icon
giftClose
profile
frame

เรียนความรู้ ดูความรัก: มองภาษาและชีวิตผ่านบทเพลง

41948
ภาพประกอบไอเดีย เรียนความรู้ ดูความรัก: มองภาษาและชีวิตผ่านบทเพลง

ความสดใส วัยรุ่น และความรัก เป็นของที่มักจะมาด้วยกันเสมอ จะเป็นอย่างไรถ้าใช้เพลงรักเป็นฐานในการเรียนรู้ทั้งในมุมมองของภาษา และมุมมองของความรัก

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันเสมอคือ "เทศกาลแห่งความรัก" นอกจากหัวใจ ดอกกุหลาบ ช็อกโกแลตที่เป็นสื่อแทนความรักแล้ว บทเพลงก็เป็นอีกหนี่งตัวแทนที่ถ่ายทอดทั้งอารมณ์ และความหมาย ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์จึงได้ลองใช้บทเพลงรักมาเป็นฐานความคิดของกิจกรรมในชั้นเรียนวิชาภาษากับสังคมและวัฒนธรรม (ภาษาไทยเพิ่มเติม ชั้น ม.4) โดยเชื่อมโยงกับเรื่องภาษาวรรณศิลป์


คำถามที่ใช้จุดประกายความสงสัยของนักเรียนก็คือคำถามง่าย ๆ ที่ว่า


"คิดว่าเพลงที่ไพเราะเราตัดสินจากอะไร?"


"แล้วเพลงรักดี ๆ ต้องเป็นอย่างไร?"


คำตอบที่ได้มีตั้งแต่"นักร้อง" "ทำนอง" "ความหมาย" "เนื้อหา" "อารมณ์" จนไปถึง "ตรงใจ" หรือ "ใกล้เคียงกับชีวิตจริง"

จากคำถามจุดประกายดังกล่าว จึงได้ออกแบบกิจกรรมตลอดสามสัปดาห์ (เจอกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง)

ตั้งแต่ก่อนวาเลนไทน์จนถึงหลังวาเลนไทน์ โดยใช้เพลงที่เกี่ยวกับรักเป็นฐานในการจัดกิจกรรมดังนี้


คาบที่ 1 เพลงรักกับกวีโวหาร และภาพพจน์

  • เปิดบทสนทนาด้วยคำถามจุดประกายที่ว่า "เพลงที่ไพเราะเราตัดสินจากอะไร" "เพลงรักดี ๆ ต้องเป็นอย่างไร" และ "แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเพลงนั้นสื่ออารมณ์อะไร"


  • ทบทวนประเด็นเกี่ยวกับกวีโวหาร และภาพพจน์ ฉบับสั้น ๆ โดยใช้ตัวอย่างจากเพลงต่าง ๆ


  • ทำกิจกรรมวิเคราะห์ภาพพจน์ในบทเพลงรัก ผ่านเกมใน kahoot โดยใช้ฟังก์ชั่นแทรกคลิปจากยูทูป เพื่อให้นักเรียนได้ฟังเพลงและวิเคราะห์กันข้อต่อข้อ เพลงต่อเพลง


  • ใช้เทคนิคซุบซิบปรึกษา (Buzz Group) ให้นักเรียนอภิปรายกันว่า "กวีโวหารกับภาพพจน์มีประโยชน์อย่างไร" และ "ช่วยให้เรารู้สึกถึงความหมาย หรืออารมณ์ในเพลงรักมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร"


สิ่งที่เกิดขึ้นในคาบที่ 1

  • นักเรียนตั้งใจฟังเพลงจริง ๆ และทำกิจกรรมจริง ๆ บางห้องฟังและคิดจนชนิดที่ว่าตั้งคำถามกลับมาให้เราด้วยว่า "ครูตรงนี้มันต้องใช้ภาพพจน์แบบนี้ 12345 ด้วยหรือเปล่า"


  • สิ่งแรกที่นักเรียนบอกหลังจากกิจกรรมจบ คือ "หนูไม่เคยฟังเพลงแล้วมาต้องคิด หรือตีความ ดูความหมายอะไรขนาดนี้" คำถามต่อมาที่เราโยนให้นักเรียนคิดต่อเลยคือ "แล้วการเข้าใจวิธีการใช้ภาษา หรือภาพพจน์ทำให้เราให้เข้าใจความหมาย หรืออารมณ์เพลงมากขึ้นหรือไม่" พร้อมกับย้ำคำถามจุดประกายที่ได้ถามตอนแรกอีกครั้ง ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ให้คำตอบ แต่มีนักเรียนคนหนึ่งตอบมาว่า "จากนี้หนูฟังเพลงก็คงเข้าใจความหมายขึ้นหละค่ะ"


คาบที่ 2 เพลงรักกับสัญลักษณ์ในบทเพลง

  • เปิดบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า "รถ มีความหมาย หมายถึงสิ่งใดบ้าง" จากนั้นเปิดเพลง "รถคันเก่า อะตอม-ชนกันต์" ให้นักเรียนฟัง และร่วมกันวิเคราะห์ว่า "รถคันเก่า" ในที่นี้ เกี่ยวข้องอะไรกับความรัก


  • ทบทวนประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์แบบสั้น ๆ โดยใช้ตัวอย่างจากเพลง


  • ทำกิจกรรมวิเคราะห์สัญลักษณ์ในเพลง ผ่านเทคนิคซุบซิบปรึกษา (Buzz Group) โดยมีประเด็นวิเคราะห์ในแต่ละรอบดังนี้
  1. วิเคราะห์สัญลักษณ์และความหมาย "ดอกซ่อนกลิ่น" ในเพลงซ่อนกลิ่น-ปาล์มมี่
  2. วิเคราะห์สัญลักษณ์ของความรักผ่านตัวละครในมิวสิควิดีโอเพลงฟัง – SIN feat.โอม Cocktail


  • แลกเปลี่ยนประเด็นการวิเคราะห์ในชั้นเรียน และพูดคุยถึงประเด็นความรักที่ปรากฎผ่านบทเพลง


สิ่งที่เกิดขึ้นในคาบที่ 2

  • ก่อนเริ่มเรียนนักเรียนถามก่อนเลยว่า "คาบนี้มีเพลงไหมคะครู หนูอยากฟังอีก"


  • นักเรียนเข้าใจความหมายของรถ กับความรักทันทีเมื่อฟังเพลงจบ โดยไม่ต้องอธิบาย นั่นเป็นเพราะนักเรียนมีประสบการณ์ร่วมคือ ทั้งเคยฟัง และเคยเป็นรถคันเก่าของใครบางคน


  • "หูววววววววววววว" นี่คือเสียงของนักเรียนในบางห้อง หลังจากที่ได้ฟังคำตอบ และประเด็นการวิเคราะห์ ซึ่ง "หูวววววววววววว" ในที่นี้มีทั้ง "คาดไม่ถึงกับคำตอบเพื่อน" และ "คิดไม่ถึงว่ามีอะไรซ่อนอยู่ขนาดนี้ก็รู้ว่าแค่เพลงมันเพราะแหละ"


  • นักเรียนหลายคนที่ในห้องดูเฮ้ว ๆ กลับวิเคราะห์สัญลักษณ์ในเพลงได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทุกประการ โดยเฉพาะในเพลงฟัง ที่เขาสามารถบอกได้ว่าตัวละครในมิวสิควิดีโอเป็นตัวแทนของ "ความรักต่างเชื้อชาติ" "ความรักที่ไม่จำกัดเพศ" "ความรักที่ไม่จำกัดรูปร่างหน้าตา" และ "ความรักในตัวเอง" ซึ่งเราก็โยนประเด็นกลับไปทันทีว่า แล้วความรักเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดปรกติหรือเปล่า... ไม่มีคำตอบ แต่เรารู้ได้ว่า เขาเองได้ตอบไปในใจแล้วเรียบร้อย


  • นักเรียนคนหนึ่งบอกกับเราตอนท้ายคาบว่า "ไม่คิดว่าเพลงรักของไทยก็มีอะไรดี ๆ แบบนี้อยู่เหมือนกัน ทำไมหนูไม่เคยฟังมาก่อน ไม่เคยคิดมาก่อน"



คาบที่ 3 เพลงรักกับอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในบทเพลง

  • แจกกระดาษเป็น Check in Ticket แล้วให้นักเรียนเขียนแสดงความคิดเห็นว่า นักเรียนเปรียบความรักเหมือนกับสิ่งใด เพราะอะไร? จากนั้นให้นักเรียนได้ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่ยังไม่ค่อยได้คุยกันในวันนั้น เพื่อเช็กอินเข้าห้องเรียน


  • ให้นักเรียนฟังเพลง good morning teacher-อะตอม ชนกันต์ พร้อมกับช่วยกันวิเคราะห์ว่า ในเพลงดังกล่าวเปรียบความรักเป็นสิ่งใด และนักเรียนสังเกตจากส่วนใด


  • เชื่อมโยงประเด็นการเปรียบเทียบความรักกับเรื่องอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ โดยยกตัวอย่างจากเพลงที่ได้วิเคราะห์ และยกตัวอย่างเพลงอื่น ๆ ประกอบ


  • ใช้เทคนิค Think pair share ในการวิเคราะห์อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับความรักในบทเพลงหมอกร้าย จากนั้นให้แต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนคำตอบกัน


  • อภิปรายท้ายคาบในประเด็นที่ว่า "ในมโนทัศน์หรือความคิดคนไทยเปรียบความรักเป็นสิ่งใด" ซึ่งประเด็นตรงนี้นักเรียนสรุปประเด็นได้ว่า คนไทยเปรียบความรักเป็นสิ่งของ และการเดินทางมากที่สุด จากนั้นจึงใช้กระดาษที่แจกตอนเข้าเรียนเป็น Exit Ticket โดยมีประเด็นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นว่า "หากความรักเป็นสิ่งของ หรือการเดินทาง นักเรียนจะส่งต่อความรัก หรือเดินทางในเส้นทางของความรักกับใครได้บ้าง?"


สิ่งที่เกิดขึ้นในคาบที่ 3

  • ในต้นคาบนักเรียนมีมุมมองความรักอย่างหลากหลายน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น "ความรักเหมือนหนังสือ เพราะถ้าไม่เปิดอ่านก็จะไม่เข้าใจ" "ความรักเหมือนแท็กซี่ถึงจะว่าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะรับไหม" "ความรักเหมือนกะเพราไข่ดาว เพราะของที่ต้องคู่กัน อย่างไรก็ต้องคู่กัน" หรือแม้แต่ "ความรักคือภาระ เพราะทุกวันนี้ใช้ชีวิตก็หนักแล้ว ถ้าหามาเพิ่มอีกก็คงยิ่งเป็นภาระ" ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ที่ต่างกัน เราเองก็ไม่ได้บอกว่าความคิดไหนผิด ความคิดไหนถูก เพราะทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรานิยาม #ความรักก็เช่นกัน


  • นักเรียนฟังเพลงและตอบได้ทันทีว่า ความรักในแต่ละเพลงเขาเปรียบได้กับอะไร ไม่ว่าจะเป็น "ความรักคือการเรียนรู้" "ความรักคือการเดินทาง" "ความรักคือสิ่งของ" แม้ในแต่ละเพลงจะไม่ได้พูดออกมาอย่างตรง ๆ แต่นักเรียนก็อธิบายได้ว่ามีวิธีคิดอย่างไร


  • หลังจากที่โยนคำถามให้นักเรียนผ่าน Exit ticket หลายคนก็บอกได้ว่าให้ครอบครัว ให้เพื่อน ให้ครู ให้คนรัก เป็นปรกติ แต่มี นักเรียนคนหนึ่งก็ถามกลับมาด้วยคำถามธรรมดาที่ไม่ธรรมดาว่า "แล้วให้ตัวเราเองได้ไหม?" นั่นสินะ ดังนั้นเราจึงตอบคำถามด้วยคำถามที่ว่า "แล้วก่อนที่เราจะรักใครสักคน เราควรรักใครก่อนหละ?"


ถอดบทเรียนจากกิจกรรม

  • การใช้เพลงในกิจกรรม ยังไง๊ยังไงก็ยังเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลอยู่ เป็นอกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลาอยู่ดี แต่เพลงที่เรานำมาใช้นั้นก็ควรที่จะเป็นเพลงที่ร่วมสมัย หรือนักเรียนมีประสบการณ์ร่วม ยิ่งเพลงเข้าถึง หรือใกล้ชิดนักเรียนเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับเรามากขึ้น


  • เพลงเป็นสื่อที่ยังคงสอนให้ทั้งความรู้ และใช้เป็นกระจกส่องดูชีวิตได้ เพราะในเพลงนอกจากภาษา การร้อยเรียงประโยค การใช้ถ้อยคำแล้ว ความหมายในเพลงก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่นำมาใช้พูดคุยกันได้อย่างไม่จบสิ้น


  • การนำเพลงมาใช้เป็นสื่อชวนวิเคราะห์ "ยิ่งลึก ยิ่งสนุก" เพราะแค่ฟังใคร ๆ ก็ฟัง แต่ถ้าชวนคิด นาน ๆ จะมีที


  • ถ้าชวนเด็กวิเคราะห์มุมมองความรักผ่านศิลปินแต่ละคน ก็คงจะสนุกไม่น้อย เพราะจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งภาษา และวิธีคิดของศิลปินแต่ละคน
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(14)
เก็บไว้อ่าน
(19)