"จะทำยังไงดีหน๊ออออ ให้วรรณคดีเป็นเรื่องสนุก"
นี่คือคำถามที่คิดอยู่เสมอว่าจะต้องทำอย่างไรดี พอยิ่งต้องสอนออนไลน์แบบนี้ด้วยยิ่งคิดหนัก
เพราะปรกติแค่ขึ้นชื่อว่าวรรณคดีแล้ว หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่า น่าเบื่ออีกและ ไหนจะเรียนออนไลน์ที่ต้องนั่งฟังทั้งคาบ
ฉับพลันก็คิดได้ว่า "Tiktok" ไงน่าจะเอามาใช้ได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่สอนก็เล่นกันอยู่แล้ว
เท่านั้นแหละกิจกรรมประหลาด ๆ นี้ก็เกิดขึ้น
กิจกรรมนี้ตั้งชื่อให้ว่า "สามก๊กถกแถลง" เป็นกิจกรรมในเนื้อหาเรื่องสามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ สำหรับนักเรียนชั้นม.6 จุดประสงค์หลักที่เราต้องการให้เด็กเรียนรู้ คืออภิปรายบุคลิก คุณธรรม ลักษณะนิสัยของตัวละครได้
ขณะเดียวกันก็อยากให้เด็กสามารถวิเคราะห์ข้อคิดโดยเชื่อมโยงกับการนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
โดยการทำคลิป Tiktok นี้ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะให้โจทย์ตู้มไปเลย แต่ใช้ Tiktok เป็นการแสดงทรรศนะในช่วงท้าย ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้เราใช้เวลา 2 คาบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือก่อนชั้นเรียน ในชั้นเรียน และหลังชั้นเรียน ซึ่งในแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้
ก่อนชั้นเรียน
- เราให้เด็กศึกษาคลิปวิดีโอเรื่องสามก๊กที่จัดทำขึ้นมาก่อน เพื่อปูพื้นฐานและความเข้าใจของนักเรียนทุกคน (โดยปรกติแล้วในวิชา 2 คาบที่เจอกันในหนึ่งอาทิตย์ เราจะให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง 1 คาบ โดยศึกษาจากคลิปสั้น ๆ ที่ทำให้)
ในชั้นเรียน
- วัดความเข้าใจ และพื้นความรู้ของนักเรียนก่อนว่าศึกษามาแล้วหรือยัง โดยให้ตอบคำถามสั้น ๆ ผ่านช่องสนทนาง
- ดำเนินกิจกรรมถกแถลง ด้วยฟังก์ชันแบ่งห้องย่อยของ Zoom แบ่งกลุ่มแบบสุ่ม 4 กลุ่มเพื่อให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายในประเด็นที่ได้รับ โดยให้นักเรียนได้พูดคุยอภิปรายกันประมาณ 10 นาที
- ระหว่างที่นักเรียนอภิปรายกันออกรส ครูก็ทำหน้าที่เป็นสายสืบไปแอบฟังเด็กแต่ละกลุ่มซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้น ทั้งถก ทั้งแถลง ทั้งยกเหตุผลมาอธิบายกัน ในช่วงนี้ไม่ใช่ว่าเข้าไปฟังอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่เราทำเพิ่มเติม คือโยนคำถามฉุกคิดเข้าไปอีกว่า "ตัวละครที่กำลังคุยกันอยู่ เขาเป็นคนอย่างไรกันแน่ เขามีนิสัย หรือบุคลิก อย่างไรจากมุมมองที่เราเห็น"
- หลังที่แต่ละกลุ่มถกแถลงกันเสร็จ ก็ให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มนำเสนอ คำตอบที่ได้จากแต่ละกลุ่ม มีทั้งมองตัวละครอย่างคนดีในอุดมคติ และมีทั้งมองตัวละครเป็นสีเทา ๆ ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงไม่มีคำตอบจากประเด็นการอภิปราย
- ท้ายคาบจะเหลือเวลาอีกประมาณ 10-15 นาที ก็จะเป็นช่วงเวลาของการเป็นดาว Tiktok แล้ว โดยเราให้โจทย์เด็กแต่ละคนลองไปคิดกันว่า ถ้าฉัน....(มีจุดเด่น).......เหมือน......(ตัวละครใด)...... ฉันคงจะ.................................. เพื่อให้เด็กลองเชื่อมโยงข้อคิด หรือจุดเด่นที่ได้จากตัวละครกับชีวิตประจำวัน
หลังชั้นเรียน
- เด็ก ๆ แต่ละคนสร้างสรรค์คลิป tiktok ของตนเอง ซึ่งมีทั้งสายฮา สายปั่น สายจริงจัง สายดราม่า สายรีวิว แม้กระทั่งสายวิชาการก็มี
- เด็ก ๆ แต่ละคนนำคลิปมาแชร์กันในกลุ่มไลน์ของห้อง จากนั้นก็มาร่วมโหวตกันว่า ใครจะเป็นดาว Tiktok ประจำห้อง
ตัวอย่างคลิปที่นักเรียนแต่ละคนสร้างสรรค์
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมในครั้งนี้
- สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ คือ การเชื่อมโยงข้อคิดจากวรรณคดีเข้ากับชีวิตของนักเรียนแต่ละคน คำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องสวยหรูอุดมคติ เพียงแค่ได้ลองโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นความคิดตั้งแต่ประเด็นเล็ก ๆ จนไปถึงประเด็นใหญ่ ๆ เช่น
"ถ้าฉันวางแผนเก่งและรอบคอบเหมือนโจโฉ ฉันคงจัดการชีวิตและเวลาได้ดีกว่านี้"
"ถ้าฉันมีวาทศิลป์ในการพูดเหมือนเตียวเลี้ยว ฉันคงจะตอบคำถามในรอบสอบสัมภาษณ์แฟ้มสะสมผลงานได้ดีมาก ๆ"
"ถ้าฉันซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียวมั่นคงเหมือนกวนอู ฉันคงไม่เสียเงินเยอะไปกับซื้ออัลบั้มรูปดาราเกาหลี"
"ถ้าฉันมีความสามารถในการบริหาร และวางแผนเก่งเหมือนโจโฉ ฉันคงจะใช้ความรู้ความสามารถนำพาประเทศให้รอดพ้นพิษโควิดได้"
- เมื่องานเปิดกว้างให้เด็กได้แสดงออก เราก็จะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนทุกคน ทั้งในความพยายามสรรหา หรือความ"หาทำ" คลิปของตัวเอง ซึ่งมีปังปุริเย่ และมีแบบใสใสวัยรุ่นชอบ
- เกือบครึ่งของนักเรียนที่สร้างสรรค์คลิปมีคำตอบไปในทางเดียวกันคือ "อยากวางแผนและคิดได้รอบคอบแบบโจโฉ เพราะจะได้จัดการเวลาชีวิตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ และวางแผนเรียนต่อเขามหาวิทยาลัย" ซึ่งนี้ทำให้ได้เห็นทั้งการเชื่อมโยงวรรณคดีเข้ากับสถานการณ์ของเด็ก ม.6 แต่ละคนประสบอยู่ รวมทั้งยังได้เห็นการเชื่อมโยงข้อคิดจากวรรณคดีเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา และจัดการตนเองได้
- การจัดการเรียนรู้วรรณคดีจะยังคงมีชีวิต ถ้าเราใส่ชีวิตลงไปในการเรียน