icon
giftClose
profile

สุขภาวะที่ดี ภาษาล้านนา ภาษาไทย อยู่ร่วมกันได้!

17620
ภาพประกอบไอเดีย สุขภาวะที่ดี ภาษาล้านนา ภาษาไทย อยู่ร่วมกันได้!

“เพราะครูเติ้ลเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ อยู่ที่ว่าครูคนนั้นว่าจะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้มากแค่ไหน”

ครูเติ้ลเป็นคุณครูภาษาไทยที่โรงเรียนบ้านดง จังหวัดลำพูน เด็กนักเรียนที่คุณครูสอนมาจากชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งหมด และศึกษาอยู่ชั้นประถมปลาย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียนของครูเติ้ล โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาที่คุณครูพบ คือเด็ก ๆ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่คุณครูสอนส่วนใหญ่จะถนัดแต่ภาษากะเหรี่ยง ไม่สามารถพูดและอ่านภาษาไทยกลางได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ในโรงพยาบาล ในธนาคาร ในอำเภอเมือง ส่งผลให้ต้องอาศัยการล่ามเพื่อสื่อสาร คุณครูจึงเล็งเห็นว่าการฝึกให้พวกเขาพูดภาษาไทยกลางได้อย่างชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากไม่ใช่แค่สำหรับการสอบแต่สำหรับการดำเนินชีวิตของพวกเขาเอง นอกจากนี้ เนื่องจากเด็ก ๆ มาจากครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งยังไม่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ดี เช่น การรักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องแต่งกาย การบริโภคอาหาร ครูเติ้ลจึงอยากสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวผ่านกิจกรรมนี้ด้วย


กิจกรรมสอนภาษาถิ่นสู่ภาษาไทย 

Reminder ก่อนการทำกิจกรรมนี้ เด็ก ๆ ควรมีพื้นฐานภาษาไทยกลางมาก่อน

ขั้นตอนการทำกิจกรรม

“ … คำเอ้ยคำแก้วน้องหล้า ปี้จะบอกตำรายาของคนแก่

สืบมาเจ้นป้อเจ้นแม่ ก๋านดูแลร่างกาย

เอาบ่าขามเปียกขมิ้น มาขัดมาสีร่างก๋าย

บ่ว่าขี้คอกขี้ไคล จะออกง่ายดายเน่อปี้

ขัดผิวหื้อเฮางาม ๆ หมั่นดูแลตัวเก่า

เพราะสุขภาพของเฮา มันเป็นสิ่งตี้สำคัญ

ขี้มูกขี้ต๋าน้ำลาย จะไปหื้อเปิ้นได้หัน

หมั่นเจ้ดหมั่นล้างตึงวัน สูจะได้งามแบบปี้ …”

(ส่วนหนึ่งของบทละครซอ เรื่องสุขภาวะแต่งโดยครูอนันต์ เตชะระ)


  • คุณครูแต่งเพลงค่าว (คำประพันธ์มีลักษณะร้อยสัมผัสสอดเกี่ยวกันไปแบบร่าย และจบลงด้วยโคลงสองหรือโคลงสามสุภาพ มีหลายชนิด) เพลงจ๊อย (การขับลำนำอย่างหนึ่งของภาคเหนือ เป็นถ้อยคำที่กล่าวออกมาโดยมีสัมผัสคล้องจองกันเป็นภาษาพื้นเมือง ออกเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นทำนองเสนาะ ฟังแล้วจะเกิดความไพเราะ สนุกสนานไปตามท่วงทำนอง) เพลงซอ (ศิลปะการขับขานของล้านนาที่มีมานานเป็นสื่อพื้นบ้านแขนงหนึ่ง เนื้อหาสาระที่ช่างซอนำมาสื่อนั้นมีหลากหลายทั้งเรื่องราวในท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เหตุการณ์สำคัญ ในช่วงเวลา ต่าง ๆ รวมถึงบทซอซึ่งแต่งขึ้นใช้เฉพาะงานประเพณีต่าง ๆ)

เป็นภาษาถิ่นล้านนาและภาษาไทยกลาง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้นักเรียนช่วยกันร้องตาม โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย จากนั้นคุณครูช่วยแปลเนื้อเพลงเป็นภาษาถิ่นล้านนาและภาษาไทยกลาง พร้อมทั้งถอดความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ได้สอดแทรกเอาไว้ให้เด็ก ๆ เข้าใจ โดยตัวอย่างเรื่องที่คุณครูสอนได้ เช่น เรื่อง pm 2.5 การดูแลผมให้สะอาด ไม่ให้มีเหา การทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย การดูแลเสื้อผ้าการแต่งกายของตนเอง ครูเติ้ลเล่าว่าได้ใช้กิจกรรมกลุ่มในการถอดความรู้ ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าจากที่ได้ฟังเพื่อนแสดง นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสุขภาวะด้านใด และแบ่งแต่ละกลุ่มศึกษาลงพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น


  • หลังจากนั้นลองให้เด็ก ๆ แต่งเพลงค่าวจ๊อยซอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี แล้วไปแสดงให้รุ่นน้องร่วมโรงเรียนฟัง


เกิดเป็นคนต้องหมั่นออกกำลังกาย จะได้มีกำลังวังชาเหมือนเดิมไม่เสื่อมคลาย ร่างกายจะได้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้ลดอาหารรสจัด อาหารหวาน อาหารเผ็ดจัด อาหารเค็ม อาหารหมักดองซึ่งอาหารเหล่านี้จะเกิดผลเสียต่อร่างกาย

ในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีมากมาย เราต้องรักตัวเองและรักษาสุขภาพของตัวเอง ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดี ต้องเลือกทานอาหารมีประโยชน์ ลดอาหารหมักดอง บุหรี่ เหล้า อาหารหวาน อาหารเผ็ดจัด อาหารเค็ม ถ้าลดอาหารเหล่านี้ได้ ก็จะห่างไกลจากความหวาน ความดัน (เพลงอยู่ดีมีแฮงแต่งโดยนักเรียนในชั้นครูเติ้ล)


  • นอกจากนั้น คุณครูยังสามารถให้เด็ก ๆ ไปร้องเพลงที่ตนแต่งขึ้นให้ผู้ใหญ่และปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนฟัง เพราะผู้ใหญ่ในชุมชนส่วนมากสามารถสื่อสารภาษาถิ่นล้านนาได้ดี เพื่อให้ผู้ใหญ่ในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี จนปลูกฝังแนวคิดที่ดีแบบนี้สู่ลูกหลานในครัวเรือนของตนเอง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่และปราชญ์ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนความรู้ที่ตนเชี่ยวชาญให้กับเด็ก ๆ เช่น ความรู้เรื่องตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านอีกด้วย


ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับตัวเด็ก ๆ พวกเขารู้สึกภูมิใจตัวเอง เพราะได้เรียนรู้ภาษาไทยกลางไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติตนให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นแบบยั่งยืน เพราะพวกเขาเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ทำตามคำสั่งหรือข้อห้ามของคุณครู ซึ่งถ้าเป็นกรณีนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน 


ครูเติ้ลเล่าให้ฟังอีกว่าการแสดงเพลงพื้นบ้านของพวกเขายังต่อยอดไปสู่การแข่งขันนอกโรงเรียน โดยตัวแทนของนักเรียนที่ได้ไปแข่งที่กรุงเทพฯ รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก ๆ ที่ได้นำวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของตนไปเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้ ได้ตอบคำถามและได้มีคนมาขอถ่ายรูป


ทั้งนี้ แม้ว่ากิจกรรมจะมีความน่าสนใจมากขนาดไหน บางครั้งก็ยังมีเด็ก ๆ ที่ไม่ได้สนุกไปกิจกรรมเท่า ๆ กับเพื่อนคนอื่น ครูเติ้ลจึงแนะนำให้สอนภาษาไทยกลางผ่านการใช้สื่อการเรียนการสอน เพราะเด็ก ๆ จะชอบการเรียนรู้จากสื่อมากกว่าในตำรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้ลงมือสร้างสื่อด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เขาเกิดความภูมิใจในตัวเองและทำให้สิ่งที่ได้เรียนรู้ติดแน่นอยู่ในความทรงจำมากขึ้น


สุดท้ายนี้ ประโยคสำคัญซึ่งเป็นความมุ่งหวังอีกอย่างหนึ่งของครูเติ้ลที่เราได้เรียนรู้คือ

“การทำให้เด็ก ๆ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรู้สึกมีตัวตนในสังคมมากขึ้น” ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อความหรือแก่นสำคัญที่คุณครูท่านอื่น ๆ สามารถยึดคิดกิจกรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ 


เพราะสำหรับเด็ก ๆ แล้ว 

“ที่ที่เขามีตัวตน เขาจะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และภูมิใจกับตัวเองได้มากที่สุดเช่นกัน”


อ้างอิงข้อมูล ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/335-----m-s

บอกเล่าไอเดียโดย คุณครูอนันต์ เตชะระ จากโรงเรียนบ้านดง จังหวัดลำพูน มูลนิธิบ้านปลาดาว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)