icon
giftClose
profile
frame

How to สอนออนไลน์ให้ได้ "อะไร" มากกว่าที่คิด

51963
ภาพประกอบไอเดีย How to สอนออนไลน์ให้ได้ "อะไร" มากกว่าที่คิด

“เกมล่าสมบัติ” อีกหนึ่งเคล็ดไม่ลับในการจัดภารกิจทวงคืน เสน่ห์ แห่งการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนออนไลน์

“เติมเสน่ห์ห้องเรียนออนไลน์ ด้วยความหมายแห่งการค้นพบ”

ขอบคุณไอเดียการสอนจาก : คุณครูวรพงศ์ คุยบุตร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) 


Description : สิ่งที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนนอกจากเนื้อหากับความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ก็คงเป็นโรงเรียน โต๊ะไม้ที่ใส่หนังสือไม่เคยพอ เพื่อนๆผู้ซุกซนและบรรยากาศห้องเรียนที่มีการสัมผัสสื่อสารด้วยความคุ้นเคย แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นจำเป็นต้องถูกย่อลงในกรอบจอเล็กๆของการเรียนการสอนแบบ new normal ในยุคโควิด ทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันขาด “เสน่ห์” ในการการเรียนรู้ตรงนั้นไป คุณครูผู้มุ่งมั่นเศร้าเสียดายได้ไม่นานก่อนจะลุกมาเติมไฟให้ทั้งตัวเองและเหล่านักเรียนทั้งหลายด้วยการจัดภารกิจ "เกมล่าสมบัติ" โดยให้เด็กๆตามหาของในบ้าน บางอย่าง จากนั้นใช้ความรู้วิชาภาษาไทยในการบอกต่อเรื่องราวของมัน เพื่อเติม passion ในการศึกษาผ่านจอสี่เหลี่ยมอีกครั้ง

Highlight : 

  • สิ่งที่ขาดหายไปจากห้องเรียนออนไลน์ผ่านความเห็นของเด็กๆยุคโควิด
  • “เกมล่าสมบัติ” อีกหนึ่งเคล็ดไม่ลับในการจัดภารกิจทวงคืน เสน่ห์ แห่งการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนออนไลน์ของครูโอ๊ต


เป็นเวลาปีกว่าๆแล้วที่การศึกษาของเด็กๆต้องเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ในอาณาเขตกักกันของจอสี่เหลี่ยมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเพื่อเข้าสู่ชั้นเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนแบบเว้นระยะห่างนี้ต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งอย่างหลังเป็นข้อที่ควรใส่ใจให้มากเพื่อพัฒนาแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ว่าในฐานะครูผู้สอนนั้นเราเข้าใจปัญหาของการเรียนรู้แบบนี้ได้ดีแค่ไหนกันนะ? เราเข้าใจปัญหาของนักเรียนดีพอจะแก้ไขมันหรือยัง? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวของครูโอ๊ต-วรพงศ์ คุยบุตร คุณครูภาษาไทยผู้กระตือรือร้นอยู่นาน จนในที่สุดก็ได้รู้ว่าคำตอบที่เขาตามหานั้นอยู่กับคนใกล้ตัวแค่นี้เอง


: มาเท้าความถึงการสะท้อนมุมมองปัญหาจากเด็กๆผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้กันดีกว่า ☺

“ผมมองว่าห้องการเรียนออนไลน์ ขาดเสน่ห์ของห้องเรียนครับ”

คุณครูหนุ่มดีใจปนเศร้า เมื่อได้ฟังประโยคนี้จากนักเรียน

ดีใจ ที่นักเรียนรู้สึกว่าห้องเรียนมี “เสน่ห์”

และเศร้าใจที่ทำทำไม “เสน่ห์” ที่ว่านั้นไม่สามารถมาอยู่ในห้องเรียนได้...

“เสน่ห์ที่เธอว่า คืออะไร ?” เขาถาม

“การมีปฏิสัมพันธ์ การดึงดูดความสนใจ และการที่มีครูเป็นคนควบคุมครับ”

อืม...น่าสนใจ

เพียงการพูดคุยที่เป็นพื้นฐานที่ง่ายที่สุดของการสร้างความเข้าใจในวันนั้น นำไปสู่แนวคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในวันนี้


: ช่วยบอกเราเกี่ยวกับไอเดียการสอนที่จะนำมาแบ่งปันในวันนี้หน่อยค่ะ

จากการสนทนากับนักเรียนเพียงสั้น ๆ ทำให้ผมได้ไอเดียในการ “จัดการชั้นเรียนออนไลน์” ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 3 ประเด็นคือ เป็นห้องเรียนออนไลน์ที่นักเรียนมีส่วนร่วม(ปฏิสัมพันธ์) กิจกรรม(ดึงดูด) และครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก(ควบคุม)

ผมจึงลองค้นไอเดียและระลึกกิจกรรมการอบรมต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมกับ inskru จึงได้กิจกรรมนี้มาครับ

ชื่อกิจกรรม : “เติมเสน่ห์ห้องเรียนออนไลน์ ด้วยความหมายแห่งการค้นพบ”

ขั้นตอนการทำกิจกรรม

  1. นักเรียนทุกคนเปิดกล้อง
  2. คัดเลือกนักเรียนที่จะเป็น “นักผจญภัย” 3 – 5 คน (โดยการสุ่ม การโหวต การจับสลาก ฯลฯ / ผมให้นักเรียนโหวตเพราะจะได้ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเร้าความสนใจ)
  • เมื่อได้นักผจญภัยแล้ว เงื่อนไขนักผจญภัยคือต้องตามหาสิ่งของที่ครูกำหนด คือ“ค้นหาสิ่งที่คิดว่าบ้านเพื่อนคนอื่นไม่มี”

“ค้นหาสิ่งของที่เห็นแล้วมีความสุข”

“ค้นหาสิ่งของที่เก็บเรื่องราวความรัก”

“ค้นหาสิ่งของที่....”

  1. ครั้งแรก ผมเลือกหัวข้อ “ค้นหาสิ่งที่คิดว่าบ้านเพื่อนคนอื่นไม่มี” และให้นักผจญภัยพากล้องฉายไปด้วย เพื่อให้นักเรียนคนอื่น ๆ เป็นผู้ชมแบบเรียลไทม์ ครับทุกท่าน ตอนนี้ห้องเรียนออนไลน์ของเราก็กลายเป็นรายการเรียลริตี้โชว์ “ค้นบ้านควานหาของ”
  2. เมื่อนักเรียนได้ของมาแล้ว ให้นำเสนอ “ทำไมต้องเป็นของชิ้นนี้/ลองบอกเล่าความเป็นมา”
  3. ครูสรุป เสริมแรง ให้กำลังใจแก่นักผจญภัยที่ค้นพบ ฯลฯ


: ผลตอบรับล่ะคะ เป็นเป็นอย่างไรบ้าง?


สิ่งที่ผมพบในห้องเรียนออนไลน์คาบนี้คือ นักเรียนบางคนเปิดห้องเก็บของ มืด รก ฝุ่นเขรอะ เปี่ยมบรรยากาศให้เพื่อน ๆ คนอื่นเอาใจช่วยค้นหา นักเรียนที่ไม่ค่อยสนใจ ก็มองตามเพื่อนด้วยความตื่นเต้น บางคนลงทุนวิ่งเข้าไปในสวนเพื่อจะไปเอาห่านมาโชว์เพื่อน เพราะห่านคือสิ่งที่เค้าคิดว่าเพื่อนไม่น่าจะมี

นักเรียนอีกคนก็ไปค้นเครื่องดนตรีที่เคยเล่นสมัยเด็ก และเล่นให้เพื่อนฟัง คือ พิณ(อีสาน)

คาบนั้น จึงกลายเป็นคาบ หมอลำหน้าใหม่หัวใจดีดพิณ

“อาจารย์ ผมเกือบลืมไปแล้วว่าผมเล่นพิณได้”

“อาจารย์ หนูหาของชิ้นนี้มานานมาก เกือบลืมไปเลยว่ามันเคยทำให้หนูยิ้มได้”

“ห่านมันจับยากมากครับ” (สรุปจับห่านไม่ได้ แต่ได้ฟังเรื่องห่านแทน)



คาบนี้ ทั้งคาบ ผมไม่ได้สอน...ผมเป็นแค่คนบอกกติกา อำนวยความสะดวก คอยเอาใจช่วย

และได้พบความหลัง ความหวัง ที่หลั่งไหลออกมาจากการนำเสนอของเด็ก ๆ

ได้ยินเสียงหัวเราะ แม้ไม่เปิดลำโพง

ได้เห็นรอยยิ้มโต ๆ ผ่านหน้าจอเล็ก ๆ

ที่เราจับต้องกันไม่ได้ แต่...สื่อถึงกันได้


กิจกรรมครั้งนี้...

ทำให้ผมบรรลุเงื่อนไขทั้ง 3 อย่าง คือ นักเรียนมีส่วนร่วม โดยให้กิจกรรมของเราและการกระทำของเขาดึงดูดกันและกัน โดยมีเราเป็นคนออกแบบและอำนวยความสะดวกให้พวกเขา

เสน่ห์สำคัญของห้องเรียนสำหรับนักเรียน อาจเป็น

“การมีปฏิสัมพันธ์ การดึงดูดความสนใจ และการที่มีครูเป็นคนควบคุมครับ”

แต่เสน่ห์ของห้องเรียนสำหรับครู มีเพียง

“รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของนักเรียน” เสมอครับ


: สำหรับกิจกรรมนี้อาจมีตัวแปรไม่เสถียรอย่างการที่นักเรียนบางคนไม่มีกล้องติดคอมหรือใช้มือถือรุ่นเก่าบ้างไหมคะ ถ้ามีคุณครูคิดว่าควรเสนอแนะให้เขามีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้พร้อมกับเพื่อนๆอย่างไร 

“ เป็นความโชคดีที่อุปกรณ์การเรียนของนักเรียนที่นี่มีความพร้อม เนื่องจากผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัย จึงไม่มีปัญหาตรงนี้ครับ และหากมี ก็ให้นักเรียนที่มีปัญหา นำเสนอโดยการเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่จำเป็นต้องให้เห็นภาพก็ได้ครับ ”

: ครูโอ๊ตมีอะไรฝากถึงคุณครูหรือคนอื่นๆที่ได้อ่านไอเดียเราไหมคะ 

“อเราเชื่อมั่นศักยภาพของนักเรียน เราจะอยากจัดการเรียนการสอนเพื่อเห็นศักยภาพของเขาครับ

เหมือนเชื่อว่าเราจะเจอรักแท้ โดยที่เราไม่เคยแม้แต่จะเห็นคนคนนั้น แต่เราก็ยังพยายามกันต่อไปนั่นแหละครับ 🌝”


หลังจากนั้นการพูดคุยระหว่าเราและคุณครูผู้เปี่ยมแรงบันดาลใจคนนี้ก็เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยและไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของไอเดียแต่อย่างใด หากแต่เป็นความใคร่รู้ธรรมดาสามัญของอดีตนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเจอคุณครูที่มีความสุขในการสอนอย่างเขาเท่าไรนัก มีคำตอบหนึ่งที่เราจำได้แม่น

: ทำไมคุณครูโอ๊ตถึงมาเป็นครูล่ะคะ?

“การมีแบบอย่างที่ดีครับ เราเคยไร้ตัวตน ขาดความเชื่อมั่น (เพราะครูนั่นแหละ) แต่ก็มีครูคนหนึ่งที่คอยเป็นพลังบวกให้นักเรียนในห้อง เราแบบ ว้าวเลย อยากเรียน อยากทำ อยากเป็นคนดี คนเก่ง เพราะเค้าเชื่อในตัวเรา เราเลยแบบ...ถ้ามีครูแบบนี้เพิ่มอีก จะดีไหม และจะอิ่มใจแค่ไหนถ้าครูคนนั้นจะเป็นเราบ้าง เลยตัดสินใจเดินทางสายการสอนครับ”

คำบอกเล่าของเขาเรียบง่ายและเปี่ยมแรงบันดาลใจอย่างนั้นเอง

และในแบบเดียวกันนี้ เราว่าคุณครูหรือเด็กๆที่ได้เรียนกับเขา ได้แรงบันดาลใจจากเขา คงต้องมีใครสักคนอยากเดินสายการสอน โดยมีคุณครูคนนี้เป็นแบบอย่างแน่ๆ และมันคงจะดีที่มีคุณครูแบบนั้นเกิดขึ้นในสังคมของเราอีกเยอะๆ สังคมที่เด็กๆจะได้รับการสั่งสอนด้วยความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ หรือในห้องปกติ หรือไม่เว้นว่าจะเป็นที่ไหน

เราก็ปรารถนาจะเห็นคุณครูอย่างพวกคุณได้ทำหน้าที่ต่อไปอย่างภาคภูมิใจและมีความสุขนะ

.

ด้วยความเคารพจากผู้หยิบยืมความคิดของพวกคุณเพื่อกดขึ้นรูปภาษา

Inskru columnist : Zalome

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(8)