icon
giftClose
profile

Homeroom "เล่นใหญ่" ไว้ก่อน ครู (ชั้น 8) บอกไว้

46411
ภาพประกอบไอเดีย Homeroom "เล่นใหญ่" ไว้ก่อน ครู (ชั้น 8) บอกไว้

ทำไมคาบโฮมรูม กิจกรรมต้อง "เล่นใหญ่" ขนาดนี้กันนะ

“ทุกคน เรามาทำเพลงต้อนรับนักเรียนกลับมาตอนเปิดเทอมกันเถอะ” การประชุมประจำชั้น 8 (ระดับชั้น ม.2) ออนไลน์เริ่มต้นขึ้นด้วยไอเดียอันแสนบรรเจิด เราฟังแล้วก็ได้แต่อึ้งนิดหน่อยว่าเราจะทำกันจริง ๆ หรือ แล้วมันจะออกมาเป็นรูปแบบใดในเมื่อครูประจำชั้นทั้ง 8 คน ต่างก็ work from home กันหมด ทุกคนจึงลงความเห็นกันว่าต่างคนต่างอัดเสียงดนตรี และเสียงร้องแยกกันมาโดยมี “เรา” ผู้รับบทโปรดิวเซอร์จำเป็นรวมเพลงให้ แต่การทำเพลงมันไม่ได้หยุดอยู่ที่การรวมเพลงนี่สิ เพราะวันต่อมาทุกคนพร้อมใจกัน “เล่นใหญ่” ตัดสินใจทำ MV ประกอบเพลงด้วย “เราจะมีเพลงเฉยๆไม่ได้ ทำทั้งทีต้องดีไปเลย” คนที่บ้านใกล้โรงเรียนจึงนัดกันเฉพาะกิจไปถ่าย MV เราที่เข้ามาทำงานได้ไม่กี่เดือนได้แต่คิดในใจว่าอะไรที่ไม่เคยทำก็คงได้ทำที่นี่แหละ กิจกรรมโฮมรูมที่นี่ “เล่นใหญ่” ที่สุดตั้งแต่ลืมตาดูโลกเลยก็ว่าได้ ว่าแต่ทำไมมันต้องใหญ่ขนาดนี้ละเนี่ย? คุณผู้อ่านเองก็คงสงสัยเหมือนกันใช่มั้ยคะ


คาบโฮมรูมกับเวลาประมาณ 30 นาที เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือความท้าทายที่ทีมครูประจำชั้นจะต้องคิดหากิจกรรมที่สัมพันธ์กับเวลา สนุก ไม่เครียด นักเรียนได้มีส่วนร่วมทุกคนและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในคาบนั้น ๆ ซึ่งช่วงเวลาสั้น ๆ นี้เอง คือเวลาที่นักเรียนจะได้ warm up ก่อนเรียน และฝึกทักษะ Soft skills ที่นอกเหนือจากในวิชาเรียนไปวันละเล็กละน้อย โดยกิจกรรมโฮมรูมในแต่ละวันจะแบ่งออกเป็นฐานต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้ทักษะที่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน อันได้แก่


  • วันจันทร์: “ฐานคิด” เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา 
  • วันอังคาร: “ฐานสมาธิ” เป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ฝึกสมาธิ จดจ่อ 
  • วันพุธ: “ฐานฟัง” เป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ฝึกการฟัง จับใจความ และตอบคำถาม
  • วันพฤหัสบดี: “ฐานความสัมพันธ์” เป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้สร้างสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนห้องเดียวกัน เพื่อนต่างห้อง และคุณครู
  • วันศุกร์: “ฐานกาย” เป็นกิจกรรมที่ได้ออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกาย


นอกเหนือจากทักษะที่นักเรียนจะได้แล้ว ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ครูจะได้ใช้เวลาสร้างสัมพันธ์ และได้เห็นตัวตนของนักเรียนผ่านกิจกรรม เพราะนักเรียนสามารถแสดงออกได้อย่างเป็นอิสระ มีความเป็นตัวเองมากกว่าในคาบเรียน ที่อาจจะเคร่งเครียดกับเนื้อหาเสียมากกว่า 



เท่าที่กล่าวมาในมุมมองของครูกิจกรรมโฮมรูมดูมีความสำคัญมาก แล้วตัวนักเรียนเองมองเห็นความสำคัญข้อนี้หรือไม่ หรือมองแค่ว่าเป็นคาบ ๆ หนึ่งที่เข้ามาแล้วก็จบไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายและที่มาของการ “เล่นใหญ่” เข้าไว้ เราขอให้นิยามคำนี้แบบสั้น ๆ ว่า “ทำให้เด็กมันดู” 


หัวใจหลักของการ “เล่นใหญ่” คือครูต้องแอคทีฟในทุกกิจกรรมประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ และการมีทีมเวิร์ค  ในอีกนัยนึงกิจกรรมโฮมรูมจึงเป็นกิจกรรมที่พัฒนาตัวครูด้วยเช่นกัน เพราะ


  • เมื่อครูแอคทีฟและทำเป็นตัวอย่างให้ดู นักเรียนจะได้เห็นว่า แม้จะมีเวลาแค่ 30 นาที แต่ครูจริงจังกับกิจกรรมโฮมรูมทุก ๆกิจกรรม ความตั้งใจจริงของครูจะสามารถส่งสารไปถึงนักเรียนได้ ตัวนักเรียนเองก็จะเกิดความรู้สึกอยากทำและอยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ครูจัดมากขึ้น ขอยกตัวอย่างการทำ MV ประกอบเพลงที่เราพูดถึงไปข้างต้น เพราะนักเรียนถึงขั้นให้ feedback ว่า “ไม่คิดว่าครูจะมาทำอะไรบ้าๆบอๆกันขนาดนี้” เพราะพวกเราร้องเอง แต่งแรปเอง เล่นดนตรีเอง เต้นเอง กลิ้งเอง ใช่ค่ะ อ่านไม่ผิด ในเอ็มวีเราต้องกลิ้งค่ะ 


  • ทีมครูประจำชั้นจะต้องประชุมคิดกิจกรรมแต่ละฐานในแต่ละสัปดาห์ให้ไม่ซ้ำกันผ่านการหยิบจับสิ่งรอบตัวมาดัดแปลง ให้เกิดความสนุก ท้าทาย เป็นแรงเสริมให้กับนักเรียน โดยที่นักเรียนยังคงได้ทักษะในแต่ละฐานเป็นสำคัญ เช่น นำเกม “หัวท้ายตายก่อน” มารวมกับ “The Money drop” ในฐานการฟัง โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันฟังเพลง และใช้ลูกอมแทนเงินเพื่อเลือกคำตอบ หรือคิดกิจกรรมที่สามารถทำเป็นซีรีย์ เพื่อต่อยอดได้ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไปด้วย เช่น ระหว่างช่วงที่เรียนออนไลน์ ให้นักเรียนเดินสำรวจและถ่ายมุมโปรดในบ้านส่งมาใน Google Form ในฐานกาย เมื่อเปิดเรียนครูจึงนำภาพมาให้เพื่อน ๆ ทายว่าเป็นมุมโปรดของใครผ่านแอพลิเคชั่น Vonder Go ในฐานความสัมพันธ์



เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเราได้เลือกความเล่นใหญ่รัชดาลัยของ 2 กิจกรรม ซึ่งต่างก็เป็นกิจกรรมที่ครูประจำชั้นทุกคนเสนอว่าเป็นกิจกรรมที่น่าประทับใจมาแบ่งปัน เผื่อเป็นไอเดียให้ทุกคนได้เอาไปปรับใช้กัน 


1.บิงโกความสัมพันธ์


อุปกรณ์ : ตารางบิงโก 25 ช่อง 25 คำสั่ง

วิธีการเล่น : นักเรียนต้องทำตามคำสั่งของแต่ละช่องในตารางบิงโก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ เช่น โทรไปบอกรักพ่อแม่ให้ครูได้ยิน บอกขอบคุณพี่แม่บ้าน ถามสารทุกข์สุขดิบครูประจำชั้น เป็นต้น เมื่อทำสำเร็จจะต้องให้ครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเซ็นชื่อไว้เป็น หลักฐาน โดยจะต้อง “บิงโก” อย่างน้อย 2 แนวภายในเวลาที่กำหนด

ความประทับใจ : เมื่อนักเรียนต้องโทรไปบอกรักผู้ปกครองก็ดูมีอาการเขิน ๆ บ้าง ผู้ปกครองเองก็คงตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก แต่ก็นับว่าเป็นมุมน่ารักของนักเรียนที่ได้พัฒนาด้านการมีปฏิสัมพันธ์ กล้าเข้าหาครู กล้าเข้าหาพี่แม่บ้าน และตั้งใจทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก 


2.Plearn’s Got Talent


อุปกรณ์ : นักเรียนเตรียมตามการแสดงของตนเอง

วิธีการเล่น : นักเรียนแสดงความสามารถพิเศษอะไรก็ได้ที่นักเรียนมองว่าเป็นสิ่งที่ถนัดและชอบ โดยจะแสดงเดี่ยว คู่ หรือกลุ่มก็ได้ เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วนักเรียนจะต้องเขียนบอกเล่าความประทับใจที่มีต่อการแสดงของเพื่อน ๆ

ความประทับใจ : ครูได้เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้แสดงความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่การร้อง การเต้น นักเรียนบางคนก็เล่นเกม บางคนวาดรูป บางคนก็ “กิน” โชว์ ทำให้นักเรียนรู้จักแสดงการชื่นชมเพื่อน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน


          “ดี เวิร์ค โอเค เยี่ยม เริ่ด” คือ คำของครูแต่ละท่านแทนความรู้สึกที่มีต่อกิจกรรมโฮมรูม ถ้าให้เพิ่มเติมไปได้อีกคำ คงจะเป็น คำว่า “เหนื่อย” แต่แรงใจสำคัญที่ทำให้คุณครูเล่นใหญ่ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อนั้นก็คงเป็นการที่ได้เห็นนักเรียนมีความสุขและพัฒนาตัวเองขึ้นในทุก ๆ วันผ่านกิจกรรมที่ได้ร่วมกันระดมความคิดและรวมพลังในการสร้างสรรค์ มันจึงเป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าอยู่เสมอ เพราะการเล่นใหญ่ของครูทำให้เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าของนักเรียน 


       ป.ล. บทความนี้แด่เพื่อนร่วมงานที่น่ารักทุกคนนะคะ ขอบคุณที่เปิดประสบการณ์และร่วมเล่นใหญ่กันไปในทุก ๆ สัปดาห์ค่ะ:)



ไอเดียจาก: ครูเนส ครูอุ้ม ครูพัด ครูน้ำ ครูนุก ครูอิง ครูเมย์

ครูประจำชั้น 8 โรงเรียนเพลินพัฒนา

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(6)