icon
giftClose
profile

อิสระทางความคิดกับวิทยาศาสตร์

18120
ภาพประกอบไอเดีย อิสระทางความคิดกับวิทยาศาสตร์

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ความสนใจและให้อิสระแก่ผู้เรียนเป็นตัวนำทางการเรียนรู้

ที่มา : วิชาเคมี 6 วิชาที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบนักวิทยาศาสตร์ โดยมีการตั้งสมมติฐาน การหาข้อมูล และการทำการทดลอง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโควิด และโรงเรียนมีอุปกรณ์เพียงพอที่จะให้เด็กๆได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ครูโบว์จึงได้ออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ โดยใช้ความสนใจและให้อิสระแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ในวิชานี้

.

ครูโบว์ใช้เวลากับวิชานี้เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของเด็ก ม.5 เตรียมขึ้น ม.6 โดยเริ่มต้นจากการชวนเด็กๆ นำประเด็นทางวิทยาศาสตร์หรือทางเคมีอะไรที่อยากรู้จัก ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน หรือได้เจออยู่เป็นประจำ แต่ไม่รู้จักว่ามันเอามาใช้ทำอะไรที่สนใจมา 1 เรื่อง โดยห้ามซ้ำกัน จากนั้นให้เด็กๆ ได้ศึกษาหาข้อมูล แล้วจับประเด็นที่ตัวเองสงสัยหรืออยากรู้จักมากขึ้น  

.

“เอาประเด็นที่ตัวเขาเองอยากรู้ เหมือนเวลาที่เรามีแพสชั่นอะไรบางอย่างแล้วเราอยากไปให้สุด" ... ครูโบว์กล่าว ข้อมูลที่นักเรียนได้ศึกษาหาข้อมูลจะถูกรวบรวมอยู่ในรูปของบทความทางวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเชิงบทความทางวิทยาศาสตร์หรือเชิงเล่าสู่กันฟัง โดยนักเรียนจะได้อิสระในการหาข้อมูลที่ตนเองสนใจ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเสนอ ในเวลา 7-15 นาที และมีการถามตอบข้อสงสัยหลังการนำเสนอ ต้องให้คนอ่านหรือคนฟังรับรู้ว่านักเรียนกำลังสื่ออะไร และต้องมีแหล่งอ้างอิงเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์ไทยบางส่วน เป็นการแชร์ต่อ จึงไม่มีความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทำให้นักเรียนได้ตรวจสอบว่าข้อมูลของต่างประเทศที่ได้สืบค้นมามีข้อมูลตรงกันหรือไม่ เพื่อที่จะสื่อหรืออนุมานได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีความถูกต้อง

.

นักเรียนจะได้ประเมินตัวเองว่าได้อะไรบ้างจากการเรียนรู้ ครูโบว์จะไม่ถามว่าเรียนอะไร แต่จะถามว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไร รู้สึกว่าทำอะไรได้ดี และอะไรที่รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดี ซึ่งคราวหน้ามันจะถูกแก้ไข แล้วแก้ยังไง เพราะฉะนั้นไม่สามารถตัดเกรดแบบวิชาอื่นๆได้ เพราะครูโบว์ออกแบบไว้แล้วว่าจะไม่ตัดเกรด จะดูเรื่องของศักยภาพและพัฒนาการของตัวนักเรียน ความตั้งใจหรือการมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ความพอใจของผู้เรียน

.

นักเรียนคนหนึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับไฮโดเจนเปอร์ออกไซด์ นักเรียนรู้ว่าสารตัวนี้มันมีความอันตราย มันใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่มันอันตรายมากกว่าแอลกอฮอล์คนก็เลยไม่นำมาใช้ นักเรียนก็เลยตั้งข้อสันนิษฐานว่ามันจะมีใครหรือไม่ที่เอาสารนี้ที่ติดไฟง่าย อันตราย และใช้ฆ่าเชื้อโรคเนี่ย เอาไปใช้สร้างเหตุฆาตกรรม ก็ให้นักเรียนได้ลองค้นคว้าดู นักเรียนค้นพบว่าไม่มีเหตุฆาตรกรรมที่เกิดจากไฮโดเจนเปอร์ออกไซด์ แต่มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหล นักเรียนก็ได้เรียนรู้จากสิ่งที่สนใจและสงสัย นำไปสู่การหาคำตอบ เพื่อตอบสิ่งที่สงสัย

.

สิ่งที่ครูโบว์ได้เรียนรู้จากการสอนในวิชานี้ ... "ศักยภาพของเด็ก เด็กในวิชานี้ให้ทำงานเดี่ยวแล้วต่างคนต่างทำ แต่เมื่อทุกคนทำงานกลุ่มร่วมกัน พบว่าเด็กบางคนลดทอนศักยภาพของตัวเองไปโดยการที่ทำตัวเล็กให้เพื่อนใหญ่กว่า หรือปัดความรับผิดชอบอะไรก็แล้วแต่ในเจตนาของนักเรียนเอง แต่พองานเดี่ยว ทุกคนต้องลุกขึ้นมาจากการเป็นคนตัวเล็กมาเป็นคนตัวใหญ่ในงานของตัวเอง เราก็เห็นว่าเด็กบางคน ตอนเรียนเค้าไม่ค่อยพูด เรายังคิดว่าจะพูดได้มั้ย จะเป็นยังไง ปรากฎว่าพอถึงเวลาจริงๆ เค้าทำได้ และทำได้ดีด้วย เค้าก็พูดเลยว่าเค้าไม่เคยทำแบบนี้ เราก็ต้องฝึกแล้วเค้าก็ทำออกมาได้ ศักยภาพของเด็กบางครั้ง มันขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะให้เค้าแสดงออกด้วย"

.

ครูโบว์จะถามเด็กทุกครั้งว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ ด้วยความที่มีความหลากหลายของประเด็นที่นักเรียนเลือกศึกษาค้นคว้า มันจะมีมุมที่คาดไม่ถึง เช่น เด็กทำเรื่องเกลือ ซึ่งเกลือเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เด็กคนนี้เลือกที่จะทำเรื่องเกลือ เพราะว่าเค้าเล่นเกมส์ แล้วได้ยินมาว่า “โหววว แม่งเกลืออีกละ” ก็เลยสงสัยว่าทำไมเกลือถึงมาโยงกับเกมส์ได้ จนได้ข้อสรุปว่าเกลือเป็นสิ่งพื้นฐาน ได้ไอเทมที่มีอยู่แล้วเอาไปก็ไม่ช่วยอะไร เด็กคนนี้ภูมิใจมากกับสิ่งที่าค้นพบ ซึ่งมันคือชีวิตเค้า แล้วเค้าได้คำตอบจากสิ่งที่สงสัย 


บทความทั้งหมดของนักเรียนจะถูกรวบรวมเป็นรูปเล่ม เพราะครูโบว์เชื่อว่า.."งานใดก็ตามที่เราส่งให้เด็กทำแล้วมันมีคุณค่า แล้วมันกลายเป็นพื้นฐานให้กับคนอื่น เด็กจะรู้สึกภูมิใจ อันนั้นผลงานการค้นคว้าทางวิชาการของรุ่นเธอ นี่คือความสามารถของเด็ก รุ่นน้องจะได้เห็นตัวอย่างเป็นพื้นฐาน เชื่อว่าคนเราต้องพัฒนา จะพัฒนาแค้ไไหนก็ต้องมีฐานน้อยๆ ให้เค้าได้เห็นก่อน"





เครดิตไอเดียการสอน

ครูลัดดาวรรณ เหล่าเกียรติกุล (ครูโบว์)

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า จ.นนทบุรี 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(3)