icon
giftClose
profile

A Little History of Corruption

16020
ภาพประกอบไอเดีย  A Little History of Corruption

เล่างานวิจัย "เมื่อกฎ(หมาย)ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย" ให้เข้าใจง่าย ผ่านประวัติศาสตร์ในมิติของการเมืองการปกครอง ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง (cultural aspects)


ยุคที่ 1 : ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

รูปแบบการคอร์รัปชันในยุคนี้เรียกว่าการ ฉ้อราษฎร์บังหลวง และการเรียกรับสินบน


ในสมัยยุคก่อนรัชกาลที่ 5 สยามใช้การปกครองแบบระบบ “กินเมือง”

โดยกษัตริย์จะส่งขุนนางไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ซึ่งขุนนางจะไม่ได้เงินเดือนจากเมืองหลวง

แต่ได้สิทธิในการเก็บภาษีจากราษฎรในพื้นที่ที่ตนเองปกครองแทน

โดยอัตราภาษีจะต้องเป็นไปตามที่กษัตริย์กำหนด


ดังนั้นจึงมีช่องว่างให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง

โดยขุนนางสามารถเรียกเก็บภาษีจากราษฎรได้มากเกินกว่าที่หลวงกำหนดไว้ได้

อีกทั้งยังเบียดบังเงินภาษีโดยส่งภาษี กลับไปให้หลวงไม่ครบจำนวนอีกด้วย


-----------------------------


แต่ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 5

ขุนนางถูกลดอำนาจลงจากการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

โดยมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

และมีการพระราชทานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการหัวเมือง

ส่งผลให้การเก็บภาษีจะเก็บเข้าสู่พระคลังโดยตรงไม่ต้องผ่านขุนนางเหมือนในอดีต


จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ขุนนางคิดหาวิธีในการคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่

โดยเปลี่ยนจากการเบียดบังภาษีจากราษฎรโดยตรง

มาเป็นการเรียกรับสินบนเพื่อเป็นค่าตอบแทนจากการดูแลสารทุกข์สุขดิบของราษฎรแทน



ประเด็นชวนตั้งข้อสังเกต*


ตั้งแต่สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 มาจนถึงสมัยการปกครองของรัชกาลที่ 5

รูปแบบการคอร์รัปชันมีวิวัฒนาการจากการเก็บภาษีเกินมาเป็นการเรียกรับสินบน

ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการจัดการปกครองโดยดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแล้ว


แต่การรับรู้การคอร์รัปชันทั้งสองรูปแบบกลับแตกต่างกัน

โดยจากการศึกษาพบว่าบทกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบการคอร์รัปชันมีวิวัฒนาการจากฉ้อราษฎร์บังหลวง

มาเป็นการเรียกรับสินบนนั้น ก็เนื่องมาจากในกฎหมายตรา 3 ดวง ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า


การฉ้อราษฎร์บังหลวงนับเป็นความผิดที่ร้ายแรง

เพราะเกิดจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับของหลวง (ภาษีเป็นของหลวง)

จึงมีบทลงโทษที่ชัดเจนคือ “ฟันคอริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียข้าคนเป็นราชบาทว์

และยึดทรัพย์สินสิ่งของเข้าพระคลัง”


ในขณะที่การรับสินบนนั้น กลับไม่ได้มีบทลงโทษปรากฏชัดเจน

สาเหตุหนึ่งอาจมาจากค่านิยมและความเข้าใจของคนทั่วไปในยุคสมัยนั้น

ว่าการเรียกรับสินบนเปรียบเสมือนการตอบแทนสินน้ำใจจากการได้รับความคุ้มครองหรือความช่วยเหลือ

ซึ่งราษฎรอาจจ่ายให้ขุนนางด้วยความเต็มใจก็ได้


หรือนี่อาจจะเป็นวัฒนธรรมที่เอื้อให้คอร์รัปชันในรูปแบบสินบน

ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยและที่ส่งต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันหรือเปล่า ?



ยุคที่ 2 : ยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475


ในยุคนี้เป็นยุคที่ทหารและกองทัพมีอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองของประเทศไทย

โดยเข้ามาในรูปแบบของ “ผู้รักษาสันติภาพ” และใช้การปกครองแบบเผด็จการ

โดยเริ่มตั้งแต่ในยุครัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ซึ่งอยู่ในช่วงของการสร้างชาติไทย ทำให้มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมขึ้น


โดยรูปแบบการคอร์รัปชันจึงเป็นการประพฤติผิดของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่ใช่คนไทย

ได้แก่ การข่มขู่และปล้นโดยตำรวจ การเพิกถอนสัญญาเช่าหรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

การยึดเงินทุนและทรัพย์สินภายใต้ข้ออ้างจากนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์


ทำให้เจ้าของธุรกิจต่างชาติต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อขอการคุ้มครอง

และการสนับสนุนจากนายทหารชั้นสูง ข้าราชการและนักการเมืองที่มีอิทธิพล


---------------------------------------------


ต่อมาในรัฐบาลทหารใหม่ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ในปี พ.ศ. 2500)


ยุคนี้มีการสร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจไทย ชาวจีน และชาวต่างชาติอื่นๆ

โดยความสัมพันธ์ของนักธุรกิจต่างชาติกับชนชั้นปกครองนั้นเป็นความสัมพันธ์ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ตอบแทนกัน

กล่าวคือรัฐบาลและข้าราชการให้ความคุ้มครองและการสนับสนุนนักธุรกิจชาวต่างชาติ

ในทางกลับกันนักธุรกิจต่างชาติก็มีการแทนการสนับสนุนของชนชั้นปกครองด้วย เนื่องจากการให้ความคุ้มครอง


จนกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครอง

อันส่งผลให้พวกเขาเข้าสู่สถานะของกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์อย่างสูงต่อธุรกิจ


ส่วนนักธุรกิจในท้องถิ่นต่างจังหวัดเองก็มีการสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพื้นที่

ในลักษณะระบบอุปถัมภ์เช่นกัน ส่งผลให้รูปแบบคอร์รัปชันในสมัยนี้เป็นลักษณะการเอื้อประโยชน์

ในการประกอบธุรกิจให้กับนายทุนและนักธุรกิจผ่านกฎหมายและนโยบายการอนุมัติโครงการต่างๆของรัฐ

โดยเฉพาะการจัดสรรการทำสัญญาในโครงการ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการให้สัมปทานโครงการของรัฐบาล

ต่อบริษัทที่จัดตั้งโดยนายทหารชั้นสูงหรือพวกพ้องของตน เช่น การผูกขาดทางธุรกิจ


และออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนในปี พ.ศ. 2503

เพื่อให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

และใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมของธุรกิจในเครือข่าย เป็นต้น


------------------------------------------


นอกจากนี้ยังมีการเกินขึ้นของรัฐวิสาหกิจที่นักรัฐประหารเข้ามามีบทบาท

โดยการแต่งตั้งนายทหารจำนวนมากให้เข้าไปมีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการบริหารในรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น

เพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบผ่านงบประมาณรายจ่ายของรัฐ

ส่งผลให้นายทหารชั้นสูงสามารถสะสมความมั่งคั่งจากรัฐวิสาหกิจและงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐได้มหาศาล


ซึ่งผลที่ตามมาจากการที่ทหารเข้าไปมีบทบาทในการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ

และร่วมธุรกิจกับภาคเอกชนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องตนเอง

และผลประโยชน์ทับซ้อนจากการสะสมความมั่งคั่งเหล่านี้


โดยเฉพาะเรื่องการเอื้อผลประโยชน์ ระหว่างทหารกับภาครัฐและนักธุรกิจ

ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Internet จะพบว่าทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ

ก็มักจะมีรายชื่อของทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบประธานบอร์ดบริหารรัฐวิสาหกิจต่างๆ

หรือแม้แต่การแต่งตั้งนายทหารจำนวนมากให้อยู่ในคณะกรรมการบริหารของตนเองอีกด้วย



สรุปความเชื่อมโยงการคอร์รัป ชันในยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475


ในยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พบว่ามีความคล้ายคลึง

กับระบบศักดินาหรือเจ้าขุนมูลนายในยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายประการ

แต่การคอร์รับชันในยุคนี้ได้มีการพัฒนามาเป็นระบบพวกพ้องที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเทศ

จนเกิดเป็นโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

ที่เอื้อประโยชน์ระหว่างกันเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง

จากการเข้ามามีบทบาททางการเมืองและตำแหน่งทางราชการจนกลายเป็นต้นตอของปัญหา

ที่ประชาชนอย่างเราไม่สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐและทหารได้นั่นเอง


นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2503 ภายใต้บริบทของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด

และการเติบโตของเมือง ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงในการบูรณาการธุรกิจและการเมืองเข้าด้วยกัน

โดยในยุคนั้นพบว่ามีกลุ่มธุรกิจหลักสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจสมัยใหม่ในเมือง

และกลุ่มนักธุรกิจใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งสุดท้ายก็กลายมาเป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่ในการเมืองไทยในเวลาต่อมา


----------------------


สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้

ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครอง

อันส่งผลให้พวกเขาเข้าสู่สถานะของกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ

ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์อย่างสูงต่อธุรกิจ


ดังนั้นรูปแบบการคอร์รัปชันจึงมาในรูปแบบของนักธุรกิจ-การเมือง

โดยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกลไกของรัฐโดยตรง

เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบผ่านการสนับสนุนด้านนโยบาย

ทรัพยากรและเงินทุนในการลงทุนของพวกพ้อง


อีกทั้งพรรคการเมืองในสมัยนั้นยังไม่เข้มแข็งและต้องการการสนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง

จึงเป็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจในการสร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้โดยตรง

และนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ผ่านการเลือกตั้งระบบรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น


รูปแบบดังกล่าวจะปรากฏชัดเจนขึ้นในระยะต่อมา

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาการของคอร์รัปชันได้เกี่ยวโยงกับเอกชนมากขึ้น

ซึ่งทำให้การคอร์รัปชันกระทบกับคนในวงกว้างและชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง



ยุคที่ 3 : ยุคของ “การเมืองเปิด” (พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2557)


สาเหตุของการคอร์รัปชันในยุคนี้

ก็เนื่องมาจากยุคนี้ที่นักการเมืองต้องพึ่งพาเงินทุนจากกลุ่มธุรกิจ

และนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่ของตน

เนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองโดยระบบหัวคะแนน


นำไปสู่รูปแบบการคอร์รัปชันในช่วงเวลาดังกล่าว

คือ การซื้อเสียงจากประชาชนในขณะรณรงค์หาเสียงของนักการเมือง

พรรคการเมืองจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพึ่งพาเงินทุนจากนักธุรกิจจำนวนมาก

เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งและเข้าไปเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลในสภา

ซึ่งในขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจก็มีอิทธิพลต่อการต่อรองกับพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน

จนถึงช่วงเวลาหนึ่งที่การเมืองของประเทศไทยต้องการใช้เงินสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

ทำให้การคอร์รัปชันกลายเป็นวิธีที่ส่งเสริมให้เกิดการหาเงินเพิ่ม


รูปแบบการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในเชิงนโยบายโดยผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ

เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องด้วยการผูกขาดการประมูลกับรัฐบาล

และมีการแทรกแซงองค์กรกำกับดูแลและองค์กรตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ซึ่งมาจากการผูกขาดทางการเมืองและการตลาด

รวมถึงการให้อำนาจดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง


เช่น การเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นผ่านการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้

การอนุมัติใบอนุญาต การให้สัมปทาน ผลประโยชน์จากการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ

และผลประโยชน์ที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

การออกนโยบายภาษีและการคลังที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของพวกพ้อง

จนมีคำกล่าวโจมตีว่าเป็นคณะรัฐมนตรี “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” หรือ “ระบอบธนาธิปไตย”


ไปจนถึงการคอร์รัปชันผ่านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภาย

ใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6

ซึ่งเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทุนของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ

เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

การเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


รวมถึงรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC)

ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ซึ่งถูกมองโครงการเหล่านี้เปิดโอกาสให้นายทุนขนาดใหญ่กักตวงผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน



สรุปภาพรวมการคอร์รัปชันตั้งแต่ยุคการเมืองเปิด


จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นในยุคของ “การเมืองเปิด”

สามารถตอบคำถามที่เราเคยสงสัยมานานได้อย่างชัดเจนว่าทำไมการเมืองจึงคู่กับการคอร์รัปชัน ?


และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำอย่างนักการเมืองกับนักธุรกิจ

ที่เงินมีความจำเป็นสำหรับผู้นำกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อคงไว้ซึ่งอิทธิพลและอำนาจ

และเมื่อมีการแข่งขันทางการเมืองสูงขึ้น รายได้จากธุรกิจส่วนตัวของนักการเมือง

และการสนับสนุนจากนักการเงินก็ไม่เพียงพออีกต่อไป


ทำให้การคอร์รัปชันกลายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในหาเงินเพิ่ม

โดยวิธีการคอร์รัปชันกิดขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ การเรียกรับเงินใต้โต๊ะ

เพื่อการจัดสรรข้อตกลงและสัญญาสาธารณะสำหรับบริษัทเอกชน

การทำสัญญาของรัฐบาลให้กับบริษัทของตนเอง

และการยักยอกเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นต้น


ยุคที่ 4 : ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลในยุคปัจจุบัน


แม้จะมีการรัฐประหารหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม หลังการทำรัฐประหารการคอร์รัปชันก็ไม่ได้สิ้นสุดลง

โดยจากผลการสำรวจดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560

ที่ระบุว่า คนไทยมีความเห็นว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37 สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558


โดยรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในยุคนี้ อยู่ในรูปแบบของกฎหมาย

ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองได้อย่างอิสระ

ขาดความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง

ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่คณะของตนสร้างขึ้น

มาเป็นเครื่องมือในการคอร์รัปชัน เช่น การปิดกั้นการตรวจสอบอำนาจรัฐขององค์กรอิสระและภาคประชาชน


นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังได้มีการอนุมัติงบประมาณด้านการทหารที่สูงขึ้น

มีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับทหารชั้นสูง

เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจของพวกพ้อง ยกตัวอย่างกรณี คสช. ออกคำสั่งที่ 75/2557

ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ "ซุปเปอร์บอร์ด"

ส่งผลให้มีจำนวนทหารที่นั่งเป็นประธานในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า

และมีจำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 40 แห่ง เป็นต้น


ดังนั้นจึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบการคอร์รัปชันในยุคนี้

มีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคเผด็จการทหารในอดีตหรือไม่ ?



สรุปภาพรวมวิวัฒนาการคอร์รัปชัน

(A Little of Corruption)


การศึกษาประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจว่า แท้จริงแล้วสาเหตุของปัญหาการคอร์รัปชันนั้นเกิดมากจากอะไร

แม้ว่าในปัจจุบันการคอร์รัปชันในสังคมไทยจะมีรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้นกว่าในอดีตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย โดยในปัจจุบันรูปแบบการคอร์รัปชันเริ่มมีการกระจายตัวออกอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน

ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ ฝ่ายการเมือง การทหาร บริษัทเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร วัด และสถาบันการศึกษา


ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างระบบอุปถัมป์ที่ฝังอยู่ในสังคมและการเมืองของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต

อย่างไรก็ตามในยุคสมัยที่เกิดการคอร์รัปชันที่รุนแรงก็จะมีการเคลื่อนไหวทางสังคม

โดยภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเสมอ


ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ดีขึ้น

เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาประชาชนเริ่มมีความเข้าใจและทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการ “โกง” “การทุจจริต”

หรือ “การคอร์รัปชัน” ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี และส่งผลกระทบร้ายต่อสังคมและตนเอง


แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การต่อต้านคอรรัปชันยังไม่อาจพัฒนาหรือเท่าทันการคอร์รัปชันได้

เพราะหลายครั้งเราติดกับชุดความคิดเดิมที่เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ทำให้ภาคประชาชนที่ตื่นตัวและลงมือร่วมต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างจริงจังยังมีไม่มากเพียงพอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการคอร์รัปชันในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากจนซับซ้อนมากขึ้นกว่าเพียงการจ่ายสินบน

แต่กลายเป็นการคอร์รัปชันผ่านการดำเนินนโยบายและโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตามที่ได้อธิบายในข้างต้น


ดังนั้นความท้าทายของงานต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบัน

จึงยังคงเป็นคำถามที่น่าชวนคิดต่อไปว่า เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม

จะสามารถว่าจะหยุดดักความคิดที่ว่า คอร์รัปชันแก้ไขไม่ได้ นี้ได้อย่างไร ?

หรือเราทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน

ให้กับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปได้อย่างไร ?

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: เมื่อกฎหมายขายได้.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 9 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(4)