icon
giftClose
profile

สอนยังไงให้เด็ก "จำได้"

52615
ภาพประกอบไอเดีย สอนยังไงให้เด็ก "จำได้"

มีศัพท์อยู่เป็นสิบโหลที่ต้องสอน มีเรื่องราวหนาร้อยหน้าที่ต้องจำ แล้วจะทำยังไงไม่ให้เด็กๆ ลืมเนื้อหาที่เราสอนไปจนหมด

ปกติแล้วเรามักจะอาศัยท่องจำๆๆๆ แล้วสุดท้ายหลังสอบพอรู้ตัวอีกทีก็ลืมเนื้อหาไปหมดแล้ว

ซึ่งอันที่จริง มันมีวิธีการจำอยู่นะ ว่าจะจำอย่างไรให้จำได้ดีและความรู้นั้นจะติดทนไปอีกยาววววววววว


ซึ่งคุณครูเองก็สามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ไปพลิกแพลงกับเทคนิคการสอนในห้องเพื่อให้เด็กๆ สามารถจดจำเนื้อหาที่เราสอนได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะทำให้ห้องเรียน Active มากขึ้นด้วย (อนึ่ง เทคนิคตรงนี้อาจจะเหมาะกับข้อมูลเนื้อหารายวิชาที่เน้นความจำมากกว่าความเข้าใจ)


ข้อมูลตรงนี้อ้างอิงมาจากหลายงานวิจัยถ้าหากสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจะแปะไว้ให้ที่ท้ายบทความนะคะ :)


1.พาเด็กๆ จำเป็นก้อน (Chunk)

ปกติแล้วเวลาเรารับข้อมูลอะไรเข้าไปในสมอง มันจะถูกวางอยู่อย่างกระจัดกระจาย การจดจำบางอย่างโดยผูกกันเป็นก้อนๆ ก็จะช่วยให้สมองดึงข้อมูลกลับมาใช้งานได้ง่ายขึ้นค่ะ

กลุ่มก้อนความคิดหรือ Chunk เป็นศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึงกลุ่มก้อนข้อมูล กลุ่มก้อนทางความคิด ที่มีความเกี่ยวโยงกันผ่านทางความหมายหรือจากการใช้งานบ่อย ๆ โดยกลุ่มก้อนทางความคิด สามารถเพิ่มขนาดได้เรื่อย ๆ เมื่อเราได้รับข้อมูลเพิ่ม ซึ่งทําให้สมองเราสามารถเข้าถึงกลุ่มของข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น 

จากภาพตัวอย่าง กลุ่มก้อนทางความคิดก็เหมือนส่วนประกอบของรถที่แยกเป็นส่วนต่างๆ มีล้อ กระจก กระโปรงรถ เราแยกจำเป็นกลุ่มๆ สุดท้ายกลุ่มก้อนทางความคิด (chunk) ก็เหมือนกับจิ๊กซอให้เราประกอบเป็นรถยนต์หนึ่งคัน

เทคนิคการใช้ - สถานการณ์สมมติ > ต้องให้เด็กจำศัพท์ 30 คำ

  1. แจกศัพท์ให้นักเรียน
  2. ให้นักเรียนลองแบ่ง "กลุ่ม" ของศัพท์ที่ได้รับ ไม่กำหนดว่าต้องมีกี่กลุ่ม หรือกลุ่มละเท่าไหร่ เช่น นักเรียน A อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มศัพท์ที่เสียงเหมือนชื่ออาหาร กับ กลุ่มที่ขึ้นต้องด้วยตัว i ,นักเรียน B แบ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสัตว์ อีกกลุ่มคือความหมายเกี่ยวกับอุปกรณ์
  3. ให้นักเรียนค่อยๆ จดจำเป็นกลุ่มๆ จากกลุ่มที่นักเรียนสร้าง เช่น กลุ่มที่เสียงเหมือนอาหารมีอยู่ 8 คำ ก็ให้นักเรียนจำ 8 คำนี้ไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อกลุ่มก้อน "เสียงเหมือนอาหาร"
  4. ให้นักเรียนแต่ละคนได้แชร์ หรือพูดว่า chunk ที่ตัวเองคิด มีศัพท์อะไรบ้าง ไล่ไปโดยที่ไม่ดูโพย

ผลลัพธ์

  • เด็กแต่ละคนอาจจะมีกลุ่มที่ตัวเองแบ่งหลายกลุ่ม แล้วก็จดจำเป็นก้อนๆ เวลาที่เขานึกถึงกลุ่มนั้น ศัพท์ที่อยู่ในกลุ่มนั้นก็จะขึ้นมาด้วย เช่น กลุ่มศัพท์ที่เป็นสัตว์มี 5 คำ elephant,ant,bird,butterfly,dog
  • ครั้งต่อๆ ไปที่คุณครูป้อนศัพท์ใหม่ ให้เด็กๆ นำกลุ่มที่ตัวเองแบ่งไว้ตอนแรกกลับขึ้นมา แล้วดูว่าศัพท์ที่ครูให้มาใหม่ไปอยู่ตรงไหนในกลุ่มที่เค้าแบ่งเอาไว้แล้วบ้าง แล้วให้เขาเพิ่มเข้าไปในกลุ่มนั้น หรืออาจจะมีกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมา
** สิ่งที่สำคัญคือนอกจากจำ พยายามให้เด็กๆ เข้าใจกลุ่มก้อนที่เขาคิดว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมมันถึงสัมพันธ์กัน ทำไมถึงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะหากแค่ยัดๆ จัดกลุ่มมันเฉยๆ โดยขาดความเข้าใจกลุ่มก้อนที่สร้างไว้ก็จะไร้ประโยชน์อยู่ดี


2.ยื่น context (บริบท) ให้

หลังจากป้อนศัพท์จำนวนมากให้ไป อาจจะลองให้เด็กๆ สร้างบริบทที่จะใช้ศัพท์นั้นขึ้นมา เพื่อผูกกลุ่มก้อนนั้นกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อจะทำให้เด็กๆ รู้ว่าเราควรจะใช้กลุ่มก้อนนั้นตอนไหนได้บ้าง

เช่น ลองสมมติสถานการณ์ว่าจะใช้ศัพท์นี้ตอนไหนบ้าง แล้วลองใช้มันเลย อาจจะแต่งบทสนทนาที่เกิดขึ้น หรือผูกกับหนังละครที่เคยได้ยินมาก็ได้


3.ชวน recall ท้ายคาบและต้นคาบถัดไป

เจฟฟรีย์ คาร์พิก (Jeffrey Karpicke นักจิตวิทยา) วิจัยว่า Recall มีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านซ้ำ พบว่าการทวนเนื้อหาโดยการอ่านหนังสือซ้ำๆ เป็นการกระทําที่ไม่ Productive และเสียเวลา การกระทําที่ดีกว่าคือการระลึกถึง หรือ Recall 


เทคนิคการชวนเด็กๆ Recall ง่ายๆ คือพาเด็กปิดหนังสือ ปิดโพยของตัวเอง แล้วนึกถึงเรื่องที่จำไปโดยไม่ดูโพยนั่นเอง (คล้ายๆ เวลาทำข้อสอบเลยค่ะ ว่าเราต้องนึกถึงเรื่องที่อ่านไปด้วยตัวเองเพราะไม่มีหนังสือให้เปิด)


นอกจากทำแบบนั้นแล้ว ช่วงเวลาในการ Recall ก็สำคัญเช่นกัน ไม่ใช่เอะอะนึกย้อนตลอดเวลา แต่พยายามเว้นช่วงเวลาเอาไว้ด้วยค่ะ

ในปี ค.ศ. 1885 Hermann Ebbinghaus ทดลองว่าเขาจะจดจําสิ่งต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วพบว่าการจดจําน่าจะดําเนินตามเส้นโค้งแบบ Exponential เราจะจดจําได้ลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป นอกเสียจากว่าเราทบทวน มันเรื่อย ๆ หรือมีวิธีการจดจําที่ดี โดยหลังเรียนรู้เนื้อหา ผ่านไป 20 นาที ลืมมากถึง 42% และผ่านไป 1 วันเนื้อหาถึงลืม 74% 


ดังนั้นถ้าจะให้ดี หลังจากคาบเรียนอาจจะชวนเด็กๆ Recall คนละหนึ่งรอบถึงคาบเรียนที่เกิดขึ้นโดยไม่ดูโพย และต้นคาบถัดไปอาจจะชวน Recall ถึงคาบที่แล้วอีกครั้ง (ศัพท์ที่เคยแจกให้) แล้วสัปดาห์ถัดไป อาจจะชวนอีกรอบก็จะยิ่งดีเลยค่ะ


จริงๆ มีอีก 2-3 เทคนิคแต่น่าจะต้องเล่าอีกยาว เลยไว้คราวหน้าจะมาแบ่งปันในบทความต่อๆ ไปนะคะ


สำหรับใครที่สนใจอ่านเกี่ยวกับเรื่องความจำเพิ่มเติมสามารถ search คำว่า Learning How to Learn ใน google ก็ได้ค่ะ (เนื้อหาส่วนใหญ่พั้นซ์อ้างอิงมาจากคอร์สเรียนนั้นค่อนข้างเยอะเลย)

ที่ยกตัวอย่างเป็นการนำเทคนิคนี้ไปใช้กับการจำศัพท์ แต่จริงๆ มันสามารถใช้ได้กับการจดจำเนื้อหาสาระอื่นๆ ได้แทบทั้งหมดเลยค่ะ ยังไงชวนลองเอาไปพลิกแพลงกันดูนะคะ :)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(16)