิธีดีกว่านี้หรือทำ Web App ได้ แนะนำให้ทำนะคะ

[เหมือนเห็นคุณครูท่านอื่นลงไอเดียเรื่อง Web App แนะนำให้ลองทำตามดูเลยค่า]


ก่อนอื่นคือเราสร้างแผ่นงาน รวมคะแนน ใส่สูตร IMPORTRANGE

ดึงข้อมูลจาก ชีต ปพ.ออนไลน์ เข้ามารวมในนี้ทุกห้อง

แล้วก็สร้างฟอร์มให้นักเรียนตั้งรหัสผ่าน (ชื่อผู้ใช้คือรหัสนักเรียน)

ปลดล็อกรหัสโดยใช้ =CONCATENATE ใช้สูตรดึงเทียบว่าถ้ารหัสผู้ใช้ กับ รหัสผ่านเท่ากับที่ตั้งไว้

จะแสดงผลว่า "ผ่าน" แล้วคะแนนจะขึ้นมาตามวิชา


ตรงช่องชื่อคะแนนก็จะเปลี่ยนไปตามวิชาที่นักเรียนเลือกในตอนต้น

แล้เมื่อนักเรียนใส่รหัสผู้ใช้กับรหัสผ่านถูกต้องปุ๊บ คะแนนก็จะขึ้นแบบในภาพทันทีเลยค่ะ


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ VLOOKUP แบบในภาพ ดึงข้อมูลจากอีกชีตมาแสดงทันที


เมื่อเสร็จเรียบร้อย เราก็ล็อกไว้ให้เป็นแบบแก้ไขได้เฉพาะช่องเลือกวิชา แล้วก็ช่องกรอกชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่า


แต่ แบบนี้ทำไม่ยากมาก(มั้ง) แต่ข้อเสียของระบบนี้คือ

ตอนนี้ก็คือนักเรียนต้องลบรหัสผู้ใช้กับรหัสผ่านแบบ "อัตโนมือ"ค่ะ ยังไม่ได้ใส่โค้ดอะไรไว้เลย

แถมถ้าอาจจะมีผู้ใช้เข้ามาเจอตอนที่อีกคนกำลังดูคะแนนอยู่ก็ได้ มันก็จะไม่เป็นส่วนตัวเท่าไร

แล้วก็เข้าได้ทีละคน... 5555 หากจะให้ดูพร้อม ๆ กัน

ก็คัดลอกแผ่นงานนี้ไว้หลายแผ่น ไปเลือกเข้าช่องที่ว่างได้เลยค่ะ

(ทำเสร็จร้อน ๆ เมื่อวาน...วันนี้มีนักเรียนที่ดูคะแนนผ่านบอทไม่ได้เข้ามาได้ลองใช้แล้ว

ผลลัพธ์คือพอใช้งานแก้ขัดได้ค่ะ)


แต่แนะนำว่าถ้าคุณครูมีเวลาพอจะเรียนรู้ได้

ก็ควรทำแบบ Web App ดึงคะแนนจาก Sheet ดีกว่านะคะ

.... วิธีที่บอกนี้คือก็พอจะใช้งานได้บ้างเท่านั้นในมุมมองของเรา

อีกทั้งนักเรียนที่จะเข้ามาใช้ระบบนี้มีน้อยเลยให้ดูแบบนี้แก้ขัดไปก่อนค่ะ....


เผลอเขียนมายาวเหยียดไปหน่อย.... อธิบายละเอียดยิบเลยยย

ไม่รู้ว่าจะมีใครตาลายกันหรือเปล่านะ....

แต่โดยสรุปแล้วสูตร VLOOKUP นี้มีประโยชน์แล้วดีต่อใจครูมากจริง ๆ

ตอนแรกที่เราใช้ก็มีสับสนนิดหน่อย แต่พอเข้าใจหลักการก็คิดว่า

สูตรนี้ช่วยให้ทำงานแล้วสรุปข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้นเยอะเลยค่ะ

แล้วในอนาคตก็อาจจะช่วยทำให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ

มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อีกหลายแบบเลยด้วย


ถ้ามีแนวทางเสนอแนะเพิ่มเติมอย่างไร หรืออยากสอบถามสามารถคอมเม้นต์แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาได้ถึงบรรทัดนี้ค่า :D

เทคโนโลยีการสอนสอนออนไลน์การจัดการชั้นเรียนตัวช่วยครู

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

27
ได้แรงบันดาลใจ
9
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insครูเมษ์
เป็นครูภาษาไทยที่ชอบใช้สื่อในห้องเรียน

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ