icon
giftClose
profile

ทดลองศิลปะกับ ‘monoprint’

21951
ภาพประกอบไอเดีย ทดลองศิลปะกับ ‘monoprint’

เรียนรู้ศิลปะและการผสมสีจากการทดลอง

“เวลาเด็กอยู่บ้านจะชอบเล่นเกมหรือดูหนังที่สนุก เรารู้สึกว่าเวลาเราทำการเรียนการสอนให้สนุก มันจะเข้ากับพวกเขา”


ในคาบเรียนศิลปะชั้น ป.6 ครูแคมป์ได้สอนทำ monoprint หรือภาพพิมพ์ชั้นเดียว ภาพพิมพ์ที่เราเอาวัสดุมาปั๊มหรือทาสีบนพื้นผิวแล้วเอากระดาษมาแปะเพื่อพิมพ์สี




เซ็ทห้องเรียน

ก่อนที่ครูแคมป์จะมาสอนที่นี่ ที่โรงเรียนไม่มีครูศิลปะโดยตรง จะเป็นครูประจำชั้นมาสอนแทน เด็ก ๆ จะได้เรียนแบบแห้ง ๆ อย่างให้วาดรูปครอบครัว

เมื่อครูแคมป์มาเริ่มสอนที่นี่ก็มาเซ็ทความคิดความเข้าใจกับนักเรียนใหม่ ครูจะบอกเด็ก ๆ ว่า “เรียนศิลปะกับครูแคมป์ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องคิดมาก ทำตามที่เราต้องการจะสื่อสาร”

ชวนให้เด็กได้รู้สึกว่าเป็น ‘การทดลองสี’ และพยายามออกแบบคาบเรียนให้สนุก



monoprint ทำอย่างไร

ปกติแล้ว monoprint ต้องใช้กระจก แต่ที่โรงเรียนไม่มีครูจึงใช้ถาดพลาสติกแทน ครูบอกขั้นตอนกับนักเรียนว่า จะใช้พู่กันป้ายสีโปสเตอร์มาละเลงบนถาด แล้วเอาที่ฉีดน้ำฟอกกี้มาฉีกลงไปที่สี จากนั้นเอากระดาษมาวางทับแล้วดึงออกมาดูสี โดยที่มีตัวอย่างให้ดูว่าถ้าฉีดน้ำมากหรือน้อย สีก็จะไหลมากน้อยต่างกัน



ลงมือทดลอง

เด็ก ๆ ทำงานกันเป็นกลุ่ม เริ่มลงมือเลือกสี ผสมสี แล้วเอามาวาดลงบนถาดพลาสติก ครูแคมป์จะเดินวนเพื่อไปฉีดฟอกกี้ให้ แต่ครูจะฉีดไปเรื่อย ๆ ตามที่นักเรียนบอกว่าให้ฉีดมากน้อยแค่ไหน 


ตอนแรกก่อนที่จะมาทำกิจกรรมนี้ครูคาดหวังแค่ว่าเด็กจะเล่นสีกัน แต่เกินความคาดหวังที่เด็ก ๆ สนุกกันมาก และพวกเขาไม่ได้ทาสีไปมั่ว ๆ บางคนพยายามเอาสีมาต่อกัน ผสมสี วาดเป็นรูป นักเรียนทำชิ้นงานออกมาสวยและน่าสนใจมาก



เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ก่อนจะหมดคาบเรียนในหนึ่งชั่วโมง ครูก็ชวนเด็ก ๆ มาคิดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป ชวนให้นักเรียนได้ตอบตามที่ต้องการเลย นักเรียนบางคนบอกว่าได้รู้จักการทำ monoprint, ได้เห็นว่าสีไหลสวยดี, ได้รู้ว่าทำสีนี้ผสมกันแล้วจะสวย, ถ้าฉีดน้ำเยอะสีจะมาผสมกันเยอะ และถ้าแปะกระดาษนานเกินไปก็จะเปื่อย เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าคราวหน้าถ้าทำแบบไหนแล้วจะได้ผลลัพธ์ออกมาแบบไหน 


สิ่งเหล่านี้เป็นคำพูดที่ไม่ได้ออกมาจากปากครูที่สอนด้วยการบอกหลักการ แต่มาจากนักเรียนเองที่ได้ทดลองแล้วเกิดการเรียนรู้


ครูแคมป์ออกแบบการสอนแบบนี้จากแนวคิดว่า อยากให้เด็ก ๆ ได้ใช้สีประเภทอื่น ๆ บ้าง และได้เรียนรู้เรื่องผสมสีโดยที่ไม่ต้องมาเปิดชาร์ตสี




เรียนศิลปะในมุมมองของครูแคมป์

การเรียนศิลปะคือการทดลอง ลองใช้สี ลองผสมสี โดยไม่บอกว่าถูกหรือผิด 

พอกิจกรรมสนุกเด็กก็จะให้ความร่วมมือสูงมาก และครูก็รู้สึกสนุกไปกับเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน


“ตอนเด็ก ๆ เราอยากให้มีครูที่สอนแล้วสนุก ให้เหมือนชวนเราเล่น ชอบครูที่ชวนคุย ชวนเล่น มากกว่ามาเปิดสไลด์ แต่พอมาเป็นครูเองจริง ๆ ก็เข้าใจว่าการสอนแบบเปิดสไลด์จัดการได้ง่ายกว่า การทำงานของครูต้องมีตัวชี้วัด และการทำกิจกรรมอย่างที่เราชวนเล่นก็ต้องเตรียมเยอะ ครูมีภาระงานเยอะก็ไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง มีที่เปิดสไลด์สอนเหมือนกันสลับกันไปกับกิจกรรม”


ครูแคมป์เชื่อในการเล่นว่าจะทำให้เด็กเชื่อแล้วทำตาม มากกว่าการบังคับให้ท่องจำ เมื่อเขาเล่นก็จะได้เห็นเองโดยที่ครูไม่ต้องมานั่งบอก และใช้ความเข้าใจเด็กเยอะ ๆ คุยกับพวกเขาด้วยเหตุผล เด็ก ๆ สามารถคุยและเข้าใจเหตุผลได้



ใช้ศิลปะช่วยสงบสติอารมณ์

ครั้งหนึ่งเด็กที่โรงเรียนมีเรื่องทะเลาะกัน แล้วเด็กคนหนึ่งร้องไห้หยิบกระเป๋าจะเดินออกจากโรงเรียนจะกลับบ้าน ครูได้ตามเด็กคนนั้นไปแล้วพาจูงกลับมาที่โรงเรียน ให้มานั่งที่ห้องศิลปะ เด็กยังนั่งร้องไห้อยู่ สักพักครูจึงเอากระดาษมาให้นั่งวาดรูปเล่นอยู่เป็นชั่วโมง จนเขาเริ่มสงบสติอารมณ์ได้ ครูจึงให้เพื่อนมาพากลับไปที่ห้องเรียนตัวเอง


ครูแคมป์ไม่ได้มานั่งปลอบเด็ก ๆ แต่จะบอกเสมอว่าเป็นอะไรให้มาบอกครู เด็กก็จะกล้าคุยด้วย



แบ่งปันเรื่องราวโดย ครูแคมป์ ขวัญตระกูล ทองมี

โรงเรียนบ้านหนองชุมแสง จ.เพชรบูรณ์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(1)