icon
giftClose
profile

เทคนิคการใช้เกม และ Brain Gym ขณะเล่านิทาน

60977
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิคการใช้เกม และ Brain Gym ขณะเล่านิทาน

เล่านิทานไป เล่นเกมไป Brain Gym ไป ทำได้อย่างไร เทคนิคนี้ช่วยฝึกทักษะการฟัง ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้คำศัพท์และรูปประโยคใหม่ๆ ได้ใช้สมอง 2 ซีกอย่างสมดุล มีความสุข สนุกในการเรียนรู้ เรียบเรียงโดยอาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เทคนิคการใช้เกม และ Brain Gym ขณะเล่านิทาน


 เรียบเรียงโดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

 อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต

 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


เทคนิคการเล่านิทานโดยใช้เกม และ Brain Gym ขณะเล่านิทาน เป็นเทคนิคที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความแปลกใหม่ เพราะดูจากชื่อแล้ว ขณะเล่านิทาน เราไม่น่าที่จะเล่นเกมไปด้วย และ Brain Gym ไปด้วย ซึ่งน่าสนใจมากว่าทำได้อย่างไร สำหรับเทคนิคนี้ทำแล้วผู้เรียนได้ประโยชน์มากมายทั้งในการช่วยพัฒนาทักษะการฟังภาษา ช่วยให้สมองสองซีกซ้ายและขวาทำงานอย่างสมดุล ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์และรูปประโยคของภาษา เกิดความสนุกสนาน 


เทคนิคนี้ได้มาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมพล ดาวเรือง อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมฯ อาจารย์เห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทดลองนำเอาเทคนิคนี้มาทดลองใช้ดูกับนักศึกษาปฐมวัย เพื่อให้นักศึกษาได้นำเทคนิคดีๆนี้ไปใช้สอนเด็กปฐมวัย หรือเด็กอนุบาล ซึ่งได้ผลดี โดยอาจารย์ได้มีการนำมาดัดแปลงเทคนิคการสอนเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับเด็กปฐมวัย และได้เพิ่มเติมเทคนิคการเล่าให้สนุกมากยิ่งขึ้น อาจารย์เห็นว่าเทคนิคนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนครู อาจารย์ และนักศึกษาที่สนใจ สำหรับกิจกรรมนี้เหมาะกับกับเด็กระดับอนุบาล 3 เป็นต้นไป (เนื่องจากเป็นเกมที่มีรายละเอียดของกติกา) ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สำหรับระดับชั้นอื่นๆสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม


เจ้าของไอเดีย

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมพล ดาวเรือง อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมฯ 


ชื่อเกม

         เกมเล่านิทานสนุก กระตุกไอเดีย

อุปกรณ์

         หนังสือนิทาน 1 เล่ม มีเนื้อเรื่องสั้นๆ (ภาษาไทย หรืออังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนต้องการ) หรือนิทานที่แต่งขึ้นมาเองสั้นๆ


เทคนิค                                                                        

1. ให้เด็กนั่งบนพื้นเป็นครึ่งวงกลม

2. ครูนำเข้าสู่เกมด้วยเพลง กลอน หรือปริศนาคำทาย

3. เตรียมความพร้อมให้เด็ก หากยังไม่พร้อม ครูสามารถใช้เทคนิคการเก็บเด็ก หรือใช้เทคนิคที่เรียกว่า hocus –pocus ด้วยการกำมือสองข้างหลวมๆ ให้พอมีรู คล้ายแว่น แล้วยกขึ้นวางที่ตา แล้วมองลอดแว่นนั้น พร้อมกับพูดว่า “แว่นวิเศษ กำลังมองเด็กๆอยู่ คนไหนยังไม่มีสมาธินะ”

4. แนะนำชื่อเกม อธิบายกติกาว่า วันนี้ครูจะเล่านิทานเป็นภาษาไทยให้เด็กฟัง ถ้าเด็กได้ยินคำว่า “กล้วย” ให้ทุกคน ใช้มือขวาจับนิ้วของเพื่อที่ถัดไปทางด้านขวาเอาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันต้องพยายามยกนิ้วมือซ้ายหนีการจับโดยเพื่อนคนที่อยู่ถัดไปทางด้านซ้ายให้ได้ (ถ้าครั้งต่อไปเล่าเป็นภาษาอังกฤษ ให้เปลี่ยนคำที่ได้ยินเป็นภาษาอังกฤษ เช่นในครั้งนี้จะเปลี่ยนจากกล้วย เป็น “banana” ) คนที่ถูกจับจะถูกเชิญออกนอกวง

5. ให้เด็กทุกคนกางแขนขวาออกไปจนสุดแขนและแบมือไว้ กางแขนซ้ายไปจนสุดแขนและกำหมัด พร้อมกับหย่อนนิ้วชี้ของมือซ้ายจิ้มลงไปทางที่มือขวาของเพื่อนคนที่อยู่ถัดไปทางด้านซ้าย

6. ครูเริ่มเล่านิทาน (เกมนี้ขณะเล่าไม่ควรใช้วิธีเล่าโดยเปิดหนังสือ ควรใช้วิธีวางที่ตักแล้วเหลือบมอง หรือควรจำเนื้อหาให้ได้แล้วเล่า เพื่อจะได้ใช้สายตามองเด็กว่าปฏิบัติตามกติกาของเกมหรือไม่)

7.ผู้ที่ถูกจับได้ครูจะเชิญให้ออกนอกวง

8. ครูเล่านิทานต่อให้จบเรื่อง

9. เมื่อเล่านิทานจบ เชิญเด็กๆที่ออกนอกวงปฏิบัติตามคำสั่งที่ครูบอก เช่น ให้บินเหมือนนก ให้เดินไปหยิบแก้วน้ำมาให้ครู ให้นำสิ่งของที่มีสีแดงในห้องมาให้ครู เป็นต้น

10. ครูและเด็กร่วมกันสรุปเนื้อเรื่องจากในนิทาน


Tips การเล่านิทานให้สนุก

1. ครูสามารถใช้นิทานได้หลากหลายภาษา ควรสลับสับเปลี่ยนเล่าครั้งละ 1 ภาษา

2. ในการเล่าแต่ละครั้งให้ครูเปลี่ยนคำศัพท์ที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ หรือสิ่งที่ครูต้องการให้เรียนรู้ในขณะนั้น เช่น สำหรับเด็กประถม หากกำลังเรียนเรื่องคำกริยา คำบุพบท ก็สามารถนำมาใช้ได้

3. ผู้ที่ถูกจับได้ ครูไม่ควรให้เด็กปฏิบัติตามคำสั่งที่ดูเหมือนการทำโทษ เช่น ให้เต้นท่าเป็ด ให้กระโดดตบมือ เป็นต้น แต่ควรเป็นคำสั่งในเชิงบอกเล่า เช่น ให้เด็กเดินไปหยิบกระเป๋าสีแดงให้ครู ให้เด็กเอาแก้วน้ำบนโต๊ะมาให้ครู เป็นต้น

** 4. สำหรับการนำมาใช้กับเด็กปฐมวัย นิทานที่นำมาเล่าควรเลือกนิทานสั้นๆ หรือแต่งขึ้นเองสั้นๆ เนื่องจากขณะที่เด็กกางแขนขวาออกไปจนสุดแขนและแบมือไว้ กางแขนซ้ายไปจนสุดแขนและกำหมัด พร้อมกับหย่อนนิ้วชี้ของมือซ้ายจิ้มลงไปทางที่มือขวาของเพื่อนคนที่อยู่ถัดไปทางด้านซ้าย หากเป็นเด็กปฐมวัยจะมีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน อาจนำแขนลงก่อนเกมจบ ทำให้เกมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้


หมายเหตุ : สำหรับคุณครูที่ไม่มีสื่ออุปกรณ์ใดๆ การเล่าปากเปล่าและเล่นเกมนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเล่นใดๆเลย ครูเองก็ไม่ต้องจัดหาสื่อ และที่สำคัญมีประโยชน์มากสำหรับเด็ก

                 

การนำไปใช้

      นำเอาเทคนิคนี้มาทดลองใช้กับนักศึกษาปฐมวัยในรายวิชาการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นักศึกษาเกิดความสนุกสนานในการเรียนมากยิ่งขึ้น และสามารถนำเทคนิคดีๆนี้ไปใช้สอนเด็กปฐมวัย หรือเด็กอนุบาล

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(10)
เก็บไว้อ่าน
(12)