icon
giftClose
profile

3 กิจกรรมที่สอนให้เด็กเคารพและโอบอุ้มความหลากหลาย

66793
ภาพประกอบไอเดีย 3 กิจกรรมที่สอนให้เด็กเคารพและโอบอุ้มความหลากหลาย

“อีตุ๊ด” “อีดำ” “อีลูกกำพร้า” หลายครั้งที่ถ้อยคำเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อ และมันก็กลายมาเป็นคำล้อเลียนที่เด็กๆ หยิบมาใช้ต่อเพื่อความขำขัน แต่มันไม่เคยตลก สำหรับคนที่ถูกผลักให้รู้สึกแตกต่าง

ในเวิร์คช็อป “วงคุ้ย” พื้นที่แบ่งปันไอเดียของคุณครู ที่ insKru เพิ่งปิดรับสมัครไป ครูจอย ธิติมา ปิ่นแก้ว จากโรงเรียนบ้านตาดโนนทองหลาง อุดรธานี ครูจบใหม่ไฟแรงอายุ 26 ปี ได้แบ่งปันเรื่องราวที่น่าประทับใจเกี่ยวกับ “เด็กชายอั้ม” ให้เราฟัง

อั้มเป็นนักเรียนชายชั้น ป.3 สิ่งแรกที่ครูจอยสังเกตเห็นคือเสื้อนักเรียนของอั้มขาดเป็นทางตั้งแต่รักแร้ถึงชายเสื้อ เธอจึงรับบริจาคชุดนักเรียนมาให้อั้ม

และครูจอยก็ได้รู้ว่าอั้มไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เขาอาศัยอยู่กับญาติ แต่ก็มีเหตุให้ต้องย้ายไปมาอยู่เรื่อย เหตุผลล่าสุดคือคุณย่าของอั้มไม่สามารถเลี้ยงดูอั้มได้ จึงติดต่อโรงเรียนให้เรียกพ่อที่ติดสุรากลับมารับอั้มไปดูแล

พฤติกรรมของอั้มที่โรงเรียนคือเป็นพวกที่ชอบแกล้งเพื่อน และชอบแย่งขนมเพื่อนเพราะเขาไม่มีเงินซื้อ วันหนึ่งตอนที่อั้มตีเพื่อน ครูจอยเผลอตีอั้มกลับไป

รีแอคชั่นของอ้ำที่ส่งกลับมา คือใบหน้าสำนึกผิด และน้ำตาที่คลอเบ้า นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ครูจอยรู้สึกผิดที่สุดในชีวิตการเป็นครู และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอไม่ตีเด็กอีกเลย 

ครูจอยก็เปลี่ยนมาใช้วิธีจับมือนักเรียนและมองตาเขา พร้อมอธิบายเหตุผล “ครูรู้ว่าอั้มแค่อยากเล่นกับเพื่อน แต่เพื่อนเขาเจ็บนะ เราต้องเล่นกันเบาๆนะ”

จากกรณีของอั้ม ทำให้ครูจอยได้เรียนรู้ว่า มีเด็กหลายคนที่ไม่รู้จักวิธีผูกสัมพันธ์อย่างเป็นมิตร จึงใช้วิธีการกลั่นแกล้งเพื่อข้าหาเพื่อน

เธอออกแบบกิจกรรมในห้องเรียนโดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้งขึ้น ฝึกให้เขาเคารพความแตกต่างและโอบอุ้มความหลากหลาย และการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะครูจอยมองว่าพฤติกรรมไม่ถูกต้องของเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากการเรียกร้องความสนใจและรู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง 

จึงเกิดเป็นห้องเรียนแห่งความสุข Happy Classroom “การเรียนรู้เริ่มต้นจากการที่เด็กๆ อยากมาโรงเรียน และการที่พวกเขาสนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบนี้จะยั่งยืนและมีความสุขกว่าการฟังครูสอนอย่างเดียว”

วันนี้เราได้เลือก 3 กิจกรรมที่ครูจอยใช้มาแบ่งปันไอเดียให้ครูคนอื่นนำไปใช้ต่อ

1. กิจกรรม Frame of Feeling 

ครูจอยตัดฟิวเจอร์บอร์ดให้มีลักษณะเหมือนเฟรมกล้อง แจกให้นักเรียนคนละเฟรม แล้วให้นักเรียนเอาเฟรมเดินส่องในพื้นที่ที่กำหนด และนำเฟรมไปแปะตรงจุดหรือมุมที่ทำงานทางความคิดกับพวกเขา

จากนั้นให้เพื่อนคนอื่นแบ่งปันว่ามองเห็นอะไร และสุดท้ายก็ให้เจ้าของเฟรมเฉลยว่าเขามองสิ่งนั้นอย่างไร แล้วเรียกนักเรียนมาคุยในวงใหญ่ว่าทำไมถึงมองไม่เหมือนกัน

https://www.facebook.com/100000954205188/posts/4162143127160786/

ข้อคิดแรกที่ครูจะแทรกให้คือการทำความเข้าใจและชี้ให้เห็นเสน่ห์ของความแตกต่าง ทั้งด้านกายภาพ วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ โยงจากการที่แต่ละคนมีไอเดียต่อสิ่งในเฟรมต่างกันมันต่อยอดความคิดไปได้ไกลอย่างน่ามหัศจรรย์ ความหลากหลายนี่เองที่ทำให้มนุษย์น่าสนใจ

ข้อคิดที่สองคือให้นึกถึงใจเขาใจเรา ครูยกตัวอย่างว่า ในห้องมีนักเรียนคนหนึ่งที่โดนเพื่อนล้อว่า “อีตุ๊ด อีกะเทย” โยงไปว่าสิ่งที่เรามอง สิ่งที่เรารู้สึก มันอาจจะตลก แต่อีกมุมหนึ่งของเพื่อนเขาอาจจะกลับบ้านไปร้องไห้ทุกวันก็ได้นะ

ซึ่งปัญหานี้ครูจอยก็เชียร์ให้เด็กๆ แชร์ความรู้สึกกับเพื่อนให้มากขึ้น เพราะในวัยนี้บางคนเขาอาจจะยังคิดไม่ได้จริงๆ ว่าสิ่งที่ทำมันสร้างบาดแผลให้คนอื่น

https://www.facebook.com/100000954205188/posts/4162143127160786/


2. กิจกรรม MANDALA 

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมศิลปะบำบัดเพื่อการฝึกสมาธิและรับฟังตัวเอง ควรแบ่งเป็นกลุ่มไม่เกิน 10 คน วิธีการคือให้นักเรียนค่อยๆ นำสิ่งของเข้ามาวางในกรอบหรือพื้นที่เล็กๆ ที่กำหนดไว้ ด้วยท่าทีที่สงบที่สุด และห้ามพูดคุยกับเพื่อน

โดยสิ่งของที่นักเรียนเอามาวางอาจเป็นสิ่งที่ครูเตรียมให้ หรืออาจปล่อยให้นักเรียนออกไปนอกห้องเพื่อหาของที่สื่อความเป็นตัวเองก็ได้

หลังจากวางดอกไม้ ใบหญ้า กิ่งไม้เสร็จแล้ว ก็ให้ผู้เรียนตกตะกอนความคิด สะท้อนให้เพื่อนฟังที่ละขั้นตอน เช่น ตอนวางคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ตอนมองผลงานที่สร้างร่วมกับเพื่อนตนเองเห็นอะไร แล้วรู้สึกอย่างไร

กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยฝึกสมาธิแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้ทำความรู้จักวิธีคิดและมุมมองของเพื่อนคนอื่นด้วย



3. กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ 

เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนสองคนจับคู่กัน เพื่อถามตอบเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของกันและกัน ทั้งคู่จะได้เป็นทั้ง “คนถาม” และ “คนตอบ” ไปพร้อมกัน

ขณะที่ทำหน้าที่คนถามนักเรียนต้องถามคำถามเกี่ยวกับตัวตนของเพื่อน เช่น “งานอดิเรกของเธอคืออะไร?” และจดลงในกระดาษ จากนั้นคนที่ตอบจะผลัดไปเป็นคนถาม ทำแบบนี้สลับกันไปจนครบเวลาหรือครบจำนวนข้อ

เมื่อขั้นตอนการถามสิ้นสุดลง กระดาษคำตอบจะถูกแปะไว้ที่เจ้าของคำตอบ จากนั้นให้นักเรียนเดินวนไปรอบห้องเพื่อทำความรู้จักตัวตนของเพื่อน และให้นักเรียนแบ่งปันความรู้สึกหลังทำ ซึ่งกิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้นักเรียนรู้จักกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย


https://www.facebook.com/100000954205188/posts/4291896317518799/

นอกจาก 3 กิจกรรมที่ได้กล่าวไปครูจอยยังมีกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยให้เธอรู้จักนักเรียนของตัวเองมากขึ้นอีก 1 กิจกรรม นั่นคือการวาดภาพระบายสีตามโจทย์ที่ให้ ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งรอบตัวเขา เช่น ต้นไม้ โรงเรียน บ้าน

“อยากรู้ว่าพื้นฐานครอบครัวของเด็กเป็นยังไง ให้วาดบ้านหนึ่งหลัง จากนั้นให้วาดคนในบ้าน และวาดหัวใจพิเศษให้ 1 คนในภาพ เราจะรู้ว่าเขาสนิทหรือห่างกับใครในครอบครัว” ครูจอยอธิบาย

เธอเสริมเกี่ยวกับภาพวาดของอั้มว่า ก่อนที่จะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อน อั้มชอบใช้สีดำ สีมืดๆ แต่หลังจากที่อั้มได้มีส่วนร่วม ได้พูดคุยกับเพื่อน ภาพวาดเขาก็เริ่มสดใสและมีชีวิตชีวาขึ้นเรื่อยๆ 

แต่น่าเสียดายที่อั้มจะไม่ได้อยู่ทำกิจกรรมกับเพื่อนในโรงเรียนนี้ต่อแล้ว หลังจากเหตุการณ์ที่ญาติของอั้มปรึกษากับครูว่าไม่สามารถเลี้ยงดูอั้มต่อได้ ก็ได้มีการติดต่อไปหาพ่อของอั้ม และพ่อของอั้มก็ส่งอั้มไปอยู่กับป้าของเขา

อั้มย้ายไปโดยที่ครูจอยไม่มีโอกาสได้บอกลา แต่เขาทิ้งจดหมายไว้ใต้โต๊ะเรียนว่า “ไม่อยากไปเลย ผมรู้สึกเศร้า ผมคิดถึงที่นี่ คิดถึงคนที่นี่” 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน อั้มก็ให้พี่ชายวิดีโอคอลผ่านเฟซบุ๊กมาหาครู อั้มพูดว่า “คิดถึงครูจังเลย ผมมีเพื่อนใหม่แล้วนะ ไม่ต้องเป็นห่วงผม” ครูจอยให้ความเห็นต่อเรื่องราวของอั้มว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่มีที่พึ่ง ถ้าบ้านให้ที่พึ่งไม่ได้ โรงเรียนในฐานะสถาบันที่ใกล้ชิดเขารองลงมา ก็ต้องไม่ทอดทิ้งเขา

บอกเล่าไอเดียโดย : ครูจอย ธิติมา ปิ่นแก้ว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(10)
เก็บไว้อ่าน
(11)