icon
giftClose
profile

วัยว้าวุ่นกับการสื่อสาร

172263
ภาพประกอบไอเดีย วัยว้าวุ่นกับการสื่อสาร

การสื่อสารผิดพลาดนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาระหว่างนักเรียน

นักเรียนช่วงชั้นมัธยม คือ วัยว้าวุ่นที่เราต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่มีความสำคัญต่อความคิด สังคม และอารมณ์ของนักเรียนวัยนี้ก็คือ “เพื่อน” นั่นเอง แต่หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของนักเรียน ต้นตอของปัญหาอาจมาจากการสื่อสารอย่างเช่นที่ “ครูตั้ม” คุณครูแนะแนวแห่งโรงเรียนหนองตาคงพิทยาคารได้สังเกตเห็น


เป้าหมายของการสื่อสาร (Communication) คือ การทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน แต่เมื่อเกิดการพูดส่งสารต่อ ๆ กันไป อาจมีสิ่งรบกวน (Noise) ที่ทำให้ตัวสารถูกบิดเบือนไป ยิ่งในวัยว้าวุ่นที่แสนเปราะบางนี้เองที่การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมีสิ่งรบกวนตัวร้ายแฝงอยู่ คือ การจับใจความไม่ครบ ขาดการคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบ การไม่ระมัดระวังในคำพูด หรือแม้แต่การมีอคติในใจ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง การแบ่งแยกกลุ่ม กระทั่งเกิดเป็นปัญหาในการทำงานร่วมกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของ กิจกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ที่จะพานักเรียนไปสำรวจการสื่อสารของตนเอง


เมื่อ “ครูตั้ม” ก้าวเข้าไปในห้องเรียน “ละครโรงใหญ่” จึงเริ่มต้นขึ้นเพราะครูแสดงอาการเกี้ยวกราด พูดดุด่านักเรียนทั้งห้องแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นักเรียนทุกคนต่างงงงวยกับพฤติกรรมที่ครูแสดงออกมา ก่อนจะรู้ตัวว่าโดนครู “แกง” ไปหม้อใหญ่ เพราะเป้าหมายของการแกงในครั้งนี้ของครูตั้มคือ

 

- การทำให้นักเรียนเข้าใจความรู้สึกถึงการถูกพูดถึงในแง่ลบ โดยขาดการไตร่ตรองถึงข้อเท็จจริง

- การชี้นำให้นักเรียนได้สำรวจการสื่อสารที่ผ่านมาของตนเองว่าเคยสื่อสารในลักษณะนี้หรือไม่


เมื่อเกิดการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการสื่อสารในเบื้องต้นแล้ว ขั้นต่อมาคือกิจกรรมสุดคลาสสิกที่จะทำให้ภาพปัญหาการสื่อสารชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือเกม “พรายกระซิบ” นั่นเอง


โดยในรอบแรก นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องต่อแถวตอนลึก โดยคนหัวแถวจะต้องท่องข้อความซึ่งออกเสียงยาก ๆ และมีความซับซ้อน เพิ่มเติมสิ่งก่อกวนนั่นคือ “ครู” ที่จะพูดแทรกให้นักเรียนไขว่เขว้บ้างในบางจังหวะ จากนั้นจึงกระซิบให้เพื่อนคนถัดไปฟังและส่งต่อไปถึงคนสุดท้าย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นคือไม่มีกลุ่มไหนที่สามารถท่องข้อความได้อย่างถูกต้องเลย


ในรอบที่สองจะใช้การเขียนหลังส่งต่อกัน โจทย์หลัก คือสารที่นักเรียนจะส่งต่อนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ครู “เขียน” ลงไปบนหลังเท่านั้น แต่จะมีความท้าทายมากขึ้น คือครูจะแกล้งพูดถึง “สัญลักษณ์” ที่ไม่ตรงกับสารที่ครูเขียนลงไปให้นักเรียนสับสน เช่น ครูเขียนคำว่า “สิงโต” แต่แกล้งบอกนักเรียนว่าครูเขียนคำเกี่ยวกับผลไม้นะ ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ คือนักเรียนทุกคนต่างพร้อมใจกันตอบว่าคำที่ครูเขียน คือ “ส้มโอ”



จากกิจกรรมทำให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของทั้งตัวสารและสิ่งรบกวน

1.      ในการสื่อสารหลาย ๆ ครั้ง ตัวสารมีความซับซ้อน เหมือนอย่างข้อความที่ครูตั้มนำมาให้นักเรียนเล่นเกม ดังนั้นการรับและส่งต่อสารจึงต้องอาศัยการจับใจความ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

2.      สิ่งรบกวนที่เป็นตัวการสำคัญ คือ อคติ เปรียบได้เหมือนสัญลักษณ์ที่ครูตั้มใช้ในรอบที่สองนั่นเอง แทนที่นักเรียนจะโฟกัสโจทย์หลักที่ครูให้ แต่กลับสนใจสิ่งที่ได้ยินมากกว่า จนเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร หลายครั้งเราเชื่ออคติในใจประกอบกับสิ่งที่ได้ยินมากกว่าข้อเท็จจริงที่เราเห็นตรงหน้า แทนที่จะรับฟังและโฟกัสกับสารที่เพื่อนต้องการจะพูดหรือแสดงออก นักเรียนอาจฟังคำพูดเหล่านั้น และตีความตามความรู้สึกและมุมมองของตนเอง เมื่อขาดการคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบและรอบด้านก่อน การนำไปพูดต่อนี้เองที่สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กันทุกฝ่าย


ในขั้นสุดท้ายครูสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้ชื่นชมกัน นักเรียนที่เคยงอนหรือมีปัญหากันได้ใช้พื้นที่ในการรับฟังกันและกันอย่างแท้จริง อีกทั้งยังสามารถแก้ไขเรื่องที่อาจจะเข้าใจผิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนักเรียนที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างกลุ่มสภานักเรียน กิจกรรมนี้ทำให้พวกเขามองเห็นปัญหาในการสื่อสารระหว่างกระบวนการทำงาน ผลลัพธ์คือ นักเรียนกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ การแบ่งแยกกลุ่มนี่เพื่อนฉันนั่นเพื่อนเธอน้อยลง และมีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่นมากขึ้นนั่นเอง


การสื่อสารที่ดีนำไปสู่สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนที่ดี กิจกรรมของครูตั้มจึงเป็นการสร้างพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมให้แก่นักเรียนในวัยว้าวุ่นนี้ได้อย่างดีเลยทีเดียว

                                        

เจ้าของไอเดีย ครูตั้ม โรงเรียนหนองตาคงพิทยาคาร

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(11)