icon
giftClose
profile

สู่จักรวาล....อันไกลโพ้น

15761
ภาพประกอบไอเดีย สู่จักรวาล....อันไกลโพ้น

----- ฉันจะพาเธอลอย ล่องไปในอวกาศ ----- (เมื่อครูฟิสิกส์ต้องมาสอนดาราศาสตร์) ในสถานการณ์ที่ต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แต่ ๆ ๆ อย่าได้ไปกังวล เพราะทุกวันนี้เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้แต่เดินทางออกไปเรียนรู้นอกโลก เราก็ทำได้ ^^

กิจกรรมการเรียนรู้ในวันนี้ว่าด้วยเรื่อง “ดาวฤกษ์และสมบัติของดาวฤกษ์” แม้จะอยู่ในสถานการณ์ของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ก็อย่าได้ทำให้ความสนุกมันหายไป (สอนด้วย Google Meet)


ช่วงที่ 1 : ดาวแต่ละดวง....แตกต่างกันอย่างไร ?

         วันนี้เปิดคอร์สสอนจากนอกโลก (เปลี่ยนภาพพื้นหลังให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรียนไปได้เลย).... พานักเรียนท่องจักรวาลอันไกลโพ้นไปเยือนดาวต่าง ๆ ..... ไปดูว่าสีและอุณหภูมิพื้นผิวดาวเป็นอย่างไร  เริ่มต้นคาบเรียนด้วยการพูดถึงการ์ตูนที่นักเรียนหลาย ๆ คนรู้จักนั่นก็คือ ดราก้อนบอล (Dragon Ball) พร้อมเปิดรูปภาพและวิดีโอประกอบ  หากนักเรียนคนใดที่เป็นแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนเรื่องนี้จะตอบได้ทันทีว่า ดาวที่ซุนโกคูหรือโงกุนอยู่นั้น คือดาวอะไร ดาวดวงนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ในเอกภพนี้ อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ในหัวข้อของการเรียนในวันนี้ (นักเรียนต่างให้ความสนใจร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่นักเรียนมีประสบการณ์ร่วมและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จึงทำให้บรรยกาศของการเรียนออนไลน์เป็นไปอย่างสนุกสนาน) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวคุณครูสามารถนำไปปรับใช้กับหัวข้ออื่น ๆ ของวิชาดาราศาสตร์ได้อีกด้วย

ในส่วนของการให้ความรู้เรื่องสมบัติของดาวฤกษ์ ครูนำนักเรียนทั้งห้องเรียนท่องเอกภพโดยการให้นักเรียนสวมบทบาทนักบินอวกาศเพื่อไปศึกษาว่าดาวฤกษ์แต่ละดวงมีสมบัติเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งค่าความสว่างสี อุณหภูมิพื้นผิวและชนิดสเปกตรัมของดาว การท่องเอกภพในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมผ่านโปรแกรมดูดาว ที่มาจาก https://stellarium-web.org/ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นสภาพจริงของดาว ความสว่าง สีและชนิดสเปกตรัม พร้อมทั้งตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนเป็นระยะ ๆ กลุ่มดาวแรกที่พาไปเยือนคือกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ถามนักเรียนว่าสีของดาวในแต่ละดวงของกลุ่มดาวนายพรานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร


ให้นักเรียนสังเกตและบันทึกค่า Spectral Type และ Magnitude ของดาวฤกษ์แต่ละดวงในกลุ่มดาวนายพราน เช่น 

  • ดาวไรเจล (Rigel) มีค่า Spectral Type = B , Magnitude = 0.19
  • ดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) มีค่า Spectral Type = M , Magnitude = 0.50


กิจกรรมข้างต้นจะนำไปสู่การอธิบายความรู้เรื่อง ความสว่าง สี อุณหภูมิพื้นผิวและชนิดสเปกตรัมของดาว นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ว่าระหว่างดาวไรเจลกับดาวเบเทลจุส ดาวดวงใดมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่า มีอายุมากกว่า หรือดาวดวงใดมีความสว่าง (Magnitude) มากกว่า ซึ่งจากการท่องจักรวาลด้วยโปรแกรมดูดาวนี้นักเรียนสามารถตอบได้ทันทีว่าดาวไรเจลมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่าดาวเบเทลจุส และมีอายุน้อยกว่าดาวเบเทลจุส เมื่อเทียบค่าความสว่างแล้วก็พบว่าดาวไรเจลมีความสว่างมากกว่าดาวเบเทลจุส  


ครูผู้สอนสามารถตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่จากการใช้คำถาม โดยยกตัวอย่างของกลุ่มดาวอื่น ๆ เช่น ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาววัว (Taurus)

ตัวอย่างคำถาม

  • ระหว่างดาว Zeta Tauri กับดาว Ain ดาวดวงไหนมีอายุมากกว่า
  • ระหว่างดาว Zeta Tauri กับดาว Ain ดาวดวงไหนมีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำกว่า
  • ระหว่างดาว Zeta Tauri กับดาว Ain ดาวดวงไหนมีความสว่างมากกว่า


ช่วงที่ 2 : แฟนพันธุ์แท้เอกภพ

         หลังจากที่นักเรียนได้เรียนรู้เรื่อง “ดาวฤกษ์และสมบัติของดาวฤกษ์” ไปแล้ว ครูผู้สอนก็จะต้องตรวจสอบว่าจากการเรียนในครั้งนี้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แล้วหรือยัง ยังมีประเด็นไหนบ้างที่ไม่รู้หรือเกิดความคลาดเคลื่อน และเพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความกังวลว่าตนเองกำลังถูกทดสอบ จึงได้ปรับรูปแบบการทดสอบมาเป็นกิจกรรมเกมส์ตอบคำถามใช้ชื่อกิจกรรมว่า “แฟนพันธุ์แท้เอกภพ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งข้อคำถามจะเน้นไปที่การถามเรื่องดาวฤกษ์และสมบัติของดาวฤกษ์ โดยมีกติกาการแข่งขัน คือ

1. แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม (คัดเลือกตามโชคชะตาราศี)

2. แต่ละข้อคัดตัวแทนทีมออกมา 1 คน เพื่อต่อสู้

3. ทีมใดกดพูดก่อนได้สิทธิ์ตอบคำถาม หากตอบผิดอีกฝ่ายจะได้สิทธิ์ตอบในทันที

4. ตอบถูกในครั้งแรกได้คะแนน 1 คะแนน แต่หากอีกฝ่ายได้สิทธิ์ตอบ คะแนนข้อนั้นจะลดลงเหลือ 0.5 คะแนน

5. ห้ามส่งผู้เล่นซ้ำจนกว่าจะขึ้นรอบใหม่



กิจกรรมทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของการเรียนออนไลน์ แม้รูปแบบและสถานที่ของการเรียนรู้จะเปลี่ยนไป แต่สาระความรู้และความสนุกสนานยังคงมีได้เหมือนเดิม ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนครู นักเรียนและผู้ปกครองทุกท่านในการเรียนออนไลน์ ^^


สะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม

Ø การเรียนเรื่องดาวฤกษ์ หากผู้เรียนได้เห็นดาวฤกษ์จริง การพานักเรียนท่องเที่ยวในอวกาศเพื่อไปรู้จักกับดาวต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความตื่นเต้น สนุกในการเรียนและเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องราวใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

Ø การออกแบบกิจกรรมที่เร้าความสนใจนักเรียน การใช้เกมส์มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้หรือทำแบบฝึกหัดจะทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่ากำลังถูกตรวจสอบและจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ไร้ความกังวล เรียนรู้และทำกิจกรรมอย่างมีความสุข สามารถแสดงศักยภาพแท้จริงภายในตัวออกมาได้เต็มที่

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)