icon
giftClose
profile

เพลงนี้มีอุทาน!

698355
ภาพประกอบไอเดีย เพลงนี้มีอุทาน!

เชื่อว่าคุณครูภาษาไทยทุกคนต้องผ่านการสอนเรื่องชนิดของคำมากันบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินไปกับการเรียน วันนี้จึงอยากจะแบ่งปันกิจกรรมเกี่ยวกับคำอุทานที่เน้นให้นักเรียนพิจารณาคำเหล่านั้นเอง ซึ่งจะนำไปสอนแบบ Online ก็ได้ Onsite ก็ดี

กิจกรรม เพลงนี้มีอุทาน! ที่ผมใช้สอนเป็นการสอนให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 รูปแบบ Online มีขั้นตอน ดังนี้


๑. นักเรียนฟังเพลง ๕ เพลง ได้แก่ หัวใจเดาะ โอ๊ะ โอ๊ะ โอ๊ะสุดท้ายคืออ้ายเจ็บขอจองในใจ และลงใจ (ตัดเพลงเฉพาะช่วงที่มีคำอุทานคำว่า "โอ๊ย!")



๒. นักเรียนตั้งคำถามจากเพลงที่ฟัง โดยพิมพ์คำถามลงในช่องสนทนาหรือเปิดไมค์ก็ได้


๓. ครูเลือกอ่านคำถามที่ใกล้เคียงกับเรื่องที่จะเรียน


๔. สุ่มนักเรียนตอบคำถาม ดังนี้

๑. ทั้ง ๕ เพลง มีการใช้คำใดที่เหมือนกัน (คำว่า “โอ๊ย!”)

๒. ทำไมในเพลงต้องใช้คำว่า “โอ๊ย!” (แสดงอารมณ์หรืออาการเจ็บปวด)

๓. ถ้ารู้สึกอย่างอื่น จะใช้คำใด เช่น รู้สึกดีใจ สงสาร ตกใจ ฯลฯ (เย่!, โถ, เฮ้ย!)

๔. คำที่พูดออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกต่าง ๆ เรียกว่าคำอะไร (คำอุทาน)

๕. “คำอุทานคืออะไร” (คำที่เปล่งเพื่อแสดงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ มักอยู่หน้า ประโยค และมีเครื่องหมาย !อัศเจรีย์ตามหลัง อาจตอบไม่ครบถ้วนได้)


๕. แบ่งนักเรียนออกเป็น ๑๐ คู่โดยการสุ่มเลขที่จากเว็บไซต์ random.thaiware.com (หรือใครจะแบ่งกลุ่มละเท่าไหร่ตามความเหมาะสมเลยครับ)



๖. นักเรียนแต่ละคู่ร่วมกันพิจารณาคำอุทานที่ปรากฏในเพลงที่กำหนดให้ว่าใช้คำอุทานใดและแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกใด เพลงมี ๑๐ เพลง ดังนี้ครับ

๑. เพลงรำวงปีใหม่ - ไชโย! - แสดงความดีใจหรืออำนวยพร

๒. เพลงโธ่เอย! - โธ่เอย! - แสดงความสงสารหรือรำคาญใจ

๓. เพลงคิดถึงจังเลย - โถ! - แสดงความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจ

๔. เพลงโอ๊ยโอ๊ย - โอ๊ย! - แสดงความรู้สึกเจ็บปวด หรือรู้สึกว่ามากยิ่ง

๕. เพลงเผลอ - เอ๊ะ! - แสดงความฉงน ไม่เข้าใจ หรือไม่พอใจ

๖. เพลงอ้าว - อ้าวเฮ้ย! - คำที่เปล่งออกมาเมื่อรู้สึกว่าไม่ตรงกับที่มุ่งหมายคาดไว้

๗. เพลงโอ้โฮบางกอก - โอ้โฮ! - แสดงความตกใจหรือประหลาดใจ

๘. เพลงจดหมายผิดซอง - ต๊ายตาย! - แสดงความตกใจหรือประหลาดใจ

๙. เพลงเฮ้อ - เฮ้อ! - แสดงความกังวลใจ เบื่อหน่ายหรือไม่ถูกใจ

๑๐. เพลงดึงดัน - โอ้! - ใช้ในความรำพึง พรรณนา วิงวอน หรือปลอบ 



๗. นักเรียนร่วมกันพิจารณาคำอุทานที่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกจากทั้ง๑๐ เพลง ว่ามี ลักษณะการเขียนอย่างไร (มีเครื่องหมาย! อัศเจรีย์ตามหลัง) จากนั้นครูเสริมความรู้ เกี่ยวกับคำอุทานเสริมบท


๘. นักเรียนทำกิจกรรมจับคู่คำอุทานใน wordwall.net/th/resource/9394699



๙. นักเรียนแต่งประโยคที่ประกอบด้วยคำอุทาน


หรือใครจะปรับกิจกรรมให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของนักเรียนแต่ละโรงเรียนก็ได้เลยครับ ทั้งนี้ใครสนใจกิจกรรมนี้และอยากได้ PowerPoint สามารถขอได้นะครับไฟล์อาจจะใหญ่เกินไปจึงไม่สามารถแนบไฟล์มาได้ครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(44)
เก็บไว้อ่าน
(20)