inskru
gift-close

บทบาทหน้าที่สภานักเรียนและพลเมืองประชาธิปไตย

3
0
ภาพประกอบไอเดีย บทบาทหน้าที่สภานักเรียนและพลเมืองประชาธิปไตย

สภานักเรียนเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ช่วยสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย การทำงานเป็นทีม ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดการศึกษา กิจกรรมนี้ช่วยสร้างมโนทัศน์ในการทำงานสภานักเรียน และบทบาทในฐานะพลเมืองประชาธิปไตย สามารถนำไปใช้ในบทเรียนรายวิชาสังคมศึกษาเรื่อง ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้ด้วย

เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “รู้จักเธอ รู้จักสภานักเรียน”

ให้โพสต์อิท แล้วเขียน 3 คำถาม

“สภานักเรียนที่ดีเป็นอย่างไร”

“สิทธิคืออะไร”

“ประชาธิปไตยคืออะไร”

จากนั้นให้เดินไปหาเพื่อนที่ยังไม่รู้จัก ทำความรู้จักกันแล้วถามคำถามที่ได้หนึ่งคำถาม จดคำตอบเพื่อนลงในกระดาษ และหมุนเวียนไปจนครบ

กลับมานั่งล้อมวง แชร์กันว่า ได้คำตอบจากเพื่อนว่าอย่างไรบ้าง

ให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกัน และทบทวนแนวคิดสำคัญคร่าวๆ


กิจกรรม “ข้ามเส้น”

ติดเทปกาวแบ่งฝั่งห้องเป็นซ้าย ขวา

คือฝั่ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”

เมื่ออ่านข้อความแต่ละข้อแล้ว ให้ผู้เข้าร่วมเลือกฝั่ง เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

“คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน”

“ประชาธิปไตยคือการใช้เสียงส่วนใหญ่เสมอ”

“การเลือกตั้ง เท่ากับ ประชาธิปไตย”

“เด็กสมัยนี้เรียกร้องแต่สิทธิ ไม่รู้จักหน้าที่”

ถามทีละข้อ แล้วให้แต่ละฝ่าย ได้แสดงเหตุผลและทัศนะต่อข้อความข้างต้น

ตื่นเต้นมากครับ กับคำตอบของนักเรียน หลายเรื่องยังคงดีเบทกันได้ สำคัญคืออย่าเพิ่งชี้ขาดว่าอะไรถูกอะไรผิด ให้แต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากการแสดงความเห็นของอีกฝ่าย หลายคนพูดได้เฉียบคมจนผมอึ้ง 

จากนั้นก็กลับมานั่งแล้วชวนคุยถึงความเข้าใจหลายอย่างที่ได้ถกเถียงกัน 

มีการเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นอิสระ ไม่ยุติธรรม และไม่มีความต่อเนื่อง

เสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสียงของทุกคนต่างหากที่เป็น เราหลงใช้การโหวต โดยทิ้งเสียงส่วนน้อย คนชายขอบให้เป็นผู้แพ้ แต่ขาดการอภิปรายพูดคุย ประนีประนอมหา ฉันทามติ ร่วมกัน

อย่างคำว่าคนดีกับพลเมืองดีเหมือนกันหรือไม่ ? 

แล้วสภานักเรียนต้องเป็นคนดี หรือพลเมืองดี? หรือเป็นทั้งสองอย่าง

เปิดภาพชายสูงวัยนั่งให้อาหารนกในสวนสาธารณะ ตั้งคำถามว่าชายคนนี้เป็นคนดีหรือไม่ แล้วเป็นพลเมืองดีหรือเปล่า?

เปิดภาพนักข่าวที่เตะขาเด็กผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าประเทศ เรียกเป็นพลเมืองดีได้ไหม เป็นคนดีหรือเปล่า?

ชวนคุยเรื่อง พลเมือง 3 แบบตามแนวคิดของ Joel Westheimer

พลเมืองรับผิดชอบ พลเมืองมีส่วนร่วม พลเมืองมุ่งเน้นความยุติธรรม

แล้วการทำงานสภานักเรียนควรเป็นพลเมืองแบบไหน

ผมยกตัวอย่าง ปัญหาขยะในโรงเรียน

เราจะแก้ปัญหา โดยการควบคุมการทิ้งขยะของนักเรียน โดยการช่วยกันเก็บ โดยการรณรงค์ หรือการหาต้นตอสาเหตุ แก้เชิงโครงสร้างและระบบการจัดการ


ถึงตรงนี้ ผมพานักเรียนที่เข้าร่วม “สำรวจตัวเอง” และแชร์กับเพื่อน

รอบแรก ให้นึกถึง “เหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ มีคุณค่า ได้รับความเคารพ”

คำตอบที่ได้เช่น สอบได้ที่หนึ่ง ได้รางวัล ได้เป็นรุ่นพี่ ได้รับการเลือกเป็นหัวหน้า ได้มีคนรับฟัง

รอบที่สอง ให้นึกถึง “เหตุการณ์ที่เราถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุจากอัตลักษณ์หรือการเป็นตัวของเราเอง

คำตอบเช่น เป็นเด็กหลังห้อง เป็น LGBTQ คิดต่างจากเพื่อนแล้วถูกบูลลี่ ถูกครูแปะป้ายแล้วไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น


ผมอธิบายว่าคนเราเกิดมาเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ แต่ธรรมชาติมนุษย์เรามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดอำนาจที่แตกต่างกัน และถูกแบ่งออกเป็นกระแสหลัก และชายขอบ และเกิดการใช้อำนาจเหนือ เพื่อกำหนดคุณค่า บังคับควบคุม และเอารัดเอาเปรียบ หรือใช้อำนาจเหนือเพื่อปกป้อง สนับสนุน ส่งเสริม 

ในฐานะสภานักเรียนก็เช่นกัน ที่ได้อำนาจหน้าที่อะไรบางอย่างจากนักเรียน จะต้องทำงานยึดโยงกับนักเรียน และควรใช้อำนาจนั้นปกป้อง ดูแลสิทธิของนักเรียน


ผมบรรยายเรื่องสิทธิเด็ก 4 ประการต่อ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม แล้วชาวนคุยว่า เรามาโรงเรียนหนึ่งวันต้องเจออะไรบ้าง

สรุปแล้วสิ่งที่พบเจอทั้งทางกายภาพและทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก และในช่วงวันธรรมดา เราใช้ชีวิตในโรงเรียนมากกว่าบ้าน ถ้าชีวิตที่โรงเรียนเราบัดซบ แปลว่าชีวิตส่วนใหญ่ก็บัดซับ


แล้วเรามาโรงเรียนทำไม?

สุดท้ายชวนหาคำตอบว่าเรามาโรงเรียนทำไม?

เพื่อรับการขัดเกลา

เพื่อรับการถ่ายทอด

เพื่อได้เรียนรู้ พัฒนาด้าน อารมณ์ สังคม สติปัญญา

เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม

เพื่อค้นพบตนเอง

ปรากฎผลเหมือนกันทุกครั้ง นักเรียนคาดหวังมาเพื่อค้นพบตนเอง เรียนรู้พัฒนาด้านต่างๆ และเปลี่ยนแปลงสังคม แต่โรงเรียนมุ่งเน้นเพียงการถ่ายทอดและขัดเกลา


ในฐานะสภานักเรียน เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในโรงเรียน ควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง ที่จะเติมเต็ม และตอบสนองความต้องการของนักเรียนที่เลือกพวกเขามา

ผมแบ่งกลุ่มสภานักเรียนของห้อง คณะกรรมการนักเรียน และคณะสี ให้ออกแบบ และเขียนบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อตอบโจทย์สิทธิเด็กทั้ง 4 ข้อ และลองมองวิธีการผ่านแนวคิดในการจัดการศึกษาว่าควรเป็นอย่างไรแล้วควรมีค่านิยมที่เปลี่ยนไปอย่างไร


การเป็นสภานักเรียน คือเป็นผู้แทนของนักเรียน มีหน้าที่ในการปกป้องและพิทักษ์สิทธิ ของนักเรียนทุกคน คือผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การจัดกิจกรรมหรือการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เพียงการทำให้นักเรียนยอมรับและออกไปเผชิญโลกจริงได้ แต่เป็นการมองหาสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน และออกจากโรงเรียนไปเพื่อสร้างมันขึ้นมา


วันนี้ไม่ได้มาบอกว่าสภานักเรียนต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้

แต่เพียงอยากจุดประกาย และให้มองเห็นความเป็นได้ มองหาสิ่งที่ควรเป็น สิ่งที่ควรได้รับ และตะหนักในสิทธิของตนเองและผู้อื่น มองให้เห็นถึงสิ่งผิดปกติและความไม่เป็นธรรม และใช้กำลังสุดความสามารถจากบทบาทการเป็นสภานักเรียนในการเปลี่ยนแปลงมัน


“สภานักเรียน มีหน้าที่ ปกป้องและพิทักษ์สิทธิของนักเรียน”

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    DOEพลเมืองที่เข้มแข็งทักษะการสื่อสารPowerpointมัธยมต้นมัธยมปลายเกมและกิจกรรมกิจกรรมในโรงเรียนกิจกรรมเสริมสังคมศึกษาไอเดียแมวมีรุ่น2หน้าที่พลเมือง

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    3
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    ครูทิว
    ครูสอนสังคมศึกษาและนักกิจกรรมที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตย มุ่งมั่นใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม วิชาสังคมศึกษาเป็นหลักสำคัญในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ให้มีความเข้าใจสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ