icon
giftClose
profile

ห้องเรียนถอดรหัส "ความจริง" จาก "ความเชื่อ"

20612
ภาพประกอบไอเดีย ห้องเรียนถอดรหัส "ความจริง" จาก "ความเชื่อ"

คำพูดที่เราเคยได้ยินมา มันเป็นความจริงหรือแค่ความเชื่อ มาร่วมสร้างห้องเรียนที่จะพานักเรียนไปตามล่าหาความจริงจากคำพูดเหล่านั้นกันเถอะ

จะเกิดอะไรขึ้น หากทุกคนเลือกที่จะเชื่อ โดยไม่พยายามหาเหตุผล จะเป็นอย่างไรถ้านักเรียนที่เราสอนนั้นโตมากับความเข้าใจผิดๆ เพียงเพราะฟังผู้อื่นอย่างเดียวโดยไม่ได้คิดตาม จะดีกว่าไหม หากเรานำคำพูดเหล่านั้น ที่เคยเป็นเพียง "ความเชื่อ" มาพิสูจน์ให้มันเป็น "ความจริง" ให้นักเรียนร่วมกันคิดวิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคำพูดนั้น ทั้งนัยยะที่แอบแฝงของคำพูดต่างๆหรือเหตุผลที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพื่อที่อนาคต นักเรียนของเราจะสามารถ คิด วิเคราะห์ พิจารณา ประเมินและตัดสินข้อมูลที่ได้รับอย่างเป็นเหตุเป็นผล


มีการสำรวจมาแล้วว่า Analytical Skills และ Critical Thinking เป็นทักษะที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลมากมายถูกลำเลียงมาสู่สายตาเราอย่างง่ายดาย แล้วเราจะช่วยสนับสนุนให้นักเรียนของเรามีทักษะนี้ได้อย่างไรกันนะ?


ในกิจกรรมนี้คือ การตั้งคำถามกับคำพูดหรือความเชื่อต่างๆ ว่าสิ่งนั้นมีความจริงมากแค่ไหน มีเหตุมีผลอย่างไรบ้าง อะไรทำให้พวกเขาพูดแบบนั้นออกมา


"ห้ามนอนกิน ชาติหน้าจะเกิดเป็นงู" "อย่านั่งทับหมอนเดี๋ยวจะเป็นฝีที่ตูด" "ทำผิดจะต้องลงนรก" คำพูดเหล่านี้ ล้วนไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระทั้งหมด ทุกประโยคล้วนมีเจตนาที่ดีแฝงอยู่ เพียงแต่ถูกสื่อสารให้ผู้รับสารกลัว เด็กๆจะได้ไม่ทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเป็นวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า ว่าทำไมถึงควรทำหรือไม่ควรทำ ถูกหรือผิดอย่างไร สิ่งไหนเป็นเพียงความเชื่อ


หรือแม้กระทั่งมีหลายคำพูดและหลายความเชื่อ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น "อย่าตากฝนเดี๋ยวจะเป็นหวัด ตัวเปียกให้รีบไปอาบน้ำ" "วัวกระทิงต้องวิ่งชนผ้าสีแดง" ซึ่งหลายครั้งที่เราเชื่อโดยที่ไม่เข้าใจเหตุผลหรือหลักการจริงๆของมัน ว่ามันเป็นจริงมากน้อยเพียงใด


สำหรับเรา เรามองว่า การหลอกเด็กแบบนี้ อาจเป็นผลดีในระยะสั้น คือทำให้เด็กกลัวและเชื่อฟังในระยะหนึ่ง แต่อาจเกิดเป็นปัญหาในระยะยาว ทั้งทำให้เด็กไม่เข้าใจเหตุผล ถูกสอนให้เชื่อผู้ใหญ่โดยไม่สามารถถกเถียง ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้แสดงออก หรือเมื่อโตมาแล้ว เริ่มรู้ความจริง ยิ่งทำให้เด็กเกิดความรู้สึกแย่จากการถูกหลอกด้วยความเชื่อผิดๆได้


วิธีการจัดกิจกรรม


  1. ชวนนักเรียนพูดคุยในประเด็นว่า ในวัยเด็กเคยโดนใครหลอกว่าอะไรบ้าง หรือทุกวันนี้สิ่งที่เราเชื่อ มันเป็นความจริงหรือไม่ จากนั้นเริ่มชวนให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับคำพูดในวัยเด็กที่ได้ยินจากคนอื่น ทำไมผู้ใหญ่ต้องห้ามนู่นห้ามนี้ ทำไมทำแบบนั้นแล้วต้องขู่ว่าจะเจออะไรแย่ๆ ทำไมร้องไห้บ่อยๆผีจะมาเอาไปอยู่ด้วย ทำไมถึงฟังดูน่ากลัว แท้ที่จริงมันเป็นความจริง ความเชื่อ หรือเป็นเพียงกุศโลบายเพื่อให้เราเชื่อฟัง แล้ววัตถุประสงค์ของคำพูดนั้นคืออะไรกันแน่ (เน้นการตั้งคำถามให้เด็กได้ฝึกคิด)
  2. ยกตัวอย่างคำพูดนั้นขึ้นมา เช่น "ห้ามนอนกิน ชาติหน้าจะเกิดเป็นงู" นักเรียนคิดอย่างไรกับคำพูดนี้ ลองถามมุมมองของนักเรียนก่อน
  3. ลองวิเคราะห์คำพูดนั้นเป็นตัวอย่างให้นักเรียนฟังสัก 1 ตัวอย่าง อธิบายเหตุผลและความเป็นไปได้ ว่าสรุปแล้ว มันเป็นความเชื่อ หรือความจริงมากน้อยแค่ไหน วัตถุประสงค์ของคำพูดคืออะไร ทำไมต้องพูดให้กลัว มันมีประโยชน์อย่างไร (มีอธิบายในตัวอย่างที่ 1-5)
  4. แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มละ 3-5 คน ให้แต่ละคนในกลุ่มคิดคำพูดที่เคยได้ยิน แล้วต้องการนำมาพิสูจน์ความจริงคนละ 1 ประเด็น จากนั้นให้ในแต่ละกลุ่มโหวตและเลือกมาเพียง 1 ประเด็นต่อกลุ่ม
  5. นำคำพูดนั้น มาถกเถียงกันในกลุ่ม วิเคราะห์ สรุป และนำมาเสนอหน้าชั้นในลักษณะเดียวกับขั้นตอนที่ 3 โดยมีช่วงเวลาให้เพื่อนกลุ่มอื่นในห้องหรือคุณครูได้ซักถามหลังการนำเสนอ เพื่อเสนอแนะมุมมอง เหตุผล และความเป็นไปได้อื่นๆ โดยจะเน้นถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์ ไม่ตัดสินนักเรียนจากคำตอบที่ได้รับเพียงอย่างเดียว บางคนอาจมีความคิดและความเชื่อที่แตกต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะการวิเคราะห์ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เราควรสร้างความสบายใจให้นักเรียนแสดงออกทางความคิดให้ได้มากที่สุด
  6. คุณครูสรุปกิจกรรมโดยการให้นักเรียนสะท้อนตนเองว่า สิ่งที่นักเรียนได้รับในคาบนี้คืออะไร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างไรบ้าง หรืออธิบายถึงประโยชน์จากการตั้งคำถามกับคำพูดหรือความเชื่อต่างๆ การให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ และประเมินความจริงจากข้อมูลที่ได้รับ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้และผู้สร้างความรู้ที่ดีในอนาคต


จะเห็นว่าในเกือบทุกขั้นตอนของกิจกรรมจะเป็น Active Learning ซึ่งเน้นให้นักเรียนตั้งคำถามและสะท้อนความคิดของตัวเอง ได้คิด ได้วิเคราะห์โดยมีคุณครูเป็นเพียงผู้ให้ความสะดวกในพื้นที่อิสระทางความคิดในห้องเรียน คอยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ให้คำแนะนำ และจัดการให้ห้องเรียนเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางแผนไว้ โดยไม่ต้องเน้นไปที่การสอนให้นักเรียนจดจำเพียงอย่างเดียว


ตัวอย่างที่ 1 : "อย่าตากฝนเดี๋ยวจะเป็นหวัด ตัวเปียกให้รีบไปอาบน้ำ"

ประโยคนี้ มองผิวเผินดูจะเป็นความจริงทั้งหมด แต่หากวิเคราะห์ไปมากกว่านั้น ลำพังเพียงน้ำฝน ไม่สามารถทำให้เราเป็นหวัดได้ แต่น้ำฝนและลม อาจพัดพาไวรัสมาเข้าสู่ร่างกายเราเมื่อเราอยู่ในที่โล่งแจ้ง อีกทั้งเวลาที่เราตากฝน หัวเปียก ตัวเปียก เสื้อผ้าเปียก อุณหภูมิในตัวเราจะลดลง ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้ไวรัสบางสายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดีขึ้น ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ลดภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือกระตุ้นอาการแพ้อากาศ เป็นต้น


ตัวอย่างที่ 2 : "ห้ามนอนกิน ชาติหน้าจะเกิดเป็นงู"

ทำไมนอนกินแล้วต้องเกิดเป็นงู แท้จริงแล้วเป็นเพียงกุศโลบายเพื่อไม่ให้เด็กนอนกิน คือต้องการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากอาหารที่ติดคอ จนเกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายตามมา แล้วทำไมต้องงู ก็คงเป็นเพราะความคล้ายกันระหว่างอิริยาบถของคนในท่านอนและลักษณะของงู เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของคำพูดเข้าไป รวมถึงใส่ความกลัวที่ต้องเกิดเป็นงู ซึ่งเป็นสัตว์ที่หลายๆคนกลัว และเราคงไม่อยากเกิดมาเป็นงู


ตัวอย่างที่ 3 : "กินข้าวห้ามเคาะจาน เป็นการเรียกสัมภเวสีให้มากินด้วย"

เราจะยังไม่เข้าไปถกประเด็นในเรื่องว่า สัมภเวสีมีจริงหรือไม่ แต่ทำไมเราถึงไม่ควรเคาะจานระหว่างกินข้าวกันนะ คำตอบคงเป็นเรื่องของ มารยาทบนโต๊ะอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเคาะจานจนส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น


ตัวอย่างที่ 4 : "วัวกระทิงต้องวิ่งชนผ้าสีแดง"

ในทีวีเรามักจะเห็นวัวกระทิงวิ่งไล่ขวิดผ้าสีแดงจนเชื่อไปเองว่า วัวกระทิงเกลียดสีแดง แต่อันที่จริงแล้ว วัวกระทิงนั้นเห็นภาพเป็นเพียงขาว-ดำ แล้วเหตุผลที่มันวิ่งเข้าใส่อาจเป็นเพียงเพราะ การเคลื่อนไหวของผ้าที่ทำให้วัวรู้สึกหงุดหงิดและรำคาญ ส่วนสีแดงเป็นการสร้างจุดเด่นและสีสันให้ผู้ชมมากกว่า


ตัวอย่างที่ 5 : "ร้องเพลงขณะทำกับข้าวจะได้แฟนแก่"

ในประโยคนี้ ต้องวิเคราะห์ว่า ทำไมถึงไม่อยากให้เด็กร้องเพลงขณะทำกับข้าว ซึ่งอาจเป็นเพราะระหว่างร้องเพลงอาจมีน้ำลายปะปนลงไปกับอาหารที่เราทำ เกิดความสกปรก หรือการร้องเพลงอาจทำให้บางคนเสียสมาธิ จนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ ส่วนการได้แฟนแก่เป็นเพียงการขู่ให้เรากลัวและไม่ทำเท่านั้น


ตัวอย่างอื่นๆ :

  • นอนดึกแล้วตุ๊กแกจะมากินตับ (ห่วงสุขภาพ)
  • ถ้าร้องไห้บ่อยๆ ผีจะมาเอาไปอยู่ด้วย (ห้ามการกระทำด้วยความกลัว)
  • กลับมาถึงบ้านต้องล้างเท้าทุกครั้ง ไม่งั้นผีจะตามรอยมา (รักษาความสะอาด)
  • ห้ามเล่นดนตรีตอนกลางคืน ผีจะได้ยิน แล้วจะมาหา (ก่อความรำคาญ)
  • อย่าข้ามหนังสือ เดี๋ยวสอบตก (ความเชื่อ)
  • คนแห่กราบไหว้ขอหวยจากกล้วยที่ออกปลี 2 หัว (วิทยาศาสตร์)
  • แมงกินฟันมีจริงไหม (วิทยาศาสตร์)
  • หากกลืนหมากฝรั่งแล้วมันจะอยู่ในท้องเราได้เป็นปีๆ (วิทยาศาสตร์)
  • บั้งไฟพญานาคมีจริงไหม (คนทำขึ้นมาเอง)
  • อย่านั่งทับหมอน เดี๋ยวจะเป็นฝีที่ตูด (เรื่องความสะอาด)
  • กินเม็ดแตงโม แล้วจะไปงอกในท้องจริงไหม (วิทยาศาสตร์))
  • ห้ามเล่นซ่อนแอบตอนหัวค่ำ ผีจะมาเอาไป (กลัวหากันไม่เจอ)
  • ห้ามชมเด็กว่าน่ารักให้ชมว่าน่าชัง (ความเชื่อ)
  • ทำผิดจะต้องลงนรก (ความเชื่อ อยากให้ทำดี)
  • ห้ามผิวปากตอนกลางคืน เป็นการเรียกผี (เสียงผิวปากมันหลอน)
  • อย่าเอานิ้วชี้ไปที่รุ้ง เดี๋ยวนิ้วกุด (ความเชื่อ)
  • อย่านั่งขวางประตูบ้าน อย่านอนขวางทางเดิน จะป่วยบ่อย (เกะกะ)
  • ห้ามใส่พระลอดราวตากผ้า อาคมจะเสื่อม (ความเชื่อ)
  • นกถ่ายรดบนศรีษะแล้วจะโชคร้าย (สถิติ)
  • ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก ชีวิตจะตกอับ (ความเชื่อ)
  • สบู่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้จริงหรือ (วิทยาศาสตร์)
  • โกนขนแล้วขนจะเส้นหนาขึ้นจริงหรือ (วิทยาศาสตร์)
  • น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าได้อย่างไร (วิทยาศาสตร์)
  • ห้ามแต่งหน้าก่อนเข้านอน วิญญาณจะจำร่างไม่ได้ (ความเชื่อ ความสะอาด)
  • อันที่จริงมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการจากลิงชิมแปนซีแค่มีบรรพบุรุษร่วมกัน (วิทยาศาสตร์)


(ในวงเล็บเป็นเพียงไกด์คร่าวๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงเหตุผลนี้เท่านั้น ยังสามารถวิเคราะห์ได้อีกหลายมุมมอง)


หวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ห้องเรียนของคุณครูทุกคนช่วยสนับสนุนให้นักเรียนไทยมีทักษะการเรียนรู้ที่ดี รู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เข้าใจความถูกผิด รวมถึงต่อยอดไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ต่อไปนะครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(15)
เก็บไว้อ่าน
(14)