icon
giftClose
profile

ลงมือสร้างสรรค์ กับ Maker Space

21450
ภาพประกอบไอเดีย ลงมือสร้างสรรค์ กับ Maker Space

เด็กไม่ได้ดื้น เขาแค่มีทางของเขา เราต้องเปิดกว้าง และลองให้เขาได้เลือกเดินทาง ให้ได้ลองลงมือทำดู

“เด็กไม่ได้ดื้อ เขาแค่มีทางของเขา

เราต้องเปิดกว้าง และลองให้เขาได้เลือกเดินทาง ให้ได้ลองลงมือทำดู”



ห้อง Maker Space กับการเรียนที่สนับสนุนให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองชอบ


ในคาบกิจกรรม “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ครูจ๊อดได้เริ่มนำเอาการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ทางโรงเรียนได้ไปเข้าร่วมโครงการกับ Starfish (โรงเรียนบ้านปลาดาว) มาปรับใช้ กับห้องที่ครูสอนประจำชั้นอยู่ คือนักเรียนชั้น ป.6



เด็ก ๆ ห้องนี้เป็นพี่ใหญ่สุดในโรงเรียน จะมีความดื้อหน่อย และชอบทำกิจกรรมมากกว่าการเรียน ครูเลยลองเอาการสอนแบบนี้มาใช้ โดยให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

เริ่มจาก...



1. กลับไปสำรวจบ้าน

ให้เด็ก ๆ สำรวจที่บ้านของตัวเอง กลับไปดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง มีทรัพยากรอะไรบ้างที่มากเกินความจำเป็น หรือมีอะไรที่เจอบ่อย ๆ แล้วรู้สึกเบื่อ อยากเปลี่ยนแปลง


หลังจากได้ไปสำรวจแล้วเด็ก ๆ กลับมาเล่าให้ฟังว่า... 

“ครู บ้านผมมีไม้ไผ่เยอะเกิน ตัดทำข้าวหลามจนเบื่อแล้ว”

“บ้านหนูไม่มีอะไรเลยที่เหลือใช้ บ้านหนูชอบทำเห็ดให้กิน เบื่อเห็ดไม่อยากกินเห็ดแล้ว”

“บ้านหนูอยู่ติดกับที่รับซื้อขยะ เห็นขวดน้ำกับฝาขวดเยอะมาก อาจจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่าขาย”



2. แก้ปัญหาอย่างไรดีนะ

ครูให้เด็ก ๆ ลองคิดดูว่า สิ่งที่มีเยอะๆ จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลง แปลกใหม่ หรืออาจจะสร้างมูลค่าเอาไปขายได้ ให้ลองคิดดูว่าจะเอาไปทำอะไรดี


เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มได้ไปคิดกันมา

กลุ่มแรก จะเอาไม้ไผ่ที่มีเยอะ มาทำแก้วไม้ไผ่

กลุ่มที่สอง จะเปลี่ยนจากแกงเห็ดที่กินบ่อย ๆ ที่บ้าน จากอาหารเมืองปกติ มาทำเป็น “เห็ดห่มผ้า” ด้วยการเอาเกี๊ยวมาห่อเห็ดแล้วทอด

กลุ่มที่สาม จะลองเอาฝาขวดน้ำไปทำโมเดลกล่องใส่ดินสอ ปากกา “ถ้าทำต่อยอดอาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์ไงครู”



3. มาวางแผนกัน

ครูให้เด็ก ๆ ช่วยกันวางแผนในกลุ่ม ช่วยกันคิดและตกลงกันว่า ใครจะเอาอะไรมาบ้าง กลุ่มเราต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น การใช้เลื่อย, การตัดไม้ไผ่, วิธีห่อเกี๊ยว, เห็ดแบบไหนกินได้ หรือกินไม่ได้


ในกระบวนการนี้จะช่วยสอนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะไปหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะทำ ให้ได้ไปหาข้อมูลที่จะทำงานให้สำเร็จ



4. ครูช่วย “ยิงคำถาม”

ในกระบวนการหาปัญหา หาแนวทางแก้ปัญหา หาข้อมูล ครูจะไม่บอกตรง ๆ แต่ใช้การ “ยิงคำถาม” 

ระหว่างที่ทำงานกันเป็นกลุ่มนั้น ทุกครั้งที่เด็ก ๆ คิดอะไร เขาจะเอามาเล่าให้ครูจ๊อดฟัง ครูจะค่อย ๆ ถามให้เด็กได้ตอบ ถามวนไปจนกว่าเราจะรู้สึกว่าเด็ก ๆ เข้าใจจริง ๆ 


ใช้คำถามชวนให้เด้กได้คิด 

“ถ้าจะทำต้องรู้อะไรบ้าง ?”

“ถ้าแบบนี้ทำไม่ได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง ?”

“ต้องไปหาความรู้เพิ่มมั้ย ?”


ให้เวลาเด็ก ๆ ได้ลองไปคุยกันในกลุ่มดู ค่อย ๆ ให้เด็ก ๆ อธิบายวิธีการที่เขาจะทำงานให้ฟัง

เช่น กลุ่มที่ทำเกี๊ยว แสดงวิธีห่อเกี๊ยวให้ครูดู โดยเอากระดาษมาพับเป็นแผ่นเกี๊ยว 


ด้วยการเรียนรู้แบบนี้ ครูเห็นว่าเด็กได้องค์ความรู้เป็นของตัวเอง มีความรู้เรื่องที่จะทำ ถึงจะวางแผนได้อย่างรอบคอบ



5. มาลงมือทำใน Maker Space

Maker Space คือห้องที่มีมุมสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างมาจากการไปดูงานที่ Starfish คุณครูได้ร่วมกันระดมความคิดตั้งแต่การทำห้องครั้งแรกว่า ควรซื้ออุปกรณ์อะไรมาให้นักเรียนได้ใช้ในมุมไหนบ้าง


เด็ก ๆ สามารถไปใช้มุมต่าง ๆ ตามความสนใจ เช่น มุมศิลปะ ประดิษฐ์ มุมงานช่าง มุมอาหาร 


เมื่อถึงขั้นตอนที่ลงมือสร้างตามที่แต่ละกลุ่มได้วางแผนกันมาแล้ว ครูให้เด็ก ๆ เข้าไปทำงานกันในห้อง Maker Space โดยครูให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำเอง และเมื่อมีปัญหาอะไร ให้นักเรียนคุยกันให้แน่ใจก่อนว่า ปัญหานั้นแก้เองไม่ได้ จึงมาเรียกครู 


และในระหว่างการทำงานกัน ครูอาจไปถามนักเรียนว่า กำลังทำอะไรกันอยู่และกำลังเจอกับปัญหาอะไร



ได้ลงมือทำจึงได้เรียนรู้...


กลุ่มที่จะทอดเกี๊ยวเจอปัญหาการเปิดแก๊ส 

ครูหยอดคำถามว่า ปกติที่บ้านเปิดแก๊สอย่างไร ?

เมื่อครูประเมินว่าที่บ้านเด็ก ๆ ไม่เคยทำอาหาร ครูจึงสอนวิธีเปิดแก๊ส แต่ไม่ทำให้ ให้เด็กได้ลองทำเอง เมื่อทำเป็นแล้วเขาก็ภูมิใจในสิ่งที่ทำ 


พอเริ่มห่อเกี๊ยวเจอปัญหาเกี๊ยวไม่ติด

ครูถามว่า เอาอะไรมาทาเกี๊ยวให้ติดดี

ให้เด็กได้ลองทำ เอาน้ำ น้ำมันมาทา และได้เรียนรู้จากการทดลอง


พอได้ทดลองทำเกี๊ยวเองแล้ว เด็ก ๆ บางคนอยากเอาไปทำให้แม่กินบ้าง บางคนได้ไอเดียว่าอยากเป็นเชฟ



กลุ่มที่ทำกล่องใส่ดินสอจากฝาขวดน้ำ 

เอากาวมาติดฝาขวดแต่ติดแล้วไม่อยู่ เพราะใช้กาวแบบใส 

ครูถามว่าใช้กาวอื่นมั้ย อาจจะใช้กาวอื่นติดได้

เด็กบอกว่าเอากาวอะไรที่แห้งเร็ว ๆ มาลองมั้ย ดูน่าจะติดง่าย “ลองใช้กาวร้อนมั้ยครู” พอลองกาวร้อนก็ใช้ได้จริง 

เด็กได้เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือ การใช้กาวร้อน


ตอนแรกที่ทำกล่องดินสอ เอามาต่อเป็นชั้น ๆ เท่ากัน เรียงแบบนี้แล้วไม่อยู่ ครูชวนคิดว่าทำแบบนี้แล้วไม่อยู่ จะทำอย่างไรดี 

นักเรียนช่วยกันคิดว่าลองเอามาเรียงแบบสลับกันดู ก็ต่อได้



กลุ่มทำแก้วจากไม้ไผ่

พอนักเรียนใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ ไม่มีที่คีบยึดไม้ให้ไม่ขยับ ทุกคนในกลุ่มเลยมาช่วยกันจับไม้ไว้ ปกติครูไม่ค่อยเห็นนักเรียนช่วยกันทำงาน วันนี้ก็ได้เห็นการทำงานร่วมกันในกลุ่ม

พอตัดไม้ได้แล้วผิวไม่เรียบอาจจะบาดปากได้เมื่อเอาไปใช้ เด็ก ๆ ก็เอากระดาษทรายมาช่วยกันขัด 

“แต่ผมเอากระดาษทรายเข้าไปข้างในไม่ได้ เพราะแก้วเป็นทรงสูง”

“ผมอยากเอาอะไรยาว ๆ ให้กระดาษทรายเข้าไปในแก้วได้”

เด็ก ๆ ลองเอาไม้พันกระดาษทรายเข้าไปถูก็ช่วยให้ขัดไม้ไผ่ด้านในแก้วได้ แต่ช้าไม่ทันใจ อยากให้เร็วกว่านี้ 

เด็ก ๆ จึงไปหาอุปกรณ์ในห้องมใช้ ได้ลองเอาสว่านมาพันปลายแล้วใช้ถูข้างในแก้วได้จนเรียบ



6. นำเสนอผลงานและรับคำแนะนำ

ครูได้ให้นักเรียนมานำเสนอผลงานให้กับผอ.และครูในโรงเรียนฟัง 

เด็ก ๆ เล่าตั้งแต่ขั้นแรกเริ่มจนออกมาเป็นชิ้นงานได้หมด

เพราะได้ลงมือทำเอง แก้ปัญหาเอง ทำให้เด็ก ๆ จำได้ทุกขั้นตอน อธิบายได้อย่างละเอียด


ทุกคนได้รับคำชม ความคิดเห็นและคำแนะนำ 

อย่างเช่นกลุ่มแก้วไม้ไผ่ ผอ.เห็นว่าสามารถเอาไปทำขายได้เลยในงานเปิดบ้านวิชาการของโรงเรียน แต่คิดว่าแก้วดูเรียบ ให้ลองปรับให้ดูแปลกใหม่ 

เด็ก ๆ ก็มาลองปรับ เอาสีมาทา แต่ก็ยังไม่พอใจผลงาน 

เด็ก ๆ คิดว่าอยากลองแกะสลัก ให้ครูซื้อมีดแกะสลักไม้มาให้

ด้วยความที่เพิ่งเคยแกะสลักเป็นครั้งแรก เด็ก ๆ ยังทำเป็นลวดลายไม่ได้ แต่เขาสามารถปรับปรุงต่อยอดชิ้นงานจนตัวเองพอใจได้ และนำไปนำเสนออีกครั้ง




เมื่อได้เรียนแบบนี้ ครูได้เห็นว่า...

จริง ๆ แล้ว เด็กไม่ได้ดื้อ แค่ไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นว่า เขาก็มีความสามารถในการทำงานนะ ครูภูมิใจกับเด็ก ๆ มาก และได้เห็นว่าในระหว่างการทำงานด้วยกันเป็นทีม เด็กได้เรียนรู้จากการระดมความคิด ได้เรียนรู้ว่าการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ต้องพูดอย่างไรให้งานเดินได้ โดยที่ไม่ทะเลาะกัน


ครูเห็นว่าเด็ก ๆ ภูมิใจในตัวเอง มันใจในตัวเองมากขึ้น 

แต่ก่อนเด็กรู้สึกว่าเค้าด้อยกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้เขากล้าที่จะบอกทุกคนได้ว่าเขาก็มีความสามารถ


เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้รู้ว่าตัวเองสามารถทำได้ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา

คุณครูทุกคนที่ได้เห็นก็พูดว่า เด็ก ๆ โตขึ้น และรู้สึกภูมิใจในตัวพวกเขา




ทัศนคติของครูที่เปลี่ยนไป...

จากแต่ก่อนครูเห็นว่าเด็กดื้อสอนยาก ตอนนี้ก็เปลี่ยนทัศนคติไปเลยว่าจริง ๆ แล้ว เด็กไม่ได้ดื้น เขาแค่มีทางของเขา

เราต้องเปิดกว้าง และลองให้เขาได้เลือกเดินทาง ให้ได้ลองลงมือทำดู

ทำงานโดยรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ มากกว่าที่เราจะไปชักจูงให้เขาคิดตามเรา จะทำให้เขาแก้ปัญหาได้ เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมได้ เขาได้เรียนรู้ทักษะการทำงานได้ดีกว่าเราไปสอนอีก

มันคือ learning by doing จริง ๆ

คือการเรียนรู้จากสิ่งที่เขาทำ และทำงานได้ด้วยตัวเอง




ครูต้องใจเย็น

ครูต้องไม่ไปจี้ถึงขั้นให้เด็กท้อ ต้องให้กำลังใจเด็กเสมอ 

ใช้ความใจเย็นและรอบคอบ ต้องนำเด็ก ๆ ก่อนหนึ่งก้าวเสมอ และอย่าเพิ่งหมดไฟ

ถ้าเราเหนื่อยก่อน เด็ก ๆ ก็จะไปไม่ถึงเป้าหมาย 

พอเด็กเห็นครูตั้งใจ เราไม่หมดไฟ พอเขาเจอปัญหา ก็จะรู้สึกว่าครูก็อยู่ด้วย ไม่เป็นไร และมีกำลังใจทำต่อจนเสร็จ


“ขอแค่ว่าครูอย่าเพิ่งท้อ ครูจ๊อดใช้เวลารวม ๆ แล้ว 15 ชั่วโมง ครึ่งเทอม ค่อย ๆ ทำไป 

ถ้าช้าไปเด็กเบื่อ เร็วไปเด็กท้อ ต้องเดินไปข้างหน้าให้ได้ทุกคนบ แต่ต้องไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป”



ขอขอบคุณคุณครูผู้ร่วมแบ่งปันไอเดีย :D

ครูจ๊อด วรรณ์นิษฐา พื้นผา

โรงเรียนอนุบาลวังดิน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(5)