ครูหลายท่านอาจจะเคยพบปัญหาว่าพอเราสอนออนไลน์ทีไร
นักเรียนในชั้นทั้งปิดกล้อง ปิดไมค์ เงียบกริบเหมือนจะล่องหนหายไปทันที....
อีกทั้งพอตั้งคำถามไป...กว่าจะได้คำตอบก็เงียบไปหลายนาที
ดังนั้นวันนี้เรามีตัวช่วยมานำเสนอคุณครูทุกท่าน ก็คือออออ ~~
จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเพิ่มแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจและสนุกกับการตอบคำถามในชั้นเรียน
พร้อมทั้งสรุปวิเคราะห์เป็นรายบุคลคลว่าแต่ละคาบนั้นมีใครตอบคำถามข้อใดบ้าง และใครเข้าเรียนบ้าง
พอได้ลองใช้แล้วจากที่ช่องแช็ตเงียบเป็นป่าช้า แต่พอใช้เทคนิค CF ถาม-ตอบเข้ามา
ช่องแช็ตนี่แทบระเบิดเลยทีเดียว....
ก่อนหน้านี้ที่ครูเมษ์สอนสดผ่าน Google Meet ซึ่งนักเรียนสามารถเข้าร่วมชั้นได้ประมาณ 90%
(นักเรียนที่ติดธุระเข้าดูไม่ได้สามารถศึกษาด้วยตนเองจากคลิปย้อนหลังได้)
เนื้อหาเป็นการวิเคราะห์วรรณคดีและบทอ่าน ตีความ แปลความ ในวิชาภาษาไทย
ลองคิดดูแล้วเนื้อหาที่เป็นบทอ่านมีพอสมควร ยังไม่เหมาะจะใช้เว็บแอปพลิเคชันอย่าง Quizizz Kahoot หรือ Mentimeter
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลองใช้วิธีให้ยกมือแล้วเปิดไมค์ตอบเพื่อกระตุ้นนักเรียนอย่างเดียว
แต่ปัญหาที่พบในชั้นเรียนออนไลน์ที่ได้จากการสังเกตและลองพูดคุยสอบถามกับนักเรียนพบว่า
ส่วนปัญหาของครูก็ได้มาจากโจทย์ที่ว่า "จะทำอย่างไรให้รู้ว่านักเรียนแต่ละคนที่เข้ามาเรียนนั้นได้เรียนรู้แล้วหรือเข้าใจแล้ว"
อีกทั้งอยากจะให้นักเรียนกล้าพูดคุยโดยการ Check in สนุก ๆ ก่อนเริ่มคาบและ Check out ทบทวนความรู้ก่อนจบคาบ
แต่ถ้าให้นักเรียนพิมพ์ตอบมาเฉย ๆ ให้มานั่งไล่เช็กเก็บข้อมูลรายบุคคลก็ไม่ไหวเหมือนกัน
ที่สำคัญคือไหนจะต้องทำรายงานสรุปเช็กการเข้าเรียนแต่ละคาบอีก ....
ก่อนหน้านี้ได้ลองพยายามหา Add on ของ Google ที่จะมาตอบโจทย์เรื่องการตอบคำถาม
แต่ก็ยังไม่พบ ของ Meet เองก็ยังใช้ไม่ได้
ส่วนตอนที่ได้ลองใช้ Add on Meet Attendance เพื่อเช็กการเข้าเรียนแล้ว
แต่เราคิดว่าบางทีระบบมันเช็กนักเรียนได้ไม่ 100%
อีกทั้งยังอยากได้ระบบที่ช่วยประมวลผลสรุปการเข้าเรียนมาพร้อมกันทั้งหมด ไม่ต้องไล่เช็กอีกครั้งด้วย
ดังนั้นนนน ขาช็อปประจำแบบเราจึงปิ๊งไอเดียระบบ CF คำตอบนี้ขึ้นมา 5555
ทำไมไม่มีระบบดูดข้อความมาวิเคราะห์บ้างล่ะ! แบบว่ารู้เลยว่าคนนี้ตอบข้อนี้ ๆ นะ
จะได้เป็นการช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดข้างต้นค่ะ รวบมาแก้ทีเดียวเลย!!!
[แต่ที่ทำนั้นไม่ใช่ระบบดึงข้อมูลอัตโนมัติได้ทันทีแบบ facebook live นะคะ
ต้องคัดลอกข้อความมาใส่โปรแกรม Excel ให้วิเคราะห์อีกทีแบบอัตโนมือ]
แต่หลังจากลองใช้พร้อมปรับแก้ไขจนคิดว่าสมบูรณ์แล้ว แล้วก็ใช้งานได้ค่อนข้างดี
ก็สรุปได้เป็นวิธีที่จะมาแนะนำตามนี้ค่ะ
ช่วงอธิบายขั้นตอนการพิมพ์คำตอบ [ฉบับอัปเดตใหม่โดยดึงจากเลขที่ ฟอร์มเดิมจะเป็นแบบดึงจากรหัสนักเรียน และไม่ใส่ N หน้าข้อคำถาม]
ช่วง Check in ต้นคาบเรียน เมื่อเข้าห้องมาแล้วให้พิมพ์เป็น
>>>>>>> เลขที่/IN/ประโยค Check in เก๋ ๆ หรือคำถามชวนคิดนำเข้าสู่บทเรียน (แล้วแต่ครูกำหนด)
ช่วงตอบคำถาม ให้พิมพ์เป็น
>>>>>>> เลขที่/Nเลขข้อคำถาม/คำตอบ เช่น 1/n1/คำตอบ... หากพิมพ์ข้ออื่น จะเป็น 1/n2/คำตอบ
ช่วงท้ายคาบ Check out ให้นักเรียนบอกความรู้สึกหรือสิ่งที่ยังสงสัย (หรือตามที่ครูกำหนด) ให้พิมพ์เป็น
>>>>>>> เลขที่/OUT/สะท้อนคิดสรุปบทเรียน
**ส่วนถ้าใครอยากจะคุยเล่นหยอกล้อธรรมดา
ก็ให้พิมพ์มาโดยไม่ต้องใส่รหัสนักเรียนมาค่ะ (จะได้ไม่เก็บมาวิเคราะห์ในระบบ)
ตัวอย่างช่วง Check IN [จะนำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์สรุปเวลาเรียน]
ช่วงทำกิจกรรมพูดคุยระหว่างการเรียนการสอน [จะนำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์สรุปเวลาเรียน ถ้าไม่ได้ Check in แต่ตอบคำถามก็ลงเวลาว่า "มา"]
โดยที่ส่วนตัวเราทำนั้นจะพิมพ์คำถามไว้ใน PowerPoint ทำตัวจับเวลานับถอยหลัง และมีเสียงกริ่งดังเมื่อหมดเวลา
ตัวอย่างช่วง Check Out [จะนำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์สรุปเวลาเรียน กรณีนักเรียนบางคนมาไม่ทันและไม่ได้เช็กอิน]
ระหว่างให้เวลานักเรียนพิมพ์ตอบก็จะสร้างบรรยากาศในห้องโดยการเปิดเพลงรอ
นักเรียนก็จะตื่นตัวและสนุกมากขึ้น
ทีนี้ ปัญหาต่อมาคือถ้านักเรียนลอกคำตอบคนข้างบนล่ะ....
เราจะพยายามสร้างความมั่นใจ ให้เชื่อมั่นในตัวเอง บางทีคำตอบเพื่อนก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกเสมอไป
อีกทั้งยังพยายามให้นักเรียนได้กล้าแสดงความคิดเห็น
นอกจากนั้นก็จะมีการเพิ่มกติกาให้นักเรียนตอบคำถามโดยกำหนดว่า
"ห้ามพิมพ์ประโยคเหมือนกับคนก่อนหน้า ความหมายเดียวกันได้แต่คำและประโยคห้ามซ้ำ"
นักเรียนก็จะสร้างสรรค์เรียงเรียงประโยคหรือคำใหม่ ๆ ขึ้นมากันอย่างสนุกสนาน เฮฮากันไป เอาเป็นว่าเข้าใจตรงกันเนอะ
บางครั้งอาจจะมีนักเรียนที่พิมพ์ช้าไม่ทันหรือชอบที่จะเปิดไมค์ตอบคำถามมากกว่า
ครูก็จะให้เวลานักเรียนคนนั้นกดปุ่มยกมือ
และอธิบายสรุปตามความเข้าใจหรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมค่ะ
หลังจากที่ทดลองใช้มาตั้งแต่ช่วงโควิด 2019 รอบแรก ๆ
พบว่านักเรียนส่วนมากกล้าตอบคำถาม กระตือรือร้นและสนุกกับการเรียนมากขึ้นค่ะ
แถมยังเข้าเรียนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
จากที่แต่ก่อนนี้หลายคนไม่ชอบอ่านเนื้อหาวรรณคดีด้วยตัวเอง
ก็กลายเป็นว่าจะอ่านศึกษามาก่อนเพื่อมาแลกเปลี่ยนและตอบคำถามในชั้นเรียนออนไลน์
หรือมาคุยแลกเปลี่ยนกับครูและเพื่อนในห้องมากขึ้น
ซึ่งโดยส่วนตัวก็รู้สึกว่าบรรยากาศในชั้นเรียนออนไลน์นี้ดีกว่าช่วงแรก
ที่ยังไม่ค่อยมีใครกล้าตอบครูเลย.... ทำให้ชั้นเรียนมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องสลับไปใช้แอปพลิเคชันอื่นบ่อย ๆ
ตอนท้ายคาบมีนักเรียนมาบอกว่าลุ้นเหมือนกับกำลัง CF เสื้อผ้าเลยทีเดียว
แต่ระบบนี้จะเก็บทุกคำตอบ ดังนั้นหากใครลองตอบมาจะตอบผิดตอบถูกระบบก็จะ F ได้ทุกคนเลยค่ะ
แต่ว่าปัญหาที่พบตอนนี้ก็คือ
1. นักเรียนสับสน หาเครื่องหมาย "/" ไม่เจอ... ต้องย้ำให้ชัดเจนว่า / เท่านั้นนะคะ บางคนพิมพ์ \ ระบบก็จะแยกไม่ได้ค่ะ
(เพราะไฟล์วิเคราะห์ในโปรแกรม Excel เขียนให้แยกข้อความจากเครื่องหมายนี้ค่ะ อาจจะแก้โดยครูเข้าไปเปลี่ยนเครื่องหมาย
ตอนท้ายในโปรแกรม Excel แทน ทางที่ดีบอกนักเรียนให้ชัดเจนดีกว่าค่ะ)
2. บางคนเผลอพิมพ์เลขที่ผิด เป็นของเพื่อน
วิธีแก้...ต้องบอกให้พิมพ์ใหม่ค่ะ ไม่อย่างนั้นระบบจะไม่พบว่าเป็นคำตอบของนักเรียน หรือครูต้องบึนทึกไว้ไปแก้ไขในหน้ารวมคำตอบก่อนวิเคราะห์
3. บางคนตื่นเต้นจัด รีบมากกลัวหมดเวลาช่วงตอบคำถาม เลยลืมเปลี่ยนภาษา....
วิธีแก้ ต้องบอกให้ระวังดี ๆ เพราะระบบจะเก็บเฉพาะข้อมูลที่ส่งมาครั้งแรกของแต่ละข้อเท่านั้นค่ะ
4. บางคนมีถึงขนาดที่ว่าไม่ได้พิมพ์ตอบมาเลยสักข้อความเดียว....
แต่ก็เข้ามาฟังนะ.... แก้ปัญหาโดยครูต้องตามเช็กเวลาเพิ่มให้เอง (จะขาดคะแนนส่วนการปฏิสัมพันธ์)
แต่ถ้าให้ลงระบบอัตโนมัติต้องย้ำให้นักเรียนพิมพ์ข้อความส่งมาในระบบค่ะ
เมื่อจบคาบสอนแต่ละห้อง
สำคัญมากคือคุณครูต้องบันทึกประวัติการแช็ตตอบข้อความทั้งหมด
คัดลอกมาใส่ใน Excel ระบบวิเคราะห์เพื่อนำไปกรองข้อมูลที่เป็นคำตอบและวิเคราะห์ผลต่อไป (ในไฟล์ที่แนบไว้)
**ข้อควรระวัง ข้อมูลที่คัดลอกมาต้องอยู่ในรูปแบบ 1 แถว/ข้อความ
ตามตัวอย่างในภาพ ถ้าคัดลอกข้อความทั้งหมดใส่ในเซลล์เดียวจะวิเคราะห์ไม่ได้ค่ะ
ช่วงวิเคราะห์คำตอบ
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณครูอยากลองนำเทคนิคและระบบนี้ไปใช้
ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการสอนออนไลน์ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
(ถ้าทดลองคัดลอกข้อความมาในแล้วลงในเซลล์แล้วได้ 1 ข้อความ/แถวเหมือนข้อความในภาพด้านบนได้ก็สามารถวิเคราะห์ได้ค่ะ
และข้อความที่เป็นส่วนคำตอบต้องเริ่มต้นด้วยรหัสนักเรียนเท่านั้นนะคะ)
3. ทำตามคำอธิบายในไฟล์ ถ้าให้อธิบายแบบย่อ ๆ ก็คือต้อง
ถ้าแถวข้อความทั้งหมด เกิน 1000 ข้อความ ให้กรองข้อความให้เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นคำตอบ
แล้วคัดลอกมาวางในแผ่นงาน "ANS" และใส่ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ชื่อวิชา รหัส ห้อง
ส่วน ในแผ่นงาน "NAME" ให้ใส่เลขที่ รหัสนักเรียน ชื่อ-นามสกุลนักเรียน ให้ครบถ้วน
เพื่อให้ระบบรู้จักและสามารถสรุปข้อมูลรายบุคคลได้
***อัปเดตเพิ่ม ถ้าคุณครูอยากจะคัดลอกข้อความในแช็ตแบบดิบ ๆ ไม่กรองก็วางในแผ่นงาน ANS เลยก็ได้เหมือนกันค่ะ แต่แถวที่มีต้องไม่เกิน 1000 แถว
(ข้อมูลจะมีทั้งชื่อ ID วันที่แล้วก็ข้อความต่าง ๆ แต่ที่ทำตัวกรองไว้เพราะบางครั้งเด็กคุยเยอะมาก ๆ (เรื่องอื่น ๆ ด้วย 5555)
พอรวมข้อมูลชื่อผู้พิมพ์และเวลาในระบบ มันจะเกิน 1000 ข้อความค่ะ จึงต้องกรองเอาแต่คำตอบ ลบชื่อและเวลาที่ตอบออก)
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างหน้าตาแผ่นงานสำหรับใส่คำตอบ และวิธีการวิเคราะห์
(หน้าตาน้องอาจจะไม่น่ารักแต่ไม่ต้องกังวลนะคะ ถ้าเข้าใจแล้วไม่ยากเลยค่ะ)
**ต้องกรองคำตอบ ในกรณีที่ข้อความที่พิมพ์ทั้งหมดเกิน 1000 บรรทัด เพราะถ้าเกินกว่านั้นระบบวิเคราะห์ไม่ได้ค่ะ
ถ้าคำตอบน้อยสามารถข้ามไปวางข้อความทั้งหมดในหน้าแผ่นงาน "ANS_M1" ได้เลย ตอนนี้จำกัดหน้ากรองแค่ 8 คาบ ไม่จำเป็นต้องใส่ในส่วนนี้ได้ค่ะ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แผ่นงาน ANS_M1 สำหรับใส่ข้อมูลที่กรองแล้วในคาบที่ 1-8 ส่วน ANS_M2 ให้ใส่คาบที่ 9-16 (ใส่ข้อมูลของรายวิชาในช่องด้านขวามือก่อนนะคะ)
***กรณีที่ข้อมูลดิบมีจำนวนเกิน 1000 ข้อความต้องกรองในหน้า CHAT ก่อน
แต่หากพิจารณาแล้วว่าข้อมูลทั้งหมดไม่เกิน 1000 ข้อความ สามารถคัดลอกข้อความจากแช็ตมาวางหน้า "ANS" ได้เลย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หน้า NAME ให้ใส่ข้อมูลรหัสนักเรียน ชื่อ นามสกุล วันที่ที่สอน จำนวนข้อคำถามที่ถามนักเรียนให้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้นระบบจะไม่แสดงผล
(สามารถเช็กชื่อเพิ่มให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์แบบประสานเวลา คลิกที่คาบที่ต้องการเช็กเวลาและเลือกสัญลักษณ์ได้
แต่สูตรในไฟล์ที่ซ่อนไว้จะหายไป ดังนั้นถ้าต้องการใช้กับห้องอื่นควรมีไฟล์สำรองไว้)
ถ้าใส่ข้อมูลครบถ้วน ระบบจะวิเคราะห์ออกมาให้ตามภาพเลยค่ะ
มีทั้งสรุปการตอบคำถาม การมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน
และสรุปลงเวลาเรียน ซึ่งตรงนี้มีกราฟสรุปเรียบร้อย พิมพ์ออกมาหรือเซฟเป็นไฟล์ส่งได้ทันทีเลยค่า
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หน้าแผ่นงานวิเคราะห์การตอบคำถามรายบุคคล แยกตามคาบ (แก้ไขให้ใส่วันที่ได้ในหน้า NAME เลยค่ะ)
ข้อความ Check in (สีเขียว) และ Check out (สีแดง)
แยกวิเคราะห์คำตอบรายข้อ พร้อมสรุปจำนวนการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ของนักเรียนรายบุคคล
ข้อจำกัดในระบบตรวจคำตอบ ไม่เหมาะสำหรับประโยคยาว ๆ ที่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือตอบได้หลากหลาย
แต่ถ้าเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ อย่างเฉลยเป็นตัวเลขจะขึ้นถูก ผิด ให้ตามเฉลยคำตอบค่ะ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนท้ายคาบเราทำหน้าสรุปคะแนนการมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมแจ้งนักเรียนรายบุคคล
พร้อมสะสมแต้มไว้เผื่อแลกคะแนนภายหลัง
(ส่วนตัวทำระบบแจ้งคะแนนเก็บผ่าน Line Chat Bot ไว้ เลยนำมาประยุกต์ใช้แจ้งคะแนนส่วนนี้เพิ่มเติมค่ะ)
MVP นักเรียนที่มีส่วนร่วมมากที่สุดของห้อง
สรุปข้อดี
- เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อความได้จากทั้ง Google Meet / Zoom / คอมเม้นต์ Facebook live
(เพราะคัดลอกมาวางในเซลล์ Excel ได้แบบแยก 1 ข้อความ/แถว)
- เหมาะสำหรับการติดตามถามความเข้าใจระหว่างการเรียนออนไลน์ ให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน โดยที่ไม่ต้องสลับเปิดหลายแอปพลิเคชัน
- สามารถเช็กสรุปรายคาบได้ ทั้งการตอบคำถามและการ Check in Check out ของนักเรียนรายบุคคล
- ทำให้นักเรียนสนุกและกระตือรือร้นในการตอบคำถามในชั้นเรียนออนไลน์มากขึ้น
- เหมาะสำหรับคำถามทบทวนความรู้ทั่วไปแบบเป็นคำหรือประโยคสั้น ๆ และคำถามแสดงความคิดเห็นหรือวัดเจตคติ แสดงความคิดเห็น
- เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและตอบคำถามมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน ถึงแม้ว่าจะไม่สะดวกเปิดไมค์ก็ตอบคำถามได้
- สามารถสรุปจำนวนครั้งที่นักเรียนตอบคำถาม และจำนวนครั้งที่นักเรียนเข้าเรียน พร้อมรายงานสรุปทันทีที่จบคาบ
- เพิ่มเติม 2 มิ.ย. แก้ไขให้ครูผู้สอนสามารถเช็กเวลาเข้าเรียนเพิ่มโดยไม่ต้องพิมพ์ตอบ กรณีที่นักเรียนเข้าเรียนแบบไม่ประสานเวลา
(แต่สูตรในไฟล์เดิมจะถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ลงเวลา กรณีสอนหลายห้องต้องใช้ไฟล์ใหม่ที่ไม่มีการแก้ไข)
- เพิ่มเติม ธ.ค. เพิ่มจำนวนคาบสูงสุด 16 คาบ และเพิ่มช่องให้ครูบวกคะแนนปฏิสัมพันธ์นอกเหนือจากพิมพ์ตอบ ...รองรับฤดู COVID-19 อีกครั้ง.....
ข้อจำกัด
- ไม่เหมาะสำหรับเด็กประถม
- ไม่เหมาะสำหรับคำตอบที่ยาวเกินไป (4-5 บรรทัด)
- ไม่เหมาะสำหรับคำถามที่นักเรียนสามารถดูคำตอบเพื่อนคนก่อนหน้ามาตอบได้
- ไม่เหมาะสำหรับใช้วัดผลอย่างการสอบเป็นทางการ ควรใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอื่นแทน
- นักเรียนต้องพิมพ์เลขที่และหมายเลขข้อคำถามและเครื่องหมายให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่อย่างนั้นระบบจะไม่ทราบ และไม่สามารถวิเคราะห์ได้
- ไม่มีประวัติสำหรับนักเรียนที่สะดวกเรียนออนไลน์ผ่านทางช่องทางอื่น
คุณครูต้องระบุหมายเหตุ เช็กเวลาเรียนเพิ่มเติมและประเมินนักเรียนด้วยวิธีการอื่น
ข้อจำกัดของโปรแกรมในขณะนี้ (ธ.ค. 2564)
สำหรับคุณครูท่านใดที่อยากดูคลิปรายละเอียดตัวอย่างวิธีการใช้งานโปรแกรม
สามารถเข้าดูตัวอย่างเบื้องต้นได้ตามลิงก์นี้เลยค่ะ https://youtu.be/WtLwsEs4iso (ในยูทูปยังเป็นไฟล์เดิม ยังไม่ได้อัดคลิปใหม่ค่ะ 5555)
อัปเดต : 2 มิ.ย. ไฟล์ใหม่ปรับแก้ไขให้ลงวันที่ได้ในหน้า NAME เลยเพื่อป้องกันไม่ให้คุณครูสับสน
แก้ไขในหน้า "CHAT" ให้วางข้อความที่รวมทั้งชื่อ เวลาที่พิมพ์และข้อความอื่น ๆ ได้มากกว่า 1000 ข้อความ ก่อนจะกรองเพื่อวิเคราะห์ต่อไป
แก้ไขให้ครูสามารถเช็กเวลาเข้าเรียนได้ในหน้า NAME
แก้ไขส่วนสรุปร้อยละของนักเรียนที่ขาดเรียนรวมทุกคาบ
อัปเดต : 4 มิ.ย. ไฟล์ใหม่เพิ่มให้ใส่ข้อมูลสรุปได้สูงสุด 50 คน และคัดลอกคะแนนพฤติกรรมทั้งหมดได้
อัปเดต : ธ.ค 2564 ไฟล์ใหม่ใช้เป็น เลขที่ แทนรหัสนักเรียน และใช้พิมพ์ข้อคำถาม โดยพิมพ์ n นำหน้า เช่น n1,n2,n3,......
เป็นอย่างไรบ้างคะ ถ้าหากคุณครูท่านใดสนใจสามารถลองนำไปใช้กับห้องเรียนออนไลน์ดูได้เลยนะคะ
เพื่อเป็นการทิ้งท้ายสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะเปิดเรียน (หวังว่านะ)
ถ้าหากต้องการเผยแพร่ต่อขอให้แชร์บทความจากเว็บนี้เท่านั้นนะคะ
Xไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อความไปรีโพสต์ และไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เด็ดขาดX
เราทำด้วยความตั้งใจ ลองผิดลองถูกปรับแก้ไฟล์อยู่สามสี่วัน...
เพื่อหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานของคุณครูมากขึ้น
ลองวางแผน คิดสูตรและศึกษาด้วยตนเองจาก
บทความ https://www.thepexcel.com/how-to-separate-text/
และคลิป https://www.youtube.com/watch?v=5N_0GMey6BM
มาประยุกต์เพิ่มเติมและออกแบบเป็นไฟล์วิเคราะห์ตัวนี้ขึ้นมา
ตอนแรกที่ทำแค่จะแก้ปัญหาของตัวเองที่พบจากการสอน ลองคิดลองทำดูเล่น ๆ
แต่พอไปใช้แล้วเห็นว่ามีประโยชน์และนักเรียนชอบมากจึงมาแบ่งปันค่ะ
หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือต้องการติดต่อ
สามารถส่งอีเมลมาได้ที่ [email protected] ได้เลยค่ะ
หวังว่าเทคนิคการสอนและโปรแกรมนี้จะเป็นประโยชน์แล้วก็ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้น
และสนุกกับการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์นี้มากขึ้นนะคะ
และถ้าคุณครูท่านใดได้ลองนำไปใช้แล้วอยากให้ Feed back
ขอความกรุณาให้ช่วยแคปภาพและมาแชร์ประสบการณ์สักเล็กน้อย
เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาต่อไปนะคะ :) จะขอรวบรวมอีเมลเผื่อแจ้งอัปเดตไฟล์ด้วยค่ะ
หากสะดวกสามารถส่งมาใน Google Form นี้ได้เลยค่ะ https://forms.gle/xQMgM8eN6Qqz3qXH8
หรือถ้าไม่สะดวกก็คอมเม้นต์บอกมาในบทความนี้ได้เลยค่ะ
ถ้าติดปัญหาหรือพบปัญหาส่วนใดพิมพ์ถามในบทความนี้หรือส่งอีเมลมาแจ้งได้เช่นกันค่ะ :D
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!