สวัสดีค่ะคุณครูทุกท่าน...... วันนี้มีเรื่องราวอยากจะมาแชร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ครูรับผิดชอบสอนในรายวิชาฟิสิกส์ แน่นอนขึ้นชื่อว่าวิชา “ฟิสิกส์” นักเรียนโดยส่วนใหญ่ต่างโบกมือลาหรือบอกว่ายาก ทุกครั้งที่ให้ทำข้อสอบ คะแนนจึงอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ผลคะแนนที่ได้ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนได้ว่ามีจุดแข็งหรือข้อบกพร่องตรงไหน หลายคนจึงท้อใจกับการเรียน เมื่อนึกถึงคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า "ทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าคุณตัดสินปลาโดยความสามารถในการปีนต้นไม้ทั้งชีวิต มันจะคิดว่ามันโง่" แล้วมองย้อนวิธีการที่ทำอยู่ ก็พบว่า การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงแค่การสอบด้วยแบบสอบ หรือการประเมินชิ้นงานเท่านั้น หากครูต้องการสารสนเทศที่เพียงพอต่อการพัฒนาผู้เรียนและกระบวนการสอน การทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักเรียนแต่ละคนมีสามารถความแตกต่างกัน .... ด้วยเหตุนี้การสอบจึงไม่ตอบโจทย์ของปัญหาในตอนนี้ แล้วครูจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามสภาพจริง .....ใช่เลยค่ะ !!! เรื่องแบบนี้ต้องจับเข่าคุย อาจจะใช้ระยะเวลานานในการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่เชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาคุ้มค่าต่อการพัฒนาอย่างแน่นอน (เน้นที่การวัดและประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment For Learning))
กิจกรรมที่ครูจัดขึ้นมีชื่อว่า “ทอล์ค กะ ครู” บททบาทของครูคือพิธีกร ในขณะที่นักเรียนรับบทเป็นแขกรับเชิญ/ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่าง ๆ ลักษณะของกิจกรรมนี้คือการพูดคุย (การสัมภาษณ์) ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การนำชิ้นงาน / Project/ภาระงานที่ได้รับมอบหมายกลับมาสะท้อนผลร่วมกัน หรือแม้แต่การนำโจทย์ปัญหาต่าง ๆ มาคุยกัน เช่น โจทย์ข้อนี้นักเรียนทำอย่างไร เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เหตุผลใดนักเรียนจึงเลือกใช้วิธีนี้ในการแก้โจทย์ปัญหา และนอกจากวิธีนี้แล้วยังมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ สามารถทำได้อย่างไร นักเรียนคิดว่าสิ่งที่ยากในการเรียนเรื่องนี้คืออะไร แล้วนักเรียนจะแก้ไขมันอย่างไร(ให้นักเรียนได้สะท้อนตนเอง).... แต่ละคำถามที่ครูใช้สำคัญเป็นอย่างมาก คำถามจะต้องเร้า/กระตุ้นนักเรียนให้คิด รอคำตอบจากนักเรียน ท้ายที่สุดแล้วคนที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือตัวของนักเรียนเอง คำตอบของปัญหาทั้งหมดจะต้องมาจากเจ้าของปัญหา ครูทำหน้าที่เพียงคอยกระตุ้นให้คิดโดยการใช้คำถาม วิธีการนี้คุณครูจะทราบได้ทันทีว่านักเรียนแต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกันอย่างชัดเจน บางคนมีปัญหาด้านการวิเคราะห์โจทย์ การระบุสิ่งที่โจทย์ให้ การใช้ตัวเลข หรือการเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตประจำวัน เป็นต้น ซึ่งคุณครูจะได้หาแนวทางในการช่วยเหลือและพัฒนาได้ตรงจุด
ลักษณะของการพูดคุย คุณครูสามารถกำหนดได้ เช่น การพูดคุยกับนักเรียนรายบุคคล การพูดคุยกลุ่มย่อยไม่เกิน 5 คน .....บรรยากาศในการพูดคุยต้องเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่เช่นนั้นแล้วนักเรียนจะไม่เป็นตัวของตัวเองและไม่แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา ^^ และก็จะหมดปัญหาการเรียนออนไลน์ที่สื่อสารทางเดียวโดยครูผู้สอนอย่างแน่นอน
กิจกรรมข้างต้น ครูได้ใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียน เช่น
· ให้นักเรียนสะท้อนตนเอง (Reflection)
· ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนรายบุคคลได้
· การนำชิ้นงาน/การบ้านกลับมาพูดคุยและสะท้อนผล
· การสัมภาษณ์
· การถาม – ตอบ
ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม
· หมดปัญหานักเรียนไม่ตอบหรือไม่มีส่วนร่วมในการเรียน^^ การสื่อสารถือว่าประสบผลสำเร็จ
· นักเรียนได้ปลดล็อคตัวเองในการเรียน บางคนไม่กล้าตอบ/แสดงความคิดเห็นเมื่อเรียนกับเพื่อนในห้อง เพราะกลัวตอบผิด
· ครูได้ทราบถึงปัญหาที่ตรงตามสภาพจริงของนักเรียนและหาแนวทางพัฒนาได้ตรงจุด ให้กำลังใจและชื่นชมเพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง
***********************มากกว่าปริมาณคือ คุณภาพของการเรียน****************************
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย