icon
giftClose
profile

วิธีสอน..เพื่อคืนเวลาให้เด็กได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก

9172
ภาพประกอบไอเดีย วิธีสอน..เพื่อคืนเวลาให้เด็กได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก

เด็กค่อนประเทศเจอปัญหา เรียนแล้วเอาความรู้ออกมาใช้งานไม่ได้ หมายถึงใช้ประโยชน์ในชีวิต ทำให้สังคมน่าอยู่ ไม่ใช่เพื่อสอบ แต่ผมเองก็ไม่ได้มีอำนาจไปปรับนโยบายการศึกษาของไทยให้เป็นแบบนั้น เท่าที่ทำได้คือ ออกแบบวิธีเรียนที่ช่วยให้น้องๆ ทำข้อสอบได้ โดยใช้เวลาเรียนน้อยลง 3-4 เท่า จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น

----------------------------------------

ตอนที่ 1 กับดักระหว่างเรียน

----------------------------------------

 

นึกภาพถึงห้องเรียนสิ่งที่เราเห็นได้บ่อยที่สุดคือ ครูยืนสอนหน้ากระดาน เด็กก็นั่งฟังครู ดูกระดาน แล้วจดตาม ท้ายคาบก็ให้การบ้าน มีการสอบประจำเทอม วัดคะแนนตัดเกรด เป็นแบบนี้มาหลายสิบปี หรืออาจจะเป็นร้อยปีแล้วด้วยซ้ำ

 

ลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราในห้องเรียน เราใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฟังครู ดูกระดาน จดตาม เพื่อ “เก็บความรู้เข้าสมอง” แต่ในห้องสอบเราต้อง “ดึงความรู้ในสมองออกมาใช้แก้ปัญหา” คิดเองแบบไม่มีใครช่วย

 

มันดูย้อนแย้งกันใช่ไหมครับ มีการสอบไหนบ้าง.. ที่ให้แข่งกันอ่าน แข่งกันจด เราใช้เวลาไปมากกับการ “เก็บเข้าสมอง” ซึ่งสวนทางกับตอนสอบที่เราต้อง “ดึงออกมาใช้” เห็นด้วยมั้ยครับว่าสิ่งที่ควรสอนในห้องเรียน มันไม่ควรเน้นป้อนความรู้ (ที่เรากูเกิลหาได้ง่ายผ่าน internet) สิ่งที่ต้องสอนคือ “วิธีดึงความรู้ออกมาใช้แก้ปัญหา” ให้คล่องกันตั้งแต่ในห้องเรียนไปเลย

 

ลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์กันดู สมมติว่าเราไปลงเรียนทำอาหาร ถ้าไปเรียนแต่ละครั้ง ครูจะบรรยายถึงวัตถุดิบ อุปกรณ์ครัวไปครึ่งคาบ แล้วทำอาหารให้เราดู อธิบายขั้นตอนให้เราฟังไปอีกครึ่งคาบ เราก็จดสูตรและวิธีทำกลับบ้าน แบบนี้คุณลองเดาดูว่าต้องเรียนกี่ครั้งถึงจะทำอาหารได้อร่อย

 

คุณว่าแบบนี้ดีกว่ามั้ย ก่อนไปเรียนทุกครั้งครูจะส่งข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ก่อนทำอาหารชนิดนั้นมาให้เรารู้ก่อน พอถึงคาบเรียนก็ให้เราลงมือทำ ลองผิดลองถูกกันเอง ปรึกษาดูเพื่อนข้างๆ เธอลองแบบนี้ ฉันลองแบบนั้น จนแต่ละคนได้อาหารจานของตัวเองออกมา

 

จากนั้นครูจะทำอาหารเดียวกันนั้นให้ทุกคนดู ให้ดูว่าเราได้พลาดอะไร ขั้นตอนไหนไปบ้าง ระหว่างสาธิตถ้าสงสัยอะไรก็ถามได้ทันที พอครูทำเสร็จ เราจะได้ชิมอาหารที่ครูทำ รวมถึงอาหารที่ทุกคนทำด้วย

 

ปิดท้ายคาบด้วยการพูดคุยปรึกษาวิเคราะห์กันว่า ใครพลาดอะไรตรงไหน แล้วกลิ่น สี รสชาติ เนื้อสัมผัส จะออกมาแตกต่างกันยังไง? เราจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง แถมยังได้เห็นจุดอื่นที่เพื่อนๆในห้องพลาดกันอีกด้วย แบบนี้แค่เรียนครั้งแรกคุณก็ทำอาหารจานนั้นเป็นแล้ว

 

พอเห็นภาพมั้ยครับว่าเวลาที่เราจะเรียนอะไรสักอย่าง การตั้งใจฟัง ดู จดตาม กลับไปก็ทำการบ้าน อันนี้มันเป็นเปลือก สิ่งที่สมองต้องการจริงๆคือ การลงมือทำ ประสบการณ์จริง การลองผิดลองถูก การพูดคุยปรึกษา แลกเปลี่ยนความเห็น ในหลายๆประเด็นของเรื่องที่กำลังเรียน อันนี้แหละคือแก่นของการเรียนรู้

 

หากมัวเสียเวลาอยู่กับเปลือกแม้จะเป็นร้อยชั่วโมงคุณอาจจะได้แค่รู้ แต่จะยังไม่เข้าใจและเดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าคุณใช้เวลากับสิ่งที่เป็นแก่นเพียงไม่กี่ชั่วโมง คุณจะรู้ลึกในสิ่งนั้น เข้าใจถึงที่มาที่ไปจริงๆ เอาไปใช้งานได้ยาวๆ พลิกแพลงต่อยอดเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆได้อีก 

 

ถึงตรงนี้หลายคนก็เกิดคำถามต่อ ในเมื่อการเรียนในห้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบ ดู ฟัง จดตาม ให้การบ้าน แล้วเราจะต้องทำยังไงล่ะให้เข้าถึงแก่นการเรียนรู้ เราจะพูดกันในตอนถัดไปครับ

 

 

 


------------------------------------------------------------ 

ตอนที่ 2 Learning Cone กรวยการเรียนรู้

------------------------------------------------------------

 

รู้ไหมครับว่าวิธีเรียนด้วยการฟังครู ดูกระดาน จดตาม ที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก ความรู้จะติดอยู่ในสมองเราได้แค่ไหน กูรูด้านการศึกษาของโลกได้เปรียบเทียบวิธีเรียนรู้แบบต่างๆ เราขอเลือกอันที่เข้าใจง่าย ย่อย และสรุปออกมาเป็นรูปนี้ครับ (ของเอ็ดการ์ เดล) ตัวเลขทางขวาคือเป็นค่าประมาณของข้อมูลที่จะติดอยู่ในสมองเราเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุเพิ่มไว้ให้เห็นภาพ 

 

 

ฟังครู ดูกระดาน จดตาม กลับบ้านมาอ่านทวน ถ้าเราทำสิ่งนี้เป็นหลัก ไม่แปลกเลยครับที่เราจะลืมเรื่องที่เรียนง่ายมาก ผ่านไป 2 อาทิตย์เราจะจำเรื่องที่เรียนไปได้แค่ 10-30% ได้คำตอบกันมั้ยครับว่าขึ้น เทอม 2 ถึงลืมของเทอม 1 หรือขึ้น ม.6 ลืมของ ม.4 ไปเกือบหมด

 

จริงๆแล้วอาการที่เรียกกันว่า “เรียนแล้วได้หน้าลืมหลัง” มันไม่ได้เกิดจากเราเรียนเรื่องใหม่ แล้วข้อมูลใหม่มันไปเตะข้อมูลเก่าออกนะครับ เพราะถึงแม้เราไม่เรียนอะไรใหม่ๆ ไปทับเรื่องเก่าเราก็ลืมอยู่ดี มันเป็นกลไกธรรมชาติของสมองที่จะเก็บข้อมูลจากการอ่าน ดู ฟัง ไว้ได้ไม่นาน และทางแก้ที่ทำกันมากที่สุดคือ ถ้าไม่อยากลืมก็ ดู ฟัง อ่าน ป้อนข้อมูลซ้ำเข้าไปเรื่อยๆ เป็นระยะ แต่มันจะเหนื่อยเราน่ะสิ

 

เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ มันเรื่องใหม่ๆให้เรียนเพิ่มเข้ามาตลอด จะมาย้อนทวนของเก่าทุกที่เรียนสะสมมามันไม่มีทางทัน หรือถ้าใครทรหด อดทน ถึกมากๆ ก็อาจทำได้ ว่าแต่มันไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้เหรอ?

 

คำตอบคือมีครับ ลองนึกถึงประเทศที่มีการศึกษาติดอันดับต้นๆของโลก ฟินแลนด์ สวิตเซอแลนด์ เบลเยี่ยม อเมริกา ใกล้บ้านเราหน่อยก็สิงค์โปร์ ชั่วโมงเรียน/สัปดาห์ (h/wk) ของเด็กเขาประมาณ 20-30 h/wk ในขณะที่ประเทศเรา เฉพาะเรียนที่ รร. ก็ปาเข้าไป 35-40 h/wk ถ้ารวมเรียนเสริมนอกเวลาอีกก็จะสูงถึง 45-65 h/wk เลย (แต่คุณภาพการศึกษาเรากลับรั้งท้าย)

 

วิธีแก้ปัญหายอดฮิตในบ้านเรา พอปัญหาเรียนไม่เข้าใจ เรียนแล้วลืม ก็มักหาเรียนเสริม วิธีเรียนวิธีสอนก็แบบเดิม ฟังครู ดูกระดาน จดตาม ให้การบ้าน แต่ดีตรงที่ได้เรียนเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า สรุปประเด็น ย่อยมาให้แล้ว สมองก็รับข้อมูลง่ายขึ้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนที่เข้าไม่ถึงก็อดไป

 

แต่ในระดับโลก เขาพยายามลดชั่วโมงเรียนลง แล้วเลือกใช้วิธีเรียน/วิธีสอนที่ได้ผลมากๆแทน ซึ่งมันดีต่อทุกฝ่าย ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และครู พวกเขาใช้วิธีไหนกันล่ะ?

 

เชื่อว่าทุกคนคงกำลังมองไปที่แถบล่างๆของกรวย ใช่ครับ ถ้าเราเรียนด้วยวิธีนั้น สมองจะเก็บความรู้ได้ถึง 70-90% นี่มันดีกว่าเดิม 4 เท่าเลย และมันไม่ใช่แค่ 2 อาทิตย์ บางเรื่องผ่านไปเป็นปียังไม่ลืมเลยหากมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมอยู่ในเรื่องนั้นด้วย

 

เรื่องนี้จริงหรือไม่ ยืนยันได้ด้วยตัวคุณเอง คุณมีเรื่องที่อยากจะลืม หรือไม่อยากจะนึกถึงมันอีก แต่ลืมมันไม่ได้มั้ยครับ นั่นแหละครับ ยิ่งเรื่องที่มีผลต่อจิตใจยิ่งไม่ลืม กี่สิบปีก็ไม่ลืม ทีนี้เราจะเอาหลักการนี้มาใช้กับการเรียนยังไง ผมขอแบ่งเป็น 2 สเต็ปครับคือ


สเต็ปแรก เราจะเปลี่ยนการเรียนแบบอ่าน ดู ฟัง จดตาม ตรงยอดกรวยซึ่งใช้กันแทบทุกที่ให้มาเป็นแบบฐานกรวยได้ยังไง? ในเมื่อเราไม่ได้มีอำนาจที่จะไปปรับโครงสร้างนโยบายการศึกษาได้ ก็ยังทำได้ครับ มีเคล็ดลับอยู่ซึ่งเราจะพูดกันในตอนที่ 3-5

 

และเมื่อเรารู้วิธีแล้ว สเต็ปสองคือ เราจะพ่วงอารมณ์ความรู้สึก เข้าไปกับเรื่องที่เรียนได้ด้วยวิธีไหน เพื่อให้เราจำเรื่องที่รียนได้นาน แบบเอาไปใช้ได้ยาวๆ อันนี้จะพูดกันในตอนที่ 12-14

 

 

 


--------------------------------------------------------------------- 

ตอนที่ 3 จะเริ่มแก้ปัญหาการเรียนจากตรงไหนดี?

---------------------------------------------------------------------

 

โรงเรียนส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุก ร.ร. นะครับ) มักจะแบ่งการเรียนเป็น 2 พาร์ทคือเริ่มด้วยการสอนเนื้อหาก่อน หลังจากนั้นจึงฝึกทำโจทย์ (แบบฝึกหัด)


พาร์ทแรก คือเรียนเนื้อหา เราจะถูกป้อนความรู้ตามหลักสูตรไปทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ตามสไตล์ของครูผู้สอน (ซึ่งก็คือ ฟังครู ดูกระดาน จดตามนั่นเอง) เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สิ่งที่เด็กได้คือรู้เนื้อหา รู้ว่าที่เรียนน่ะเป็นเรื่องอะไรเกี่ยวกับอะไร มากน้อย ก็แล้วแต่คน


พาร์ทสอง จะเป็นแบบฝึกหัด โจทย์ เริ่มจากง่ายๆก่อน ในห้องเรียนครูมักจะให้ตัวอย่างมา แล้วแสดงวิธีคิดให้ดู ให้เราพอรู้ ว่าเนื้อหาที่เรียนไปมันเอาไปใช้ยังไง ต้องเจอโจทย์แบบไหน

 

พอจบหัวข้อหนึ่ง ก็ขึ้นพาร์ทแรกใหม่ในหัวข้อต่อไป วนไปแบบนี้จนจบบท แล้วก็ขึ้นบบทใหม่

 

ปัญหาที่บ่นกันมากคือ เวลาที่ใช้กับพาร์ทแรกมันเยอะเกินไป จนเหลือเวลาให้พาร์ทสองน้อยนิดเดียว การฝึกโจทย์ฝึกหาคำตอบในพาร์ทสองเป็นสิ่งที่ต้องใช้ตอนสอบ พอเวลาไม่พอก็มักจะโยนเป็นการบ้านไป ด้วยเหตุผลว่าต้องเริ่มเนื้อหาเรื่องต่อไป ไม่งั้นเดี๋ยวสอนไม่ทัน

  

แต่ประเด็นปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ เราเจอรูปแบบการเรียนแบบนี้มาตั้งแต่เข้าโรงเรียน จนกลายเป็นความเชื่อไปแล้วว่าการเรียนต้องเป็นแบบนี้ เรียนเนื้อหาให้เข้าใจก่อน แล้วค่อยฝึกทำโจทย์ มีการบ้านต้องทำส่ง มีการสอบประจำเทอม เราเชื่อกันแบบนี้ไปแล้ว นี่แหละคือปัญหา เพราะเราจะติดในกรอบวิธีเรียนแบบนี้ และไม่คิดว่าจะมีวิธีเรียนแบบอื่นอีก

 

พอเราติดอยู่ในกรอบเดิม ก็แก้ปัญหากันไปในกรอบ ปัญหาที่เจอกันมากๆคือ “ตอนเรียนก็พอเข้าใจ แต่ทำไมเจอโจทย์แล้วทำไม่ค่อยได้” หลายคนก็รู้ว่าเป็นเพราะให้เวลากับพาร์ทสอง (ฝึกโจทย์) น้อยไป ก็พยายามฝึกโจทย์มากขึ้นเพราะมันต้องใช้จริงตอนสอบ แต่พอฝึกโจทย์มากๆ มันก็ไปแย่งเวลาของพาร์ทแรกที่ใช้ป้อนเนื้อหา ก็จะมีคนค้านว่า “ต้องเรียนเนื้อหาก่อนสิ เพราะถ้ายังไม่รู้เนื้อหาจะทำโจทย์ได้ยังไง” ปัญหามันก็วนอยู่อย่างนี้

 

ดังนั้นถ้าถามว่าจะเริ่มแก้ปัญหาที่พันกันอีรุงตุงนังนี้ยังไง ก็เริ่มจากพอตัวเองออกจากกรอบเดิมๆนี้ก่อน เราจะมาพูดกันในตอนที่ 4

 

 


------------------------------------------------- 

ตอนที่ 4 เข้าใจธรรมชาติของสมอง

-------------------------------------------------

 

ผมจะยกเหตุการณ์สมมติขึ้นมาอันหนึ่ง ถ้าเราเคยไปกินอาหารร้าน A ครั้งแรกแล้วอร่อยถูกใจ แต่พอไปกินครั้งที่สอง ไม่ค่อยอร่อยเท่าครั้งแรก เราก็จะยังเชื่ออยู่ว่าร้านนี้อร่อยอยู่มั้ย คำตอบคือคนส่วนใหญ่จะยังคิดว่าร้านนี้โอเคแหละ และจะหาเหตุผลสนับสนุนเช่นว่า อาจเป็นเพราะวันนี้เชฟคนเดิมหยุด หรืออะไรต่างๆนาๆ

 

ในทางกลับกัน ถ้าเราไปกินร้าน B ครั้งแรกแล้วไม่ค่อยอร่อย ถึงจะไปกินอีกครั้งแล้วอร่อยถูกปาก เราก็จะรู้สึกแค่ว่ามันโอเค เพราะภาพเมื่อครั้งแรกมันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกเรามากกว่า คล้ายคำที่พูดกันบ่อยๆว่า first impression นี่เป็นธรรมชาติของสมองเลยครับ ที่จะยึดติดกับประสบการณ์แรกมากกว่าประสบการณ์ที่ตามมาทีหลัง 

 

แล้วมันเกี่ยวกับการเรียนยังไง?

 

ถ้าเริ่มเรียนด้วยการถูกป้อนข้อมูลก่อน ฟังครู ดูกระดาน จดตาม ทำตาม สมองก็จะยึกติดกับสิ่งนี้ ชินกับการไม่ต้องคิดเอง เหมือนเราบอกสมองให้ทำตามครูบอกไปนะ

 

พอป้อนเนื้อหาเสร็จ คราวนี้ต้องฝึกแก้โจทย์ ต้องทำเอง คิดหาคำตอบเอง อาการ “เจอโจทย์แล้วไปไม่เป็น” เกิดจากสมองเราเคยชินกับการถูกป้อนไปแล้ว ครูก็มักแก้เกมส์โดยการบอกใบ้ หรือคอยแนะให้ (ทั้งๆที่ตอนสอบไม่มีใครช่วย) ก็ช่วยได้ครับ กระตุ้นให้สมองปรับตัวทีละนิด แต่กว่าจะปรับตัวให้ชินกับการคิดหาคำตอบด้วยตัวเองได้ต้องใช้เวลานาน มันไม่มีทันสอบน่ะสิ

 

แล้วต้องแก้ยังไงล่ะ? จริงๆแล้ววิธีแก้ก็ไม่ยาก และบางคนก็ใช้วิธีไปแล้วโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ลองดูเหตุการณ์ตัวอย่างนี้แล้วคุณอาจจะนึกออก

 

เคยเป็นมั๊ยครับเวลาเราจะเลือกซื้อของขวัญสักอย่างให้ใครสักคน แล้วไปเดินตลาด ไปเดินห้าง เห็นของมากมายหลายอย่างแต่ไม่รู้จะซื้ออะไรดีแม้จะเดินดูหลายชั่วโมงแล้ว การเรียนก็คล้ายกันครับ เนื้อหามีหลายบท บทหนึ่งก็มีหลายหัวข้อ ถ้าเริ่มอ่านไปเรื่อยๆทีละหัวข้อ ทีละบท อ่านไปสักักก็ง่วง ก็เหมือนไปเดินห้างไล่ไปทีละชั้น ทีละแผนกโดยยังไม่รู้จะซื้ออะไร เดินนานๆก็เบื่อ    


แต่ถ้ามีโจทย์ในใจแล้ว สมมติว่าจะซื้อนาฬิกา มันจะง่ายขึ้นมาก เราโฟกัสได้เลย ก็มองหาแต่นาฬิกาเท่านั้น การเรียนก็ไม่ต่างกัน ถ้าเราได้เห็นโจทย์ เราจะรู้ว่าคำถามจะถามแนวไหน เขาถามอะไรมา เราก็ไปเปิดหาในหัวข้อนั้น เบาแรงเราได้เยอะ

 

ทีนี้มาลองนึกถึงตอนทำข้อสอบที่เป็นข้อความยาวๆมาให้อ่าน เพื่อตอบคำถาม 3-4 ข้อ ถ้าใครอ่านบทความยาวๆนั้นจนจบ แล้วถึงมาอ่านคำถาม ตอนจะหาคำตอบก็มักต้องย้อนกลับไปดูข้อความอีกรอบอยู่ดี

 

ทริคที่ใช้กันเยอะคือให้เราไปอ่านโจทย์คำถามก่อนเพื่อจับ Keyword ว่าจะถามเกี่ยวกับอะไร แล้วค่อยมาอ่านบทความ เราจะรู้เลยว่าตรงไหนสำคัญ ตรงไหนไม่ต้องเสียเวลาอ่าน เราจะได้คำตอบเร็วกว่า (คล้ายๆเรื่องซื้อของขวัญ ถ้าเรามีโจทย์ก่อนว่าจะซื้ออะไร จะหาซื้อได้เร็ว)

 

ตอนเรียนวิชาต่างๆก็สามารถทำแบบนี้ได้ครับ จากเดิมเรามักจะอ่านหรือเรียนเนื้อหาก่อน แต่พอตอนทำโจทย์ อ่านคำถามแล้วก็ต้องเปิดกลับไปดูเนื้อหาอีกที สังเกตดีๆจะเห็นว่าการเรียนหรืออ่านรอบแรกนั้นเราจะไม่ได้อะไรมาก หรือเห็นแค่ภาพรวม รู้แค่คร่าวๆในเรื่องนั้น พอมาเห็นโจทย์ คำถามจะเป็นเหมือนไกด์บอกให้เราไปอ่านตรงไหน เราก็กลับไปอ่านเจาะส่วนนั้นอีกทีเพื่อหาคำตอบ

 

ได้คำตอบแล้วใช่มั้ยครับว่าก่อนเริ่มเรียนเนื้อหา ถ้าเราแค่เปิดอ่านดูแนวคำถาม แนวโจทย์ก่อน สมมติเรื่องที่กำลังจะเรียนมีโจทย์ 20 ข้อ ใช้เวลา 5-10 นาทีก็อ่านได้ครบแล้ว อ่านเฉยๆแค่ให้รู้ว่าถามอะไร และพอเราไปเรียนในห้องก็จะจับทางได้เร็ว

 

นอกจากเรียนในห้องแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการอ่าน เป็นกันมั๊ยครับ อ่านหนังสือแล้วง่วง อ่านแล้วไม่เข้าหัว ในตอนต่อไปเราจะบอกเทคนิคว่า อ่านยังไงไม่ให้ง่วง และอ่านยังไงให้เข้าใจได้เร็ว 

 

 



------------------------------------------ 

ตอนที่ 5 เรียนยังไง? ไม่ให้ลืม

------------------------------------------

 

ตอนที่แล้วที่ว่าให้อ่านโจทย์ ดูแนวคำถามของเรื่องที่จะเรียนก่อนไปเรียน พอไปเรียนในห้องแม้จะจับทางเนื้อหาได้เร็วขึ้น แต่ถ้ายังเน้น ฟังครู ดูกระดาน จดตาม ความรู้มันก็ติดสมองแค่ 10-30%อยู่ดี ยังจำรูปนี้กันได้ไหมครับ


ไหนๆเราก็จะอ่านโจทย์ดูแนวคำถามก่อนไปเรียนแล้ว ทำไมไม่ลองเปิดดูเนื้อหาคร่าวๆด้วยล่ะ คือแค่เปิดผ่านๆ ทีละหน้า เหมือนไถนิ้วบนมือถือ อ่านดูภาพรวม ว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง แต่ละย่อหน้ามีคำแปลกๆที่ไม่เคยเจอบ้างไหม แค่อ่านเฉยๆนะครับ ผ่านสายตาเร็วๆแบบไม่ต้องสงสัยหรือคาดหวังว่าจะเข้าใจ

 

ตอนแรกที่เราอ่านสแกนโจทย์ดูแนวคำถาม แล้วพอเรามาอ่านสแกนเนื้อหาดูภาพรวม เราจะเจอข้อความ หรือคำพูดที่คล้ายๆกัน รวมถึงคำแปลกๆที่เราไม่รู้จักด้วย สมองเราจะสร้างแผนผังขึ้นมาคร่าวๆแล้วว่า คำถามข้อนั้น มันตรงกับเนื้อหาหัวข้อนี้ ย่อหน้าไหน สมองมันจะแมทชิ่ง (matching) ให้โดยอัตโนมัติตามธรรมชาติของมัน

 

จากเมื่อกี๊ที่สมมติว่ามีโจทย์ 20 ข้อ สมองแมทชิ่งได้สัก 10 ข้อก็คุ้มแล้ว เพราะสมองของเราสร้างแผนผังเชื่อมโยงแนวคำถามกับเนื้อหาหัวข้อต่างๆไว้แล้ว แผนผังหรือชุดความคิดนี้ เป็นข้อมูลที่เราสร้างขึ้นเอง ถือเป็นความคิดของเรา

 

พอเราไปเรียนในห้อง แต่ก่อนที่เราฟังครู ดูกระดาน จดตาม แบบคนเริ่มเรียนใหม่ๆ ยังไม่รู้อะไรเลย แต่คราวนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว สมองจะเอาข้อมูลที่เรา ฟังครู ดูกระดาน มาเปรียบเทียบกับข้อมูลแผนผังชุดความคิดของเราที่สร้างไว้ก่อนมาเรียนโดยอัตโนมัติ

 

การที่สมองเอา “ข้อมูลที่ครูสอน” กับ “ข้อมูลของเรา” มาเปรียบเทียบกัน สมองจะเห็นจุดคล้าย จุดต่าง ส่วนที่คล้ายกันจะผนึกรวมกัน ส่วนที่ต่างกันจะเอามาแลกเปลี่ยนกัน มันเหมือนเวลาเราคุยกับเพื่อนเรื่องหนึ่ง จะมีเห็นพ้องต้องกันบางส่วน ส่วนที่เห็นไม่ตรงกันก็พูดคุย ถกเถียงกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

 

แบบนี้แม้ในห้องเรียนเราจะฟังครู ดูกระดาน แต่การเรียนรู้ที่เกิดในสมองของเราจะตรงกับช่องสีเหลืองเข้ม ความรู้ทั้งหมดจะติดในสมองเราได้ถึง 70% แล้ว แลกกับเวลาไม่กี่นาที ที่เราใช้อ่านสแกนโจทย์คำถาม และสแกนเนื้อหาก่อนมาเรียน แบบนี้คุ้มมั้ย 

 

ตอนนี้เรารู้เทคนิคอ่านสแกนเพื่อแก้ปัญหาเรียนแล้วลืมไปได้บางส่วนแล้ว ในตอนต่อไป เราพูดถึงเทคนิค “อ่านเจาะ” ที่จะช่วยแก้ปัญหาเจอโจทย์แล้วไปไม่เป็น

 


---------------------------------- 

ตอนที่ 6 เทคนิคอ่านเจาะ

----------------------------------

 

ถ้าเราสรุปเทคนิคจากตอนที่แล้วออกมาเป็นขั้นตอนจะได้แบบนี้


 

การทำแบบนี้จะแก้ปัญหาเรียนแล้วลืมไปได้เยอะแล้ว แต่ปัญหาเจอโจทย์แล้วไปไม่เป็นจะยังอยู่ เราต้องเพิ่มขึ้นตอนไปอีก 1 ขึ้น ก่อนไปเรียนในห้องครับ คือเมื่อสมองเราได้แผนผังแมทชิ่งแล้วว่าโจทย์ข้อไหนต้องอ่านเนื้อหาตรงส่วนไหน ทำไมเราไม่ลอง “อ่านเจาะ” ที่เนื้อหาส่วนนั้น แล้วแก้โจทย์ข้อนั้นเองก่อนล่ะครับ

 

จุดนี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อเลย ว่าใครจะได้ไปต่อ หรือจะหยุดอยู่แค่นี้ ลองดูครับว่าคุณคิดเห็นใกล้เคียงกับข้อไหนมากที่สุด

ก. ยังไม่ได้เรียนเนื้อหาเลย จะทำโจทย์ได้ยังไง?

ข. ลองทำดูก่อนก็ดีเหมือนกัน จะผิดจะถูกก็ไม่ซีเรียส

 

ถ้าข้อ ก. ตรงกับคุณ ลองถามความรู้สึกตัวเองดูครับว่า ทำไมคุณถึงอยากทำโจทย์หลังจากเรียนเนื้อหาแล้วล่ะ? ถ้าคำตอบคือ


ก-1 “ไม่รู้ว่าคิดยังไง ทำไม่เป็น” แปลว่าคุณไม่ชอบที่คิดเองทำเอง     ก่อน รอดูคนอื่นทำแล้วค่อยเรียนรู้ทำตาม ก็ไม่แปลกครับ  หลายคนก็เป็นแบบนี้ แต่อย่าลืมว่าตอนอ่านสแกนเนื้อหา เรา    มักจะเห็นตัวอย่างโจทย์ผ่านตามาบ้าง นั่นไงครับตัวอย่างที่ คุณสามารถดูแล้วทำตามได้ จะผิดจะถูกอย่าไปซีเรียส ก็คุณยังไม่ได้เรียนเรื่องนี้ จะทำผิดก็ไม่เห็นแปลก และคุณกำลัง  สร้างนิสัยกล้าคิดกล้าทำให้ตัวเองด้วย แต่หากคุณมีนิสัยนี้อยู่ แล้วคุณน่าจะเลือกข้อ ก-2


ก-2 “ก็ถ้ายังไม่เรียนเนื้อหา ทำไปก็อาจจะผิด รอเรียนก่อนแล้วจะ     ได้ทำได้ถูกไปเลย” แปลว่า คุณไม่ชอบที่จะทำอะไรแล้วมัน ผิดพลาด คุณอยากจะทำให้มันถูกไปเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก    ครับ ผมอยากให้คุณเปิดใจรับความจริงอย่างหนึ่งคือ สมอง มนุษย์ถนัดที่จะเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกมาตลอด ไม่ว่าจะเรียนรู้อะไร ก่อนจะขี่จักรยานเป็นก็ต้องเคยล้มก่อน ก่อนจะว่ายน้ำเป็นก็มักสำลักน้ำหรือเคยจมก่อน ก่อนจะทำกับข้าว  อร่อยก็เคยทำไม่อร่อยมาก่อน เพราะไม่มีใครเก่งอะไรมาตั้งแต่แรก จริงมั้ยครับ ถ้าเห็นด้วย คุณน่าจะเปลี่ยนใจเลือก ข้อ ข. แล้วตอนนี้ (หรือผมอาจเดาผิดก็ได้ คนเรามีความคิดต่างกันได้ครับ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อยากให้คุณได้ลองอ่านสิ่ง ที่จะได้รับหาก เลือก ข. แล้วดูว่าคุ้มมั๊ย)

 

สำหรับคนที่ตรงกับข้อ ข. ตั้งแต่แรก แปลว่าคุณกล้าที่จะลองคิดหาคำตอบ ลองแก้โจทย์ด้วยตัวเอง หลังจากอ่านสแกนโจทย์และเนื้อหาแล้ว ก็จะเพิ่มขั้นตอนสีส้มมาตามรูปนี้

 

 

 


เมื่อคุณลองทำเองดู ไม่ได้ซีเรียสว่ามันจะถูกหรือผิด สิ่งที่คุณจะได้ตอบแทนคือ ถ้าทำถูกคุณจะได้ความภูมิใจ (นี่เราทำถูกได้เองตั้งแต่ก่อนเรียนเลยนะเนี่ย) หรือหากทำแล้วผิด คุณจะจำมันได้แม่น ครั้งต่อๆไปคุณจะพลาดน้อยลงเรื่อยๆ และในวันสอบคุณจะพลาดน้อยมากหรือไม่พลาดเลย แบบนี้ไม่ว่าคุณจะทำถูกหรือทำผิด คุณก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่

 

แบบนี้คุ้มไหมครับ? และเมื่อฝึกจนเป็นนิสัย เท่ากับคุณได้หายจากอาการเจอโจทย์แล้วไปไม่เป็นแล้ว

 

เท่านั้นยังไม่พอครับ ยังมีของแถมอีกอย่างที่คุณได้ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เราจะพูดในตอนต่อไป

 


 

----------------------------------------------- 

ตอนที่ 7 อัพเกรดเวอร์ชั่นให้สมอง

-----------------------------------------------

 

เมื่อคุณฝึกคิดหาคำตอบเองจนก่อนไปเรียนไปฟังเฉลยจากอาจารย์จนชินเป็นนิสัย ยิ่งคุณผิดพลาดมากเท่าไหร่ตอนฝึกเอง โอกาสที่จะไปผิดตอนสอบก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ประโยชน์ที่คุณได้รับยังไม่ได้หมดแค่นี้นะครับ

 

คุณยังได้ของแถมอีกอย่างโดยไม่รู้ตัว เพราะระหว่างที่คุณอ่านโจทย์ อ่านเจาะเนื้อหา ลองคิดลองทำเพื่อหาคำตอบเอง สิ่งนี่ไม่ใช่หรือที่คุณต้องทำในห้องสอบ เท่ากับว่าคุณกำลังเปลี่ยนการอ่านธรรมดา (ตรงยอดกรวย) ให้เป็นการจำลองสถานการณ์ (ตรงฐานกรวย) ไปเรียบร้อยแล้ว

 

 

และเมื่อคุณไปเรียนในห้อง ฟังครู ดูกระดาน สมองจะเอาข้อมูลที่ครูสอน มาเปรียบเทียบแลกเปลี่ยนกับความคิดชุดที่คุณได้อ่านสแกน อ่านเจาะตอนคิดหาคำตอบเองมาก่อนหน้า เท่ากับว่าการเรียนรู้ที่เกิดในสมองของคุณจะเข้าช่องล่างๆของ Learning Cone ทั้งหมด ปัญหาเรียนแล้วลืม ปัญหาเจอโจทย์แล้วไปไม่เป็นก็จะน้อยลงมาก หรือแทบไม่เจอเลย

 

แต่เมื่อคุณลองลงมือทำตามขั้นตอนนี้จริงๆ แล้วจะพบว่ามันไม่ง่ายเลย มันจะฝืนๆ หน่วงๆ และต้องใช้ความพยายามมากๆ นั่นเพราะเราเคยชินกับแบบยอดกรวยมาเป็นสิบปี สมองเราขี้เกียจไปแล้วจนเคยตัว ให้ฝึกต่อเนื่องสัก 3-4 สัปดาห์ครับ สมองเราจะปรับตัวได้และเราจะเหมือนได้สมองใหม่ที่ทำงานได้ดีกว่าเดิม 4 เท่า

 

จากที่ผมให้นักเรียนหลายร้อยคนได้ลองเรียนด้วยวิธีนี้ ผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือน้องๆ อ่านจับประเด็นได้เร็ว เห็นภาพรวม กล้าคิด กล้าทำ กล้าถามในจุดที่สงสัย คิดแก้ปัญหาโจทย์ได้คล่องกว่าเดิม และทำคะแนนสอบได้สูงขึ้นมาก และทั้งหมดที่พูดมานี้รวมแล้วใช้เวลาเรียนน้อยลงจากเดิม 2-3 เท่า

 

แต่ภาพความสำเร็จนี้ย่อมมีเบื้องหลังที่ยากลำบากอยู่หลายอย่าง ซึ่งถ้าใครได้ลองฝึกตามขั้นตอนนี้แล้วน่าจะเจอปัญหาคล้ายๆกัน

 

 

 


ตอนอ่านสแกนโจทย์ เราต้องเลือกหนังสือที่เรียงลำดับโจทย์จากง่ายไปยาก โจทย์ต้องไล่เช็คได้ทุกคอนเซปต์สำคัญในเนื้อหาที่เราจะเรียน ซึ่งจุดนี้มันเกินกำลังที่เด็กนักเรียนจะรู้ได้ หรือเลือกได้ถูกเล่ม เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง?



 

---------------------------------------------------

ตอนที่ 8 วิธีเลือกหนังสือและโจทย์ฝึก

---------------------------------------------------

 

การเลือกหนังสือที่มีโจทย์เรียงจากง่ายไปยาก มีโจทย์ที่ไล่เช็คได้ทุกคอนเซปต์สำคัญของเนื้อหาที่เรียน วิธีที่ช่วยได้คือต้องถามจากรุ่นพี่ที่เก่งวิชานั้นหลายๆคน ให้เขาแนะนำว่าแต่ละเล่มดียังไง บางทีก็อาจต้องใช้หลายเล่มผสมกัน

 

สำหรับวิชาเคมีที่ผมสอน ผมรวบรวมจัดเรียงไว้ให้อยู่แล้วในคอร์สเรียน ไม่ใช่แค่เรียงจากง่ายไปยาก และถามเช็คได้ครบทุกประเด็นเนื้อหา ผมยังเพิ่มเติมโจทย์ตามเหลี่ยมมุมที่ข้อสอบจะออกได้มาให้อีก เพื่อให้น้องๆไม่กลัว หรือตื่นเต้นเวลาสอบ ผมอยากให้น้องรู้สึกชิน แบบว่าเคยเจอเคยทำมาหมดแล้ว และรู้ทันว่าคนออกข้อสอบคิดอะไรอยู่



 

ปัญหาต่อมาคือตอนอ่านสแกนเนื้อหา ถ้าเป็นเรื่องใหม่ๆที่เด็กไม่เคยเรียน จะมีพวกคำแปลกๆ ที่ไม่รู้ความหมาย ถึงแม้จะอ่านเจอคำอธิบาย แต่หนังสือส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุกเล่ม) มักจะใช้ภาษาทางการที่อ่านแล้วต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที อ่านทีเดียวจะไม่เข้าใจ หรืออ่านวนหลายทีแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี

 

แล้วพอไปเทียบกับแนวคำถามในโจทย์ เราจะพบว่าโจทย์มักถามไปที่ข้อความระหว่างบรรทัด คือไม่ได้ถามในสิ่งที่เนื้อหาเขียนบอกเราตรงๆ เราต้องคิดต่อเองไปอีกขั้นสองขั้นก่อน ไอ้ตรงนี้แหละคือข้อจำกัดของภาษาทางการ คำทางการที่มีมันไม่มากพอจะสื่อความหมายได้เข้าใจเห็นภาพเหมือนภาษาพูดที่เราใช้กันจนชิน

 

ลองนึกดูครับ ถ้าหนังสือเรียนแต่งด้วยภาษาพูดเป็นหลัก ใช้ศัพท์วิชาการเท่าที่จำเป็น มีอธิบายความหมายของคำนั้นๆด้วยภาษาพูดที่คนอ่านปุ๊บ เข้าใจเลย แบบนี้ดีมั๊ยครับ ผมเองพยายามตามหาหนังสือแบบนี้แล้วแต่หาไม่ได้ จึงพยายามทำขึ้นมา ตั้งใจแต่งอยู่นานหลายปี เกลาแล้วเกลาอีก ออกมาเป็นหนังสือเคมีที่ใช้ประกอบการสอนของตัวเอง คือเราทำขึ้นมาแบบคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะอยากอ่านหนังสือแบบไหน มีน้องบางคนอ่านแล้วบอกว่า อ่านสนุก เห็นภาพ รู้ตัวอีกทีก็ตีหนึ่งแล้ว (แค่นี้คนแต่งก็หายเหนื่อยละครับ)

 

สำหรับหนังสือวิชาอื่นๆ วิธีเลือกผมแนะนำให้ลองเปิดอ่านดูสักหัวข้อ ดูว่าเราเข้าใจแบบเห็นภาพไหม ถ้าเล่มนั้นทำได้ก็เล่มนั้นแหละครับที่เหมาะกับคุณ


-----------------


ส่วนหนึงจากหนังสือ ติดเทอร์โบให้สมอง (โดยครูกุ๊ก)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)