วันนี้ไวท์ได้โอกาสสัมภาษณ์ครูลัค และลูกศิษย์
ในประเด็นที่เราจะ ..เอาความถนัดของเด็กมาจับกับบทบาทของครู
ผ่านการออกแบบชมรมที่มีเด็กเป็นเจ้าของชมรม และมีครูเป็นผู้ช่วยดูแล..
.
ครูลัคเล่าถึงช่วงฝึกสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งว่า
โรงเรียนนั้นมีนโยบายให้ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยการ ‘จัดกลุ่มสนใจ’ (ลักษณะเป็นกลุ่มชมรม)
ซึ่งปกติแล้วกลุ่มสนใจเหล่านี้จะถูกจัดตั้งโดยครู
และคงไม่แปลกอะไรที่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ‘ครูต้องถนัดเรื่องนั้นก่อนจึงจะสอนนักเรียนได้’
แต่ในช่วงจัดตั้งกลุ่มสนใจนั้น มีเด็ก ม.3 กลุ่มหนึ่ง ที่ปกติแล้วเขาไม่ได้สนใจเรียนในห้องเท่าไร
ซ้ำบางคนในกลุ่มยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างน่าเป็นห่วง
จู่ ๆ วันนั้นพวกเขาเข้ามาคุยกับเรา บอกว่า ‘ครู ๆ ผมมีอะไรให้ดู’
.. แล้วเขาก็โชว์ rap, beat box, b-boy แบบสด ๆ ..
เราประทับใจกับการโชว์ของพวกเขามาก
พวกเขาก็บอกว่า ครูช่วยขอเปิดกลุ่มสนใจ (ชมรม) we love hip-hop club ให้หน่อยได้ไหม
ตอนนั้นเราไม่กล้ารับปาก แต่ก็อยากผลักดันมาก จากที่เห็นความสามารถของเขา
.
หลังจากไปปรึกษาครูประจำการและผู้บริหาร
ก็ได้รับเงื่อนไขว่า ให้หาสมาชิกเพิ่มให้ครบตามกำหนด
เด็ก ๆ เลยพากันโชว์ในที่สาธารณะของโรงเรียน ดึงดูดความสนใจให้นักเรียนคนอื่นมาสมัครได้สำเร็จ
จนในที่สุด เด็กก็ได้เปิดชมรม ในเทอมที่ 2 ของปีการศึกษานั้น
.
แต่ละสัปดาห์ ทุกวันพฤหัสบดี ครูลัคมีหน้าที่เปิด beat เปิดคลิป และถ่ายคลิปให้
เด็กบอกว่า ‘ไม่มีครู เดี๋ยวมีมวย’ ฮ่า ๆ ๆ (เด็กจะทะเลาะกัน ตกลงกันไม่ได้)
เมื่อได้ซ้อมกันเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็เริ่มได้โชว์ในงานโรงเรียน
งานนอกสถานที่ กระทั่งเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ พฤติกรรมเสี่ยงที่เขาเคยทำก็ลดลงไปเรื่อย ๆ
เพราะเขามีภาพความสำเร็จ ความสนุก ความสนใจอื่น ซึ่งในที่นี้เขาเป็นคนค้นพบและเลือกด้วยตัวเอง
.
นายชินกฤต แสงบัวหมัด หนึ่งในเด็กที่เคยอยู่ในชมรม บอกว่า..
‘อยากให้โรงเรียนสนับสนุนเด็กให้ทำกิจกรรมเยอะ ๆ
ไม่ปิดกั้นจำกัดกิจกรรม ไม่กีดกันเด็ก ๆ ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กกลุ่มไหน
เพราะถ้าในโรงเรียนมันสนุก เขาจะได้ไม่เถลไถลไปทำอะไรข้างนอก
ซึ่งยากต่อการดูแลมากกว่าการที่เขาอยู่ในโรงเรียน
ตอนนี้ผมเปิดซ่อมรถไปด้วย เรียนกศน.ไปด้วย กำลังจะจบ ม.ปลาย แล้ว
ก็จะเรียนให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จะได้มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น ตอนนี้ผมอยากทำเพื่อที่บ้านบ้าง
ขอบพระคุณที่ครูลัคที่เชื่อในตัวพวกผม และขอบพระคุณทุกท่านที่ให้โอกาสพวกผมในช่วงนั้น
ทำให้อยากไปโรงเรียน จนจบ ม.3 กันมาได้ครับ’
.
ครูลัคแชร์ให้เราฟังต่อว่า..
‘Multiple Intelligences มีตั้ง 9 ด้านแล้ว ซึ่งในอนาคตอาจจะเพิ่มอีก
จึงขอชวนให้คุณครูได้ชะงักคิดสักนิดหนึ่งเวลาเห็นเด็กไม่เก่งวิชาที่เราสอน
เขาอาจจะเก่งในด้านอื่นก็ได้ ซึ่งด้านนั้นเอง เราผู้เป็นครูก็อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้เท่าเด็ก
ขอแค่ถ้าครูเจอด้านนั้นในตัวเด็กแล้ว ให้พยายามเค้นออกมา แล้วซัพพอร์ทเขาให้ได้มากที่สุด
.
เชื่อเถอะค่ะว่าเด็กก็ยังต้องการเราอยู่..
ถึงแม้จะไม่ใช่ในฐานะ teacher แบบที่เอาข้อมูลความรู้มาสอนมาป้อนให้เด็ก
แต่เป็น ignitor หรือ facilitator ที่คอยสนับสนุน ดึงศักยภาพเด็กทุกคนออกมาให้ได้มากที่สุด’
.
ครูลัค
ฟัรซาน สะแมง
โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) จ.นราธิวาส
.
สัมภาษณ์และเรียบเรียง โดย ครูไวท์
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!