icon
giftClose
profile

มือกลลังกระดาษ สอนวิทยาศาสตร์ด้วยการคิดวิศวกรรม

38741
ภาพประกอบไอเดีย มือกลลังกระดาษ สอนวิทยาศาสตร์ด้วยการคิดวิศวกรรม

แนวทางการออกแบบนิ้วทั้งห้า ที่จะช่วยให้การเรียนชีววิทยาตรงกับความต้องการของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือ STEM

“เมื่อการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เห็นชัดเจนเหมือนกับคนรุ่นก่อน...”


         ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและหลากหลายแหล่งข้อมูลข่าวสาร นักเรียนได้มองเห็นการสร้างรายได้จากการตลาดออนไลน์ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการทำงานที่ต้องใช้การศึกษาระดับสูง ส่งผลให้นักเรียนบางส่วนขาดแรงจูงใจในการเรียนและเพิกเฉยต่อการหาความรู้ในระบบโรงเรียน

         ด้วยความเข้าใจบริบทของชุมชนและธรรมชาติของผู้เรียน ทำให้ ครูปุ้ม กมลรัตน์ ฉิมพาลี คุณครูประจำวิชาชีววิทยาระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนถนนหักพิทยาคม พบว่า เราไม่จำเป็นจะต้องยัดเยียดความรู้ให้กับลูกศิษย์ แต่จะดีกว่าไหม? หากเราสอนให้นักเรียนมีทักษะการทำงาน ฝึกกระบวนการคิดเชิงระบบ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในทุกอาชีพ

         ครูปุ้มได้ตัดสินใจเลือก STEM ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาแบบบูรณาการมาเป็นเครื่องมือในการออกแบบการสอน เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียนได้มีทักษะการคิด, สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกความอดทนในการทำชิ้นงานให้สำเร็จ และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองในสังคมมากยิ่งขึ้น ด้วยการเริ่มสร้างนิ้วทั้งห้าของมือกลมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้การเรียนชีววิทยาไม่น่าเบื่ออีกต่อไป


 

นิ้วที่ 1 นิ้วก้อยแห่งคำสัญญา

         ในช่วงเริ่มต้นการเรียนการสอน ครูปุ้มจะอธิบายแนวทางการบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้แก่นักเรียน รวมถึงข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ครูปุ้มได้เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจในเทอมนั้น ๆ มาเสนอและทำข้อตกลงร่วมกัน จากนั้นจะทำการออกแบบกิจกรรมจากหัวข้อที่นักเรียนทุกคนสนใจ เช่น ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องระบบของร่างกาย นักเรียนอาจเลือกกิจกรรมเกี่ยวกับมือกล สำหรับเรียนรู้ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ เนื่องจากนักเรียนหลายคนสนใจด้านกีฬา และจังหวัดบุรีรัมย์กำลังผลักดันกีฬาพอดิบพอดี หรือในหัวข้อพืช นักเรียนอาจเลือกกิจกรรมการทดลองตามรอยนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นต้น

 

นิ้วที่ 2 นิ้วนางแห่งตัวอย่างแนวคิด

         หลังจากได้หัวข้อที่ตกลงกับนักเรียนในแต่ละห้องเรียน ครูปุ้มจะใช้เวลาในการหาแหล่งอ้างอิงกิจกรรมที่เคยใช้สอนในหัวข้อนั้น ๆ ซึ่งสามารถหาได้ตามอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ Pinterest หรือกรณีที่สอน STEM จะใช้เว็บไซต์ https://www.teachengineering.org/ ที่มีไอเดียดี ๆ และตัวอย่างกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำมาปรับให้เข้ากับบริบทได้ เช่น เปลี่ยนวัสดุที่มีราคาแพงเป็นกระดาษลังราคาถูก แต่ก็สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกัน เป็นต้น

 

นิ้วที่ 3 นิ้วกลางแห่งการวางแผน

         หลังจากวางแผนกิจกรรม จัดเตรียมอุปกรณ์ และทดลองเบื้องต้นแล้ว ครูปุ้มจะชี้แจงภาพรวมของกิจกรรม และให้นักเรียนฝึกทำปฏิทินการทำงาน เพื่อให้นักเรียนได้จัดสรรเวลาอย่างพอเหมาะ โดยในคาบเรียนของครูปุ้ม จะมีการแบ่งเวลาสำหรับเรียนบรรยาย และสำหรับทำชิ้นงาน ซึ่งในคาบเรียนบรรยาย ครูปุ้มก็จะใส่เทคนิคหรือถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงาน เป็นแนวทางให้กับนักเรียนเพิ่มเติม รวมถึงเตรียมแหล่งเรียนรู้ทาง Youtube ที่ครูปุ้มสร้างและรวบรวม playlist ที่จำเป็นไว้ให้ ทำให้นักเรียนได้เห็นกระบวนการของการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น นอกจากนี้ครูปุ้มยังได้ขอความร่วมมือจากคุณครูทั้งในและนอกกลุ่มสาระการเรียนรู้มาช่วยสอนเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูฟิสิกส์แนะนำเกี่ยวกับการออกแบบคาน ครูคณิตศาสตร์แนะนำรูปแบบการเก็บข้อมูล เป็นต้น

         ขั้นตอนการวางแผนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการฝึกกระบวนการคิดของนักเรียน เพราะนักเรียนต้องวางแผนการทำงาน วิเคราะห์โมเดลต้นแบบ ร่างแบบชิ้นงาน ประมาณอุปกรณ์ที่ต้องใช้ รวมถึงแก้ปัญหาในระหว่างดำเนินงานด้วยตนเอง นับเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ความคิดของเด็กมีความละเอียดลออมากยิ่งขึ้น


 

นิ้วที่ 4 นิ้วชี้แห่งกฎเกณฑ์

         เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ระหว่างพัฒนาชิ้นงาน ครูปุ้มจึงได้เปิดโอกาสให้นักเรียนส่งงานได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้นักเรียนได้เห็นพัฒนาการในการทำงาน ฝึกความอดทนในการทำงาน และช่วยป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดกับชิ้นงาน นอกจากนี้กระบวนการวัดผลของครูปุ้มจะแตกต่างจากการส่งงานปกติ เพราะนักเรียนจะมีบทบาทในการประเมินชิ้นงานด้วย โดยครูจะประเมินผลงานของนักเรียนในแง่ของการพัฒนาชิ้นงาน เช่น ชิ้นงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และมีวิธีพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น ในขณะที่นักเรียนจะได้ฝึกการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมฟังคำแนะนำ ยอมเปิดใจหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนเพื่อพัฒนางาน

 

นิ้วที่ 5 นิ้วโป้งแห่งการชื่นชม

         ไม่ว่าชิ้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว ครูปุ้มได้สอนให้นักเรียนชื่นชมตนเอง เพราะแม้จะล้มเหลวมากน้อยเพียงใด นักเรียนก็ได้ประโยชน์จากการทำงาน ได้เรียนรู้สาเหตุของปัญหา ได้ฝึกการทำงานในกลุ่มของตนเอง และได้ร่วมมือช่วยเหลือกับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งครูปุ้มได้สร้างโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานของตนเอง และส่งต่อชิ้นงานให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน และเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรม ทำให้ชิ้นงานของนักเรียนสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง เมื่อนักเรียนรับรู้จึงทำให้มีความตั้งใจในการทำชิ้นงานเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ครูปุ้มยังชื่นชมนักเรียนผ่านการอัดคลิปวิดีโอผลงานของนักเรียน และขออนุญาตผู้ปกครองเพื่อเผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ต เช่น Youtube และกลุ่ม Facebook เพื่อส่งแนวคิดให้คุณครูคนอื่น ๆ ต่อไป


 

         เมื่อนิ้วทั้งห้าได้รวมพลัง มือกลจากลังกระดาษของครูปุ้มก็สำเร็จไปได้อย่างงดงาม โดยแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นกิจกรรมให้นักเรียนกว่า 3 รุ่นแล้ว ซึ่งผลการสำรวจพบว่านักเรียนชายและหญิงมีความพึงพอใจในกิจกรรมไม่ต่างกัน อีกทั้งยังเข้าใจโครงสร้างของมือและเส้นเอ็นมากยิ่งขึ้น มีการบันทึกข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น และสร้างเจตคติที่ว่า ชีวะก็เป็นวิชาที่สนุกนะ อีกด้วย

         ถึงจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ครูปุ้มก็ยังคงปรับแต่งรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มความท้าทายให้กับโจทย์ ปรับปรุงจุดบกพร่องให้กิจกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพร้อมให้นิ้วมือทั้งห้าคอยยกระดับทักษะและความรู้ของนักเรียนผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป

         สุดท้ายนี้ทุกท่านสามารถรับชมผลงานมือกลจากลังกระดาษ และผลงานอื่น ๆ ของครูปุ้มได้ผ่าน YouTube แชแนล KruPumBiO Kamonrat ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแหล่งแรงบันดาลใจในการออกแบบการสอนของคุณครูทุกท่าน และการเรียนรู้อย่างมีความสุขทุกวันของนักเรียน ดังสโลแกนที่ว่า..

“ครูสอนด้วยใจเบิกงาน นักเรียนสำราญ การเรียนรู้สัมฤทธิ์ผล” 
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(4)