“การสอนวรรณคดีไทยให้สนุก และสร้างสรรค์ทำได้จริง ๆ”
การสอนวรรณคดี ในรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง มงคลสูตรคำฉันท์ (มงคลชีวิต 38 ประการ เป็นวรรณคดีด้านพระพุทธศาสนา
ในบทประพันธ์จะมีการขึ้นต้นด้วยภาษาบาลี
และคำแปลภาษาที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์)
ถ้าพูดตามความเป็นจริง ความน่าสนใจของเนื้อหาสำหรับนักเรียนติดลบอย่างมาก
เมื่อครูเข้าสอนก็พบกับคำถามที่ว่า
“ครูเราต้องเรียนอะไรแบบนี้ด้วยเหรอคะ?”
ดังนั้นการสอนเรื่องที่ความสนใจของนักเรียนติดลบ
เราก็ต้องหาวิธีการที่ดึงความสนใจกันหน่อย !!!
โดยการพยายามหาตรงกลางระหว่างวิชาการกับความคิดสร้างสรรค์ (ความตลกโปกฮา) ของเด็กและครูให้ควบคู่กันไปได้
ครูเลยใช้วิธีการสอนที่ให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และสามารถใช้เทคโนโลยีถ่ายทอดความรู้ออกมาเป็น “รูปถ่าย”
โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม ถ่ายรูปประกอบมงคล 38 ประการ ไม่จำกัดเทคนิค หรือวางกรอบแนวคิดใด ๆ
ขอแค่ให้รูปสอดคล้องกับมงคลแต่ละข้อเท่านั้น
เกณฑ์การให้คะแนน
ภาพที่ได้ก็จะประมาณนี้ ......
(จริง ๆ ครูอยากเอามาทุกรูป ทุกกลุ่ม เพราะนักเรียนตั้งใจทำมากจริง ๆ)
กระบวนการนี้ไม่ต้องให้เด็ก “ท่องจำ” แค่ให้เด็ก “เข้าใจ” และ “เรียนรู้” ผ่านกระบวนการคิดที่เด็กต้องวิเคราะห์ ตีความมงคลแต่ละข้อ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็น “รูปถ่าย” ที่อาศัยการเรียนรู้แบบร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม
คุณเห็นไหมคะ ? จากงานชิ้นนี้ทำให้เราเห็นอะไรในตัวเด็กเยอะแยะเลย
•เห็นนักครีเอทีฟตัวน้อย (ที่ครูยังแอบอึ้งในความคิดสร้างสรรค์)
•เห็นนักแต่งรูปมือโปร (ที่ครูเองยังตัดต่อรูปไม่เนียนเท่า5555)
•เห็นนางแบบ นายแบบ พรีเซนเตอร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสีหน้าแววตาทะลุเลนส์กล้องแบบจึ้ง!
พอเห็นผลงาน แล้วอดปลื้มใจไม่ได้จริง ๆ
มันทำให้เรากลับมาคิดว่าครูอย่ามัวจัดการเรียนรู้ที่วิ่งตามหลักสูตร หรือตัวชี้วัด ฯลฯ เพียงอย่างเดียว
ครูควรวิ่งตาม “ความสุข” และ “ความสนุก”
ในการเรียนรู้ของนักเรียนควบคู่ไปด้วย
ไม่มีใครบอกหนิว่า เรื่องที่เป็นวิชาการจะต้องเครียดเสมอไป เรามาทำเรื่องที่เป็นวิชาการ ให้เป็นเรื่องฮา ๆ ตามประสาครูเก๋ ๆ อย่างเรา ๆ กันดีกว่า
“ครูชอบ นักเรียนสนุก แบบนี้สิที่ต้องการ”
#นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนสตรีอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
#ขออนุญาตนักเรียนในการนำภาพมาเผยแพร่แล้วค่ะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย