icon
giftClose
profile

คาบหรรษา ด้วยเทคนิคม้าหมุน (Carousel Technique)

39262
ภาพประกอบไอเดีย คาบหรรษา ด้วยเทคนิคม้าหมุน (Carousel Technique)

จะเป็นอย่างไร? ถ้าลองเปลี่ยนการถามตอบ และการระดมสมองในรูปแบบปรกติ ให้เป็นการขยับกาย ขยายสมอง พร้อมหมุน ๆ ไปรอบห้อง

เมื่อให้เด็กระดมสมอง หรือตอบคำถาม

เพื่อนครูเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างหรือไม่?


"แก ๆ คิดไปนะเดี๋ยวฉันเขียนให้"

"ตอบ ๆ ไปเหอะ ยังไงก็เหมือนกัน"

"กลุ่มนู้นตอบอะไรอะ ตอบตามนั้นแหละ"


จุดประสงค์ของเราคือตั้งใจให้เด็กอภิปราย

แต่สุดท้ายคำตอบเป็นของนักเรียนในกลุ่มเพียงคนเดียว กลุ่มเดียว


เทคนิคม้าหมุน หรือ Carousel Technique อาจช่วยให้ห้องเรียนของเรามีสีสันได้

เทคนิคนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเรียนรู้แบบร่วมมือ (cooperative learning)

จุดประสงค์หลักคือให้นักเรียนได้ระดมความคิด ระดมสมอง โดยผ่านกลุ่มเล็ก และกลุ่มย่อย

สำหรับเทคนิคนี้เตรียมและใช้ไม่ยุ่งยาก โดยมีรายละเอียดดังนี้


สิ่งที่เราต้องเตรียม

มีเพียง 3 อย่างคือ


  1. ปากกาสีที่แตกต่างกัน (จำนวนสีมากน้อยตามจำนวนกลุ่มที่ต้องการ กำหนดให้ 1 กลุ่ม 1 สี)
  2. กระดาษที่มีประเด็น/ข้อคำถามสำหรับให้อภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนคิด
  3. กระดิ่งกริ๊ง ๆ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ช่วยให้สัญญาณเวลาได้


วิธีการ

  1. แบ่งกลุ่มนักเรียน ตามจำนวนข้อคำถามที่ใช้อภิปราย พร้อมแจกปากกาสีประจำกลุ่ม
  2. ให้นักเรียนอ่านคำถาม และระดมสมอง จากนั้นใช้ปากกาสีของตนเองเขียนคำตอบลงไปในกระดาษ โดยกำหนดเวลาให้ 2-5 นาที (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคำถาม)
  3. ให้สัญญาณ นักเรียนเวียนไปหากระดาษคำถามข้อต่อไป โดยที่นำปากกาสีไปด้วย จากนั้นทำซ้ำเหมือนในข้อที่ 2 โดยมีข้อแม้ว่าคำตอบไม่ให้ซ้ำกับของสีก่อนหน้า หรือให้ต่อยอดจากของเพื่อนก็ได้
  4. เมื่อวนครบรอบแล้ว นักเรียนจะกลับไปอยู่ที่กระดาษแผ่นแรก ให้นักเรียนร่วมกันพิจารณาคำตอบทั้งหมดของแต่ละกลุ่ม พร้อมกับสรุปประเด็น
  5. นำเสนอ แลกเปลี่ยนผลการอภิปรายในแต่ละข้อ


คำถามที่ใช้ควรเป็นอย่างไร?

  • เทคนิคนี้เหมาะกับการใช้คำถามปลายเปิด เนื่องจากเงื่อนไขที่ไม่ให้คำตอบซ้ำกับสีก่อนหน้าจะกระตุ้นให้เด็กนักเรียนในแต่ละกลุ่มได้พยายามคิดสรรหาคำตอบ บางครั้งมองเพลิน ๆ แล้ว ก็เหมือนเด็ก ๆ ได้ละเลงสี และความคิดลงไปในกระดาษหนึ่งแผ่น ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อสรุปประเด็นตอนท้าย นักเรียนจะได้ประเด็นคำตอบที่หลากหลาย


  • คำถามที่วัดความเข้าใจ มโนทัศน์ต่อเรื่องที่เรียน วัดทักษะการวิเคราะห์ ก็สามารถใช้ได้ เพราะบางที เด็กแต่ละกลุ่มก็จะมีความเข้าใจ หรือมุมมองที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันด้วยระยะเวลาที่จำกัดแบบคิดฉับพลัน คำตอบที่ได้อาจจะยังไม่ครบถ้วนทุกมุมมอง แต่ในท้ายที่สุดเมื่อได้คำตอบจากทุกสีก็อาจจะได้ทั้งประเด็นที่ครอบคลุม หัวข้อย่อย ตัวอย่างที่แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งนำประเด็นคำตอบมาพูดคุยกันท้ายคาบได้อีก


จำนวนนักเรียนต่อกลุ่มมากน้อยเท่าใด?

  • จากที่ลองใช้ในชั้นเรียน ความเห็นส่วนตัวคิดว่า กลุ่มละ 2-4 คนกำลังอยู่ในจำนวนที่พอเหมาะ เพราะนักเรียนได้จะได้ช่วยกันอ่าน ช่วยกันคิด ถกเถียงกัน หากเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น อาจกลายเป็นกลุ่มไทยมุงแทนได้


สิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนจากการลองใช้

  • นักเรียนในแต่ละกลุ่มได้พูดคุยและระดมความคิดเห็นกันอย่างใกล้ชิด


  • นักเรียนตื่นตัว เพราะนอกจากต้องลุ้นว่ากระดาษแผ่นต่อไปจะเจอคำถามอะไรแล้ว ต้องลุ้นต่อว่า เวลาจะหมดตอนไหน


  • ได้ฝึกทักษะทั้งการอ่าน การพูด การคิด การเขียน ไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อเดินไปถึงที่กระดาษคำถาม สิ่งแรกที่นักเรียนจะทำคืออ่านคำตอบของกลุ่มก่อนหน้า เมื่อวนครบรอบสิ่งที่เด็กต้องทำคืออ่านทำความเข้าใจ และสรุปความ ซึ่งก็จะได้ทักษะการสรุปความไปในตัว


  • กระดาษไม่พอ (5555555) เนื่องจากบ้างครั้งอาจมีกลุ่มที่ยืนหนึ่งท็อปฟอร์มใช้พื้นที่ไปทั้งหน้า ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็ต้องพยายามหาที่ว่างเติมคำตอบด้วยสีปากกาของตนเองให้ได้


เทคนิคฝาแฝด

  • เทคนิคม้าหมุน หรือ Carousel Technique นี้มีฝาแฝดที่เหมือนกันเลยคือ เทคนิคกราฟิติ (Graffiti Technique) ซึ่งทำเหมือนกันที่ว่าแต่ละกลุ่มจะได้เพิ่มเติมคำตอบ ละเลงสีและความคิดของตัวเองลงในกระดาษเหมือนงานศิลปะกราฟิติ แต่ทว่าสิ่งที่ต่างกันเพียงอย่างเดียวคือ เทคนิคกราฟิติ นักเรียนแต่ละกลุ่มจะนั่งอยู่เฉย ๆ และจะส่งกระดาษเวียนไปหาแต่ละกลุ่มแทน


ข้อมูลเพิ่มเติม

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(9)