กิจกรรมการส่งต่อเพลงเก็บเด็ก
โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ
อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ในการสอนนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ปัญหาหนึ่งที่นักศึกษามีเสมอนั่นคือ ปัญหาเพลงเก็บเด็ก เพลงเก็บเด็ก คือ เพลงที่ครูที่ดูแลเด็กปฐมวัยใช้ร้องเพื่อให้เด็กสงบ ไม่ซุกซน ตั้งใจฟังในสิ่งที่ครูจะสอน หรือเรียกอีกอย่างว่า การเตรียมเด็กให้สงบ (Child Preparation Techniques) เพราะเด็กปฐมวัยที่อายุระหว่าง 0-6 ปีนั้นสมาธิยังมีอยู่น้อยมาก นักศึกษาส่วนใหญ่เล่าให้อาจารย์ฟังว่า "หนูคิดว่าหนูยังมีเพลงเก็บเด็กในสต็อกไม่พอ บางทีหนูก็นึกไม่ออกว่าจะร้องเพลงจะอะไรดีเด็กถึงจะเงียบจะฟัง ส่วนใหญ่หนูจะนึกไม่ออกจำเพลงไม่ได้ด้วย" นั่นคือปัญหาที่พบเสมอ
อาจารย์จึงคิดกิจกรรมง่ายๆขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาทำ คือ “กิจกรรมการส่งต่อเพลงเก็บเด็ก” เพื่อให้นักศึกษาฝึกร้องเพลงเก็บเด็ก ทบทวนเนื้อเพลงเก็บเด็ก เรียนรู้เพลงเก็บเด็กใหม่ๆจากเพื่อนและอาจารย์เพื่อนำไปใช้สอนในอนาคต และเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนที่ดี ที่ทำให้นักศึกษาตื่นตัวก่อนการเริ่มเรียน ทำให้เกิดความสนุกสนาน ไม่ง่วงนอน
เทคนิคกิจกรรมการส่งต่อเพลงเก็บเด็ก
1. ให้นักศึกษานั่งครึ่งวงกลม หรือนั่งที่โต๊ะก็ได้ อาจารย์อธิบายวิธีการทำกิจกรรมให้นักศึกษา
2. อาจารย์เริ่มต้นร้องเพลงเก็บเด็ก 1 เพลง เช่น “กระซิบ กระซิบ อย่าให้เสียงดัง ควรระวังผู้อื่นหนวกหู พวกเด็กๆต้องเกรงใจครู คุณหนูๆอย่าทำเสียงดัง”
3. สุ่มเรียกนักศึกษา 1 คน เพื่อส่งต่อเพลง โดยให้ร้องเพลงเก็บเด็กที่อาจารย์ร้องไป และเมื่อร้องเสร็จแล้วให้นักศึกษาร้องเพลงเก็บเด็กเพลงใหม่เพิ่มอีก 1 เพลง เช่น “กระซิบ กระซิบ อย่าให้เสียงดัง ควรระวังผู้อื่นหนวกหู พวกเด็กๆต้องเกรงใจครู คุณหนูๆอย่าทำเสียงดัง” “นั่งเหมาะๆๆ นั่งตรงไหนถึงจะเหมาะ นั่งที่พื้นนี่แหละเหมาะ เพราะสบายดี”
4. เมื่อนักศึกษาร้องเพลงทั้ง 2 เพลงเสร็จแล้ว ให้นักศึกษาเรียกชื่อเพื่อนคนใดก็ได้ 1 คน คนที่ถูกเรียกชื่อต้องร้องเพลงเก็บเด็กที่เพลงเดิมที่อาจารย์ และเพื่อนร้อง และเพิ่มการร้องเพลงเก็บเด็กเพลงใหม่ของตนเองอีก 1 เพลง
5. ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 4-5 คน ต่อหนึ่งรอบ แล้วเริ่มรอบใหม่
Tips การสอนให้สนุก
1. ผู้สอนควรมีส่วนร่วมร้องเพลงร่วมกับผู้เรียน และอธิบายวิธีการทำกิจกรรมให้ชัดเจน หากผู้เรียนที่ได้รับการส่งต่อยังนึกไม่ออก ควรให้เวลาในการคิดสักครู่ หรือเริ่มรอบใหม่ตามความเหมาะสม
2 .ผู้สอนสามารถเปลี่ยนจากการร้องเพลงเก็บเด็กเป็นการส่งต่อกิจกรรมการท่องคำคล้องจอง
3. ผู้สอนในระดับชั้นอนุบาล สามารถนำไปดัดแปลงเป็นกิจกรรมการส่งต่ออื่นๆ โดยใช้วิธีการเดียวกัน เช่น การส่งต่อคำศัพท์ หมวดต่างๆ เช่น หมวดยานพาหนะ หมวดดอกไม้ หมวดอาชีพ หมวดสัตว์ เป็นต้น แต่ให้ลดความซับซ้อนลง เช่น ไม่ต้องเรียกชื่อเพื่อน ให้ใช้วิธีหันไปหาเพื่อนข้างๆ และพูดคำศัพท์
4. ผู้สอนในระดับชั้นอื่นๆ สามารถนำไปดัดแปลงเป็นกิจกรรมการส่งต่ออื่นๆ เช่น ส่งต่อชื่อหนัง ส่งต่อชื่อนักร้อง ส่งต่อคำศัพท์ภาษาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสามารถดัดแปลงได้ตามสิ่งที่จะสอน หรืออาจนำมาใช้เป็นกิจกรรมให้ผู้เรียนตื่นตัวก่อนเข้าสู่บทเรียนได้ดี
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย