icon
giftClose
profile

สอนให้นักเรียนเป็นเจ้าของงานเขียนของตัวเอง

57412
ภาพประกอบไอเดีย สอนให้นักเรียนเป็นเจ้าของงานเขียนของตัวเอง

“เด็กจะมีเป้าหมายต่อ ถ้าเขาพบว่าอะไรสำคัญ” สอนให้นักเรียนเขียนเรียงความทบทวนตัวเอง เพื่อค้นหาคำสำคัญในชีวิตพวกเขา จาก 50 รายชื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

ครูแข อัมพิกา ไกรอ่ำ ดีกรีครูภาษาไทย 39 ปี ปัจจุบันสอนอยู่ที่โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม จังหวัดพะเยา ชวนนักเรียนมาแลกเปลี่ยนความรู้สึกต่อการเขียนเรียงความ เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน และหาวิธีขจัด “ความไม่อยากเขียน” ของนักเรียน

ครูแขเล่าว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบเขียน เพราะไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เริ่มจากตรงไหน หรือไปจบที่ตรงไหน ซึ่งครูแขที่ควบอาชีพนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับนิตยสารชื่อดังอย่างสกุลไทยและคู่สร้างคู่สมก็เข้าใจสถานการณ์ของนักเรียนเป็นอย่างดี

“ครูเริ่มเข้าใจเด็กว่าอาการเขียนไม่ออกมันเป็นยังไง บางทีเขาอาจจะไปยึดติดกับกรอบมากเกินไป บางทีเด็กเขียนงานส่งครูถูกคอมเมนต์จนสูญเสียความเป็นตัวเอง จนเขาสูญเสียความมั่นใจ”

วิธีที่ครูแขนำมาใช้สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนเรียงความให้เด็กมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน

แต่ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนแรก ครูแขจะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ โดยการนำงานเขียนของตัวเองมากางให้นักเรียนอ่าน อธิบายให้ทุกคนเห็นภาพว่าสิ่งที่ครูเขียนไม่ได้มีอะไรไปกว่าบรรยายสิ่งที่เห็นหรือรู้สึก

Step 1 : เขียน 50 รายชื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเรา 50 รายชื่อนั้นอาจจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ละคร สถานที่ บุคคล สัตว์ คำพูด บทกวี สถานการณ์ กิจกรรม หนังสือ นิทาน เรื่องเล่า 

Step 2 : เขียนลงในกระดาษคร่าวๆ ว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร 

Step 3 : ชวนคุย แบ่งปันความรู้สึกตอนได้ทบทวน เล่าการเปลี่ยนแปลงในชีวิตว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร อาจบอกเป็นช่วง ๆ

Step 4 : เรื่องราวเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างไร ลองเขียนเล่าเรื่องราว และอย่าลืมตั้งชื่อเรื่องด้วยนะ ส่วนใครอยากวาดภาพประกอบด้วยได้เลย เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ให้นักเรียนได้มาแบ่งปันเรื่องราว เล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง

เมื่อถามครูแขว่านักเรียนยอมเปลือยความรู้สึกที่จริงใจให้ครูฟังแล้ว ครูจะตัดสินและให้คะแนนเด็กอย่างไร?

ครูแขก็ได้ตอบว่า “ครูจะไม่ตัดสินงานเขียน แต่จะมีแพทเทิร์นกว้างๆ ที่ค่อนไปทางสารคดี เช่น ต้องมีชื่อเรื่อง มีชื่อคนเขียน อย่างน้อยมี 3 ย่อหน้า ได้แก่ บทนำ เนื้อหาและย่อหน้าปิดเรื่อง ซึ่งจะปิดด้วยการสรุปเรื่อง คำคม หรือแค่ประโยคเดียวก็ได้”

สิ่งที่นักเรียนจะได้กลับไปหลังจากที่ครูตรวจ ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ต้องไปทำตาม แต่เป็นคำถามชวนคิดกระตุ้นให้นักเรียนมองเห็นใจความที่ซุกซ่อนไว้แต่ยังไม่ถูกพูดถึง เพื่อให้พวกเขาเติมประเด็นที่เว้นว่างให้สมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเธอก็รับฟังทุกการโต้แย้งของนักเรียน 

ประโยคที่ครูแขมักใช้คอมเมนต์งานนักเรียนได้แก่

“ข้อความโดนใจ ทรงพลัง”

“ภาษาดีมองเห็นภาพชัดเจน”

“ขยายข้อความตรงนี้อีกจะดีมาก”

“ชอบคำนี้”

“ใช้คำซ้ำๆ กัน ลองทบทวนอีกครั้งนะ”

“วกวนไปหน่อยตรงนี้ตัดออกได้ ข้อความทั้งหมดยังชัดเจน (ถ้าอยากตัด)”

“คอมเมนต์ของครู เธอไม่ต้องแก้ตามก็ได้ เพราะมันเป็นงานเขียนของเธอ”

ครูแขเล่าทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เธอนำกิจกรรม 50 รายชื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาประยุกต์ในการสอนนักเรียนนั้นคือ ตอนที่เธอโหมทำงานหนักจนป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ 4-5 ปี

ตอนนั้นเธอคิดแค่ว่าอยากจะทำทุกอย่างให้คุ้มเวลาที่มีอยู่ เมื่อป่วยเข้าเธอก็ได้ค้นพบว่าสิ่งที่เธอให้คุณค่าคือสุขภาพและสมดุลชีวิต

เธอจึงให้ความสำคัญกับออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนทบทวนตัวเอง ค้นหาคุณค่าและคำสำคัญในชีวิตของพวกเขาให้เจอ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีเป้าหมายและมองเห็นทิศทางในการมุ่งไปข้างหน้า

บอกเล่าไอเดียโดย : ครูแข อัมพิกา ไกรอ่ำ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(18)
เก็บไว้อ่าน
(23)