icon
giftClose
profile

โมเดลเชื่อมสัมพันธ์ฉันและเธอ

24785
ภาพประกอบไอเดีย โมเดลเชื่อมสัมพันธ์ฉันและเธอ

เมื่อคุณครูต้องย้ายโรงเรียน และสอนเนื้อหาที่ท้าทาย จะทำอย่างไรให้นักเรียนเปิดใจเรียนรู้และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียนไปด้วย

นักเรียนใหม่ บรรยากาศใหม่ ทุกอย่างดูใหม่ไปเสียหมดสำหรับการย้ายมาทำงานที่โรงเรียนใหม่ของครูคัต ด้วยพื้นเพของนักเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนเดิม เพิ่มเติมคือความท้าทายที่ต้องสอนเนื้อหาที่นักเรียนต่างก็บ่นอุบว่ายากเหลือเกิน แต่ในเมื่อหน้าที่ของครูคือ การสอน เราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้นักเรียนเปิดใจให้กับการเรียนควบคู่ไปกับการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน 


“โทรโพสเฟียร์ สตราโทสเฟียร์ มีโซสเฟียร์ เทอร์โมสเฟียร์ เอกโพสเฟียร์” เชื่อว่าหลายๆคนคงต้องเคยท่องชื่อชั้นบรรยากาศเหล่านี้ในคาบเรียนวิทยาศาตร์กันมาบ้าง และก็คงมีคำถามในใจว่า "เราท่องกันไปทำไม" "ท่องไปเพื่ออะไรไม่เคยมีใครบอก" สำหรับตัวคุณครูเองนี่คือ โจทย์ที่ต้องตอบ


สำหรับครูคัต “การลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง” คือคำตอบที่ดีที่สุด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโมเดลชั้นบรรยากาศสามมิติจากวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านการใช้หลัก STEAM Design Process ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ กระบวนการนี้นักเรียนจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์ และ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลงาน


ขั้นแรกนักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องออกแบบโมเดลของตนเอง โดยที่ครูจะยังไม่อธิบายเนื้อหาใด ๆ นักเรียนจะต้องศึกษาความรู้และตั้งคำถาม (Ask) เรื่องของชั้นบรรยากาศด้วยตนเองทั้งหมด เช่น ความสูงของแต่ละชั้นจากพื้นโลก เครื่องบินบินอยู่ชั้นไหน เป็นต้น จากนั้นจึงออกแบบด้วยจินตนาการ (Imagine) ว่าอยากให้โมเดลออกมาในรูปแบบใด ก่อนจะวางแผน (Plan) ว่าจะสร้างโมเดลนี้อย่างไร ใช้วัสดุอะไรบ้าง โดยครูจะจัดหาวัสดุที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ เช่น ฟองน้ำล้างจาน กล่องลังนม ดินน้ำมัน ปืนกาว ระหว่างกระบวนการการลงมือสร้างโมเดล (Create) ครูเองก็จะลงมือทำโมเดลไปพร้อม ๆ กับนักเรียน เพื่อทำเป็นแบบอย่าง คอยให้คำปรึกษานักเรียนไปด้วย หลังจากสร้างโมเดลออกมาแล้วครูจึงจะสอนและอธิบายเนื้อหากับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้คิดสะท้อน และออกแบบใหม่ (Reflect & Redesign) อีกครั้งนึง 


ระหว่างกระบวนการการทำงาน ครูจะได้เห็นผลลัพธ์และสามารถประเมินนักเรียนได้ในหลายแง่มุม ทำให้เกิดการ “เชื่อมสัมพันธ์ฉันและเธอ” ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง

  1. ครูและนักเรียน: ครูรู้จักเด็ก และเด็กรู้จักครูมากขึ้น ผ่านการพูดคุยสื่อสาร การให้คำแนะนำ และการสังเกต นักเรียนบางคนอาจไม่ชอบการนั่งฟังบรรยาย หรือมักปลีกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน เมื่อมองโดยผิวเผินอาจทำให้เราด่วนตัดสินว่าเขาไม่รักเรียน ไม่ตั้งใจ หรือเป็นเด็กมีปัญหา แต่เมื่อลองเปลี่ยนรูปแบบการสอน ให้ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม นักเรียนกลับมีความตั้งใจและความรับผิดชอบต่อชิ้นงาน 
  2. นักเรียนและตนเอง: นักเรียนได้สำรวจความชอบของตนเองผ่านหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบในกลุ่ม บางคนอาจจะชอบอยู่เบื้องหน้าเพื่อนำเสนอผลงาน บางคนอาจจะชอบอยู่เบื้องหลังลงมือสร้างโมเดล นักเรียนก็เกิดความภูมิใจเมื่อรู้ว่าตนเองมีทักษะอะไร ครูสามารถเป็นผู้ช่วยกระตุ้นเมื่อเห็นนักเรียนไม่มีส่วนร่วมในกลุ่ม นั่นอาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไร
  3. เพื่อนและเพื่อน: นักเรียนรู้จักกันและกันมากขึ้นผ่านการแบ่งหน้าที่ในกลุ่ม มองเห็นจุดเด่นของเพื่อน เป็นการฝึกการสังเกต และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมทั้งได้ฝึกฝนทักษะในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นผ่านการถกเถียงกันในกลุ่ม




เมื่อกระบวนการการทำโมเดลเสร็จสิ้น แน่นอนว่าต้องมีการประเมินความรู้นักเรียน โดยเป้าหมายของครูอาจเริ่มจากอะไรง่าย ๆ ก่อน อาจเป็นการถามตอบคำถามสั้นๆ แบบฝึกหัดง่ายๆ เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ เช่น หาหลักการจำชื่อชั้นบรรยากาศแบบตลก ๆ ให้นักเรียนท่องจำ การประเมินผลในขั้นแรกไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยาก หรือทำให้นักเรียนรู้สึกว่าหนักเกินไป เพื่อให้นักเรียนค่อย ๆ เปิดใจต่อการเรียนรู้ หลังจากนั้นเราจึงจะสามารถต่อยอดไปยังเนื้อหาอื่นได้อีกมากมาย 


ความสัมพันธ์ฉันและเธอจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการเอาใจใส่ และการสังเกตจากคุณครู การให้นักเรียนสร้างโมเดลของครูคัตที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญทั่วไป กลับกลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้ครูรู้จักนักเรียนมากขึ้น หากจะบอกว่าหน้าที่ของครูมีแค่หน้างานสอนเท่านั้นคงไม่ใช่ สำหรับเรา การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียนนั้นก็ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของครูเช่นกัน สำหรับนักเรียนเองคงไม่มีอะไรให้น่าดีใจไปกว่าการมีครูที่คอยสังเกต และสะท้อนให้เห็นความสามารถในตัวพวกเขา เราเชื่อว่าคำชื่นชม การไม่ด่วนตัดสิน คือ แรงผลักดันที่จะทำนักเรียนเกิดความภูมิใจในตนเองและกล้าที่จะเรียนรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ


ชั้นเรียนที่ประสบความสำเร็จคืออะไร ชั้นเรียนที่นักเรียนสอบผ่าน ได้เกรดดีทุกคนเท่านั้นหรือ เรากลับมองว่าชั้นเรียนที่นักเรียนเปิดใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ก็ถือเป็นชั้นเรียนที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน


ไอเดียโดย ครูคัต บัญญัติ ยะวัน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(2)