สอนสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนปฐมวัย ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและสำคัญกับเด็กปฐมวัยมาก ๆ เพราะว่าเด็กวัยนี้จะต้องอาศัยอยู่บนโลกไปนี้ไปอีกนาน พวกเขาควรได้รับการปลูกฝั่งตั้งแต่วัยนี้”
“คิดก่อนว่าอยากให้เด็กได้เรื่องอะไร”
ครูนกยูงจะวางแผนการสอนรายสัปดาห์ ว่าในสัปดาห์นี้ครูอยากให้นักเรียนได้เรื่องอะไร แต่หากแผนที่วางไว้ยังไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ ครูนกยูงก็จะปรับหรือเปลี่ยนแผนการสอนเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด
“ถ้านักเรียนจำชื่อตัวละคร Ben 10 ได้ ก็ต้องจำศัพท์เกี่ยวกับการรักษ์โลกได้”
ครูนกยูงเชื่อว่านักเรียนอนุบาลสามารถเรียนรู้เรื่องที่อาจจะดูซับซ้อนได้ อยู่ที่การออกแบบการสอนของครูผู้สอน ครูนกยูงจึงออกแบบห้องเรียนของเด็กอนุบาลเป็นห้องเรียนที่นักเรียนได้ปฏิบัติจริง เหมือนเป็นการเล่นและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
“นักเรียนวัยนี้เรียนรู้ได้จากการได้ลงมือทำจริง ๆ ”
หลังจากที่ครูนกยูงตั้งเป้าหมายของสิ่งที่อยากให้นักเรียนได้เรียนรู้เรียบร้อยแล้ว ครูนกยูงก็ออกแบบการสอนในแต่ละวันให้ต่อเนื่องกัน ตัวอย่างเช่น เป้าหมายสัปดาห์นี้คืออยากให้นักเรียนเข้าใจเรื่องปัญหาขยะและสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง ครูนกยูงจึงวางแผนการสอนที่ต่อเนื่องกันคือ วันจันทร์ ถึงวันพฤหัสสอนเรื่อง ประเภทของขยะ และ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) พอถึงวันศุกร์ครูนกยูงก็ชวนนักเรียนมาคุยกันเรื่องปัญหาขยะ ด้วยการเปิดคลิปของสัวต์โลกที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน และตั้งคำถามให้นักเรียนคิดตาม เช่น “ทำไมหมีขั้วโลกต้องออกมาคุ้ยขยะหาอาหาร” “นักเรียนคิดว่าโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณหมีทำไหม” “แล้วเราจะมีวิธียังไงในการหยุดปัญหานี้” พอมาถึงตรงนี้ คำตอบของนักเรียนจะมีหลากหลาย โดยนักเรียนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมก่อนหน้านี้มาตอบ เช่น ลดการใช้พลาสติก ปิดไฟและพัดลมหลังเลิกใช้งาน จนมาถึงการแยกขยะ
“(ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากแค่ไหน) เด็กเข้าใจได้ เราพิสูจน์มาแล้ว”
กิจกรรมนี้ครูนกยูงให้นักเรียนลองแยกขยะอย่างจริงจัง หลังจากใส่อุปกรณ์กันเปื้อนแล้ว ครูนกยูงยกถุงดำที่เต็มไปด้วยขยะออกมาที่มีอยู่ให้นักเรียนช่วยกันแยก โดยแบ่งขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะอันตราย และขยะที่ recycle ได้ นักเรียนช่วยกันคนละไม้คนละมือจนแยกสำเร็จ และพบว่าขยะทั่วไปที่ต้องทิ้งเหลือน้อยมาก ขยะเปียกนำไปทำปุ๋ยที่สวนเกษตรของโรงเรียน ขยะอันตรายเช่นหน้ากากอนามัย นำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะของโรงพยาบาลใกล้โรงเรียน และขยะ recycle แยกไว้ขาย กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนได้รู้ถึงประโยชน์ของการแยกขยะและช่วยเรื่องการจัดการขยะอีกด้วย จากกิจกรรมเล็ก ๆ นี้สามารถนำไปต่อยอดอย่างยั่งยืนได้ เมื่อนักเรียนคุยกันว่าต่อไปจะแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง โดยต่อไปนี้จะแยกขยะใส่กล่องชั่วคราวก่อน จนกว่าจะหากล่องใหม่ได้ นี่คือตัวอย่างการเรียนรู้จากการลงมือทำ และนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้
“สิ่งแวดล้อมกับเด็กฟังดูเหมือนยากที่จะเข้าใจ แต่เราคิดว่ามันไม่ยากเกินไปจะอธิบาย เด็กเข้าใจได้ เราพิสูจน์มาแล้ว” - ครูนกยูง ปานตา ปัสสา
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!