ปากกากายสิทธิ์ เวทมนต์คาถา และภาษาอังกฤษ
ในขณะที่ผมกำลังตั้งคำถามว่าจะสามารถออกแบบกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการสนทนาภาษาอังกฤษได้บ้าง ช่วงเดียวกันนั้นผมบังเอิญได้ดูฉากการดวลกัน (duel) ในภาพยนต์เรื่องแฮรี่ พอร์ตเตอร์ ของแฮรี่ กับ เดรโก มัลฟอย ในวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด แล้วก็รู้สึกคลิกขึ้นมาว่า
.
บางครั้งเวลานักเรียนได้ยินเสียงประโยคใหม่ ๆ ในภาษาอังกฤษ ความรู้สึกอาจจะคล้าย ๆ กับตอนที่เราได้ยินพ่อมดแม่มดร่ายคาถาใส่กัน (เอาเฉพาะการร่ายภาษาแบบเปล่งเสียงนะ การร่ายแบบไร้เสียงจะขอละไว้ก่อน)
.
คือสุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่ได้เข้าใจว่ากลุ่มเสียงที่บอกว่า “วิงกาเดี้ยม เลวีโอซ่า” แปลว่าอะไร แต่เรามักจะจำได้ว่า ถ้าร่ายคาถานี้ด้วยน้ำหนักเสียงที่ถูกต้อง สิ่งของจะลอยขึ้นนะ
.
.
.
ในคาบเรียนถัดมา ผมจึงได้ชวนนักเรียนมาดวลคาถากัน โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
.
1) ตั้งเป้าหมาย
ผมเริ่มจากการเปิดคลิปการดวลกันที่เป็นแรงบันดาลใจของไอเดียนี้ให้นักเรียนดู และเล่าว่าคาบนี้อยากมาชวนเล่นอะไรกัน และเราให้คุณค่ากับอะไรในกิจกรรมนี้ ซึ่งตอนนั้นผมแบ่งคุณค่าที่ผมมองหาออกเป็น ความเร็วในการตอบสนอง การแม่นยำของการออกเสียง และ ที่สำคัญที่สุดคือ ความมั่นใจ ซึ่งผมจะสังเกตุผ่านการสบตา น้ำหนักเสียง และการยืดตัวของร่างกาย
.
.
2) เตรียมคาถา
แลกเปลี่ยนเรื่องหลักภาษา โดยเรียกประโยคต่าง ๆ ว่า “คาถา” เช่น
ถ้าโดนคาถาจู่โจมว่า
Thank you.
สามารถรับมือได้ด้วยการร่ายคาถากลับมาว่า
You’re welcome.
Don’t mention it.
และ My pleasure.
และถ้าโดนคาถาจู่โจมว่า
I’m sorry.
สามารถรับมือได้ด้วยการร่ายคาถากลับมาว่า
It’s okay.
No problem.
และ Don’t worry about it.
และแชร์กับนักเรียนฟังโดยสังเขปว่าที่มาของแต่ละประโยคมีความหมายว่าอย่างไร โดยเน้นย้ำว่า ให้นักเรียนจับและจำความรู้สึกของตัวเองตอนได้ยินความหมายของแต่ละประโยค มากกว่าที่จะพยายามจำความหมาย และลองดูว่าเรารู้สึกคลิกกับความรู้สึกตอนที่ได้ยินความหมายของประโยคไหนมากที่สุด
ประโยคนั้นจะกลายเป็นท่าไม้ตายของเรา ในการรับมือกับคาถาจู่โจม
.
.
3) เริ่มการท้าดวล
โดยในขั้นตอนนี้ผมจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
.
ระดับแรกคือ นักเรียน vs คุณครู เป็นโดยเราจะให้นักเรียนหยิบปากกาขึ้นมาคนละ 1 ด้าม โดยใช้ปากกาด้ามนี้เป็นไม้กายสิทธิ์ จากนั้นผมจะลองจู่โจมด้วย Thank you. หรือ I’m sorry. ด้วยการแสดงในลักษณะเดียวกับที่นักเรียนเห็นในภาพยนต์ โดยจุดประสงค์คือการสร้างบรรยากาศของการเล่น และเป็นการเช็คความเข้าใจของนักเรียนด้วย
.
ระดับที่สองคือ นักเรียน vs นักเรียน เลื่อนโต๊ะชิดผนัง แบ่งนักเรียนออกเป็นสองแถวหน้ากระดาน หันหน้าเข้าหากัน จากนั้นแต่ละแถวจะส่งตัวแทนก้าวออกมาทีละหนึ่งคน เพื่อลองใช้คาถาจู่โจมนักเรียนจากอีกฝั่งหนึ่ง โดยมีข้อกำหนดว่า ห้ามนักเรียนใช้คาถาป้องกันเดียวกันกับเพื่อนคนก่อนหน้าตัวเอง เพื่อให้นักเรียนได้มีสติอยู่กับการรับฟังเสียงของเพื่อน ๆ และเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละคนได้ฝึกคาถาที่หลากหลายขึ้น
.
และระดับสุดท้ายคือ นักเรียน vs การจู่โจมในชีวิตประจำวัน ผมจะชวนให้นักเรียนลองตั้งเป้าหมายดูว่า แต่ละคนคิดว่าตัวเองจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะตอบกลับประโยคเช่น Thank you. และ I’m sorry. ได้ด้วยความเป็นธรรมชาติ โดยบอกว่าหลังจากนี้เราจะมาฝึกเรื่อย ๆ เวลาที่เราเจอกันในโรงเรียน โดยผมอาจจะร่ายคาถาใส่พวกเขาตอนเดินสวนกันในโรงเรียน รวมถึงมีการบันทึกคะแนนพิเศษสำหรับนักเรียนที่ลองใช้คาถาที่มากกว่าคาถาที่มีการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน
.
.
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือนักเรียนนำปากกามาเรียนมากขึ้น เวลาเจอเราจะมีความตื่นตัว แต่ไม่ได้ตื่นกลัว และสามารถตอบกลับมาได้อย่างรวดเร็ว มั่นใจ และเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไปจนถึงการที่มี่นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มร่ายคาถาจู่โจมใส่เรากลับ (ซึ่งเราก็เต็มที่กับการร่ายคาถาตอบเช่นกัน)
.
และที่รู้สึกประทับใจมากที่สุดคือการที่นักเรียนนำคาถาป้องกัน เช่น Anytime. ที่นักเรียนไปสืบค้นมาเอง กลับมาถามเราว่าคาถานี้ใช้ได้จริงไหม และมีความหมายว่าอย่างไร
.
เหมือนโดน วิงกาเดี้ยม เลวีโอซ่า เลยครับ ถึงจุดที่นักเรียนเริ่มเรียนรู้ต่อยอดเอง ใจเราก็เบาจนตัวเราลอยได้เหมือนกัน
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
ต้องย้ำให้นักเรียนเห็นถึงความหลากหลายของคำตอบเสมอ เพื่อระวังไม่ให้เด็กนักเรียนเกิดพฤติกรรมจดจำแล้วนำไปใช้แบบซ้ำ ๆ ว่าถามแบบนี้ ต้องตอบแบบนี้เท่านั้น บางห้องเรียนอาจต้องเปลี่ยนบริบทจากประโยคเป็นคำ หรืออะไรง่าย ๆ ที่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังมีคลังคำศัพท์หรือประโยคไม่มากนัก
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย