icon
giftClose
profile

วิชาเติมเต็ม"ตัวตน" : วิชาชุมนุม Empower

27972
ภาพประกอบไอเดีย วิชาเติมเต็ม"ตัวตน" : วิชาชุมนุม Empower

ไอเดียการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงตัวเองสู่ประเด็นทางสังคม พร้อมทั้งเสริมสร้างพลังตัวตนของนักเรียนให้แข็งแรงผ่านกระบวนการทำงานเป็นทีม

“คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” เมื่อคุณได้ยิน 4 คำนี้แล้วนึกถึงอะไร?

บางคนนึกถึงอาชีพ บางคนนึกถึงสัตว์เลี้ยง บางคนนึกถึงความเป็นตัวเอง ทุกคำตอบที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีถูกหรือผิด สำหรับครูต้น-ภาธรณ์ สิรวรรธกุล ครูประจำวิชาแนะแนวที่ได้มาสอนวิชาชุมนุม เมื่อได้ยินคำทั้ง 4 หมวดจึงเกิดไอเดียนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบวิชาชุมนุมที่มีชื่อว่า “วิชาชุมนุม Empower”


จุดประกายไอเดีย

ณ คาบเรียนวิชาภาษาอังกฤษคาบหนึ่ง มักเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนรู้สึกกลัวและไม่ชอบ เมื่อให้ยกตัวอย่างคำนามในรูปแบบ คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ นักเรียนบางคนรู้สึกตกใจและเครียด ครูต้นจึงต้องการนำการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เริ่มต้นจากความชอบและความอยากรู้ของตัวเองมาบูรณาการร่วมกับการได้รู้จักตัวเองจนนำไปสู่การได้รู้จักเพื่อนและสังคม 

ครูต้นกล่าวถึงไอเดียวิชานี้ว่า “เป็นชุมนุมที่พยายามให้นักเรียนได้สื่อสารเรื่องที่ตัวเองสนใจ สิ่งที่จะช่วยให้ความคิดของนักเรียนแข็งแรงคือการอภิปรายสิ่งที่ตนสนใจให้ละเอียดและเชื่อมโยงกับสิ่งที่คนอื่นสนใจ บทเรียนนี้เป็น self-idea ของนักเรียนให้ได้ทำงานไปไกลมากขึ้น ”


กระบวนการเรียนรู้

ครูต้นได้ออกแบบการเรียนรู้ออกเป็น 4 คาบ ที่มีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันตามแต่ละคาบ โดยมีกระบวนการดังต่อไปนี้


คาบที่ 1 : ทำความรู้จักกับ “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่”  

ครูต้นเริ่มต้นคาบชุมนุมด้วยการเช็คชื่อในแบบ “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” (ยกตัวอย่างเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษก็ได้) แล้วนักเรียนโห่ร้องตอบกลับมาทันที ครูต้นจึงสาธิตวิธีการให้ดู เช่น หมอ หมา ปากกา คลินิก เมื่อนักเรียนเริ่มเข้าใจ การเช็คชื่อจึงเริ่มขึ้น...

หลังจากการเช็คชื่อเสร็จ ครูต้นชวนนักเรียนคุยย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของคำนาน “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” ทั้ง 4 คำว่า ‘นักเรียนพูดมาจากอะไร’ ซึ่งคำตอบมีพื้นฐานมาจากความชื่นชอบ สิ่งที่มี สิ่งที่อยากเป็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่กำลังสนใจ หรือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อนักเรียนในช่วงเวลานั้นๆ  

ต่อมาเป็นกระบวนการกลุ่ม ครูต้นให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มละ 4 คน เพื่อเปิดวงสนทนากลุ่มย่อยเกี่ยวกับคำนามทั้ง 4 หมวดพร้อมให้หาคำแปลในภาษาภาษาอังกฤษแนบมาด้วย ตัวอย่างคำนานที่แต่ละกลุ่มเลือกมา เช่น กลุ่มที่ 1 ประยุทธ์ เหี้ย เรือดำน้ำ รัฐสภา กลุ่มที่ 2 พระเจ้าตาก ม้า ดาบ กรุงธนบุรี กลุ่มที่ 3 ชาวประมง ปลา เรือ ทะเล กลุ่มที่ 4 พระพุทธเจ้า พญานาค บาตรพระ ป่าไม้สาละ

เมื่อเสร็จกิจกรรมในกลุ่มย่อย ครูต้นเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนแบบวงใหญ่ถึงประเด็นที่แต่ละกลุ่มได้พูดคุยให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ทราบ กิจกรรมนี้ทำให้เห็นถึงความน่าสนใจและน่าแปลกใจที่นักเรียนสามารถแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้ พร้อมทั้งได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่เป็นรูปธรรมจากคำนามทั้ง 4 หมวดและคำนามทุกคำที่ทั้งหมดปรากฏขึ้นในคาบนี้


คาบที่ 2 : ทุกคนมีพื้นที่แสดงตัวตนผ่าน “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่”  

การเรียนในคาบที่ 2 นี้เริ่มต้นขึ้น ณ ลานหน้าอาคารเรียน มีม้านั่งที่สามารถบรรจุนักเรียนในวิชานี้ได้ครบพอดี บรรยากาศการเรียนนอกห้องเรียนไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ของทั้งครูต้นและนักเรียนเลย การเรียนรู้จึงเริ่มต้นขึ้นดังนี้

1. ให้นักเรียนจับกลุ่มกันเองเพื่อความอิสระในการทำงานและไม่รู้สึกถูกบังคับในการทำงานร่วมกัน

2. ให้นักเรียนในแต่ละกลุ่มสุ่มเลือกหมายเลข 1 2 3 4 

3. ให้นักเรียนที่เลือกหมายเลขเดียวกันมาเข้าวงคุยเดียวกัน จากนั้นครูต้นจะเฉลยว่าแต่ละหมายเลขคือหมวดอะไร ยกตัวอย่าง เช่น 1=สิ่งของ 2=คน 3=สถานที่ 4=สัตว์ และเปิดวงสนทนาตามหมวดนั้น ๆ โดยให้นักเรียนเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากบอกเล่าให้เพื่อนฟัง

4. ให้นักเรียนกลับเข้ากลุ่มเดิม แบ่งปันสิ่งที่ได้จากการเข้าวงสนทนาหมวดย่อยให้เพื่อนในกลุ่มฟัง และให้โจทย์นักเรียนในการเชื่อมโยง “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” ของทั้ง 4 คนให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือนักเรียนได้ถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและฟังเรื่องเล่าของเพื่อนหลากหลายประเด็นจากวงคุย เช่น นักเรียนเล่าหมวดสัตว์ ยกตัวอย่างจระเข้ ที่สามารถนำหนังมาทำกระเป๋าขายได้ราคาหลักล้าน หมวดคน ยกตัวอย่างประธานาธิบดี เล่าถึงวิธีการเป็นประธานาธิบดี การศึกษา รายได้ อาชีพหลังจากเป็นประธานาธิบดี เป็นต้น ครูต้นรู้สึกประหลาดใจในสิ่งที่นักเรียนเล่า เพราะนักเรียนสามารถเล่าได้แบบลงลึก ละเอียด ชัดเจน และเชื่อมโยงสรรพสิ่งที่ไม่น่าจะเชื่อมหากัน แต่นักเรียนสามารถทำได้ดีทีเดียว


คาบที่ 3 : นักสร้างชิ้นงาน “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” แบบ All in 1

การสร้างชิ้นงานนำเสนอ “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” ของแต่ละกลุ่มจะทำในรูปแปปการตัดแปะรูปภาพของแต่ละหมวด สิ่งสำคัญคือนักเรียนจะต้องเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์คำนามแต่ละหมวดและร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน (สามารถเชื่อมโยงและนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษได้)

ครูต้นมีบทบาทในการเป็นโค้ชแนะนำการทำชิ้นงานนำเสนอ ทำให้เกิดการจุดประกายไอเดียให้กับนักเรียนสามารถคิดต่อยอดไอเดียได้ ความสนุกของคาบนี้คือการออกแบบชิ้นงานจากไอเดียของนักเรียนเองและเกิดการถกเถียง แสดงความคิดเห็น นำมาสู่การรับฟังกันภายในกลุ่ม กิจกรรมสุดท้ายให้แต่ละกลุ่มนำเสนอชิ้นงานให้ครูต้นและเพื่อนๆได้รับฟังกันในคาบเรียนต่อไป


คาบที่ 4 : เปิดพื้นที่โชว์ไอเดีย

คาบสุดท้ายของ “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยในการรับชมและรับฟังผลงานของกลุ่มตัวเองและเพื่อน หลังจากที่ผ่านการทำกิจกรรมมาทั้งหมด 3 คาบจนเกิดเป็นชิ้นงาน 1 ชิ้น

กิจกรรมในครั้งสุดท้ายนี้นักเรียนจะต้องนำเสนอเรื่องราวชิ้นงานกลุ่มตัวเอง ที่ประกอบด้วยคำนามทั้ง 4 หมวด คำศัพท์ภาษาอังกฤษ จนเกิดการร้อยเรียงเป็นเรื่องราว 1 เรื่อง นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ออกแบบเรื่องเล่าตามฉบับแต่ละกลุ่ม ดังตัวอย่างต่อไปนี้



จากนั้นครูต้นพานักเรียนสรุปสิ่งที่ได้จากเรื่องเล่าของเพื่อนๆ ถึงความต่าง ความเหมือน หรือรูปแบบการเล่าเรื่องเป็นแบบใด และครูต้นได้กล่าวถึงการทำกิจกรรมตลอดทั้ง 4 คาบว่า “สิ่งที่ครูต้นมองว่าเป็นความสำเร็จคือ ครูต้นชอบกระบวนการระหว่างการทำงานร่วมกัน มากกว่าการมองผลลัพธ์ที่ปลายทาง ครูต้นเห็นนักเรียนมีความรับผิดชอบในงานของตัวเอง การช่วยกันเชื่อมโยงจนเกิดมาเป็นชิ้นงานและเป็นคาบที่นักเรียนได้รู้สึกอิสระ ได้ปลดปล่อย มีความสุขในการทำกิจกรรม”


สรุปการเรียนรู้จากกิจกรรม “คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่” 

1. อิสระทางการเรียนรู้คือการปล่อยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตัวเอง ให้พื้นที่นักเรียนในการแสดงความคิดเห็น และเขาจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่

2. สิ่งที่สามารถเสริมสร้างการมีตัวตนของนักเรียนคือการกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนในการทำงานร่วมกัน การไม่ก้าวก่ายการทำงานของกันและกัน แสดงให้เห็นการเคารพต่อตนเองและผู้อื่น

3. สิ่งที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้นี้ประสบความสำเร็จ ครูต้นมองว่า “ความสำเร็จคือเรื่องระหว่างทางที่นักเรียนเกิดการนำความรู้ที่มีอยู่เดิมมาเชื่อมโยงกับสิ่งใหม่ และนักเรียนเกิดการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง” 

4. การคิดนอกกรอบมีความสำคัญต่อการคิดวิเคราะห์และการเชื่อมโยงสรรพสิ่งบนโลกใบนี้

5. การเรียนนอกห้องเรียนไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนเลย สิ่งสำคัญคือนักเรียนได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน


บอกเล่าไอเดียโดย ครูต้น ภาธรณ์ สิรวรรธกุล

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(4)