icon
giftClose
profile

มองเห็นตัวเองผ่านแฟ้มพัฒนาการ (ครูเจน)

26122
ภาพประกอบไอเดีย มองเห็นตัวเองผ่านแฟ้มพัฒนาการ (ครูเจน)

นำตัวชี้วัดที่ครูใช้ประเมินนักเรียนอยู่เดิม มาสรุปด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ให้นักเรียน ได้เห็นว่าทุกชิ้นงานทุกการกระทำของเขานั้นมีค่า นำมาสู่การเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านการเห็นพัฒนาการด้านต่าง ๆ มากกว่าการตัดสินผลลัพธ์เป็นแค่ตัวเลขเกรดหรือลำดับที่

“เจนมองว่า นักเรียนชั้น ม.1 ควรมองเห็นตัวเองให้ได้มากที่สุด

เพื่อวางเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองต่อ ในระดับชั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ”

.

ในขณะที่เรามีการประเมินนักเรียน มีตัวชี้วัดมากมายที่รวบรวมส่งให้ผู้ใหญ่

แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับไม่ถูกแจกแจงให้เด็กซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลได้รับรู้

.

เจนสอนวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม มีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ประมาณหนึ่ง 

เจนจึงเริ่มคาบแรกจากการ ‘ให้เด็กเลือกเองว่าอยากเรียนเรื่องอะไร’

โดยตรวจสอบสิ่งที่ทางโรงเรียนอยากให้เด็กรู้ บวกกับสิ่งที่เด็กอยากรู้

จากนั้นแยกเป็นตัวชี้วัดออกมา แล้วออกแบบการเรียนรู้โดยแบ่งเป็น

1.กิจกรรมเดี่ยว 2.กิจกรรมที่ครูจับกลุ่มให้ และ 3.กิจกรรมที่เด็กจับกลุ่มกันเอง

สำหรับกิจกรรมกลุ่ม จะมีการวางบทบาทหน้าที่แต่คนอย่างชัดเจน

ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เหมาะสมกับเขาและเขายินยอม

เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการให้เด็ก ๆ ให้คะแนนแต่ละหน้าที่

จากนั้นจึงให้เขาได้สะท้อนตัวเอง

โดยยึดหลักการ reflect 3 ลำดับ นั่นคือ..

‘รับรู้ผล -> พิจารณาอดีต -> ตั้งเป้าหมายสิ่งที่จะทำเพื่อพัฒนา’

กระทั่งทำให้เด็กพบว่า เขามีสไตล์การเรียนรู้หรือการทำงานแบบไหน

มีอะไรเป็นอุปสรรคหรือสิ่งที่ช่วยสนับสนุนเขาได้บ้าง

และเขารับมือกับสิ่งที่เขาไม่ถนัดอย่างไรเพื่อรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง ฯลฯ

.

มากกว่าการที่เราแค่ตัดสินผลลัพธ์เป็นตัวเลขเกรดหรือคะแนนรวม

(Summative Assessment)

นักเรียนแต่ละคนจะมีแฟ้มรวบรวมผลงาน

และข้อมูลการวิเคราะห์ความสามารถทางวิชาการ,

ทักษะที่จำเป็น และคุณลักษณะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อย่างละเอียด

ทำให้เด็กได้รู้ว่าตัวเองถนัด / ไม่ถนัดอะไร

ควรพัฒนาตรงไหนอย่างไร เป็นพฤติกรรมตลอดเทอม

ให้เขาได้เห็นพัฒนาการการเติบโตของเขาเอง

(Formative Assessment)

ส่วนครูและผู้ปกครองก็สามารถแลกเปลี่ยน ส่งต่อข้อมูล

และช่วยกันพัฒนาเด็กแต่ละคนต่อไป

.

พฤติกรรมที่เราเห็นชัดเจนเลย คือ

1. เด็กสามารถระบุได้ว่าไสตล์การเรียนรู้ของตัวเองเป็นแบบไหน กระทั่งสามารถบอกเหตุผลที่มาที่ไปชัดเจนว่าชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไร มากไปกว่านั้นบางคนยังไปถึงจุดที่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ขัดกับความต้องการของตนเอง

2. เด็กมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนาตัวเองให้ต่อเนื่อง รู้ตัวว่าทุกคนอยู่ในสายตา ทำแล้วครูมองเห็นในทุกคาบ อยากทำให้ได้ตามที่ตัวเองและครูคาดหวัง ตั้งเป้าหมายร่วมกันเอาไว้

.

เพียงแค่นำตัวชี้วัดที่ครูใช้ประเมินนักเรียนอยู่เดิม

แต่อาจไม่เคยนำมาอธิบายให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจนั้น

มาสรุปด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ให้นักเรียนได้เห็นพฤติกรรมตัวเองชัดขึ้น

ได้เห็นว่าทุกชิ้นงานทุกการกระทำของเขานั้นมีค่า

นำมาสู่การเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านการเห็นพัฒนาการด้านต่าง ๆ

และอยากเรียนรู้อยากพัฒนาตนเองจากการเห็นจุดที่ตัวเองยังขาดไปด้วยตัวเอง

.

ครูเจน

เจนจิรา มะอินทร์

อดีต ครู โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ กรุงเทพฯ

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

.

สัมภาษณ์และเรียบเรียง โดย ครูไวท์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(2)