icon
giftClose
profile

สมการความเชื่อของครู

9364
ภาพประกอบไอเดีย สมการความเชื่อของครู

“ฉันจะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับนักเรียนได้อย่างไรบ้างนะ” คงเป็นคำถามที่คุณครูหลายคนตั้งข้อสงสัยและพยายามเติมเต็มคำตอบนี้ วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาลองค้นหาคำตอบนั้นผ่านภาพห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของครูตี ฮายาตี ยาโก๊ะ

สมการ (ความเชื่อของครู) “นักเรียน = เจ้าของการเรียนรู้”

“ตีมองว่านักเรียนแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน การให้เขาได้รับหน้าที่ที่เหมาะสมกับตนเองจะช่วยให้เขาสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน” ส่วนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ครูตี ฮายาตี ยาโก๊ะ คุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์


“ฉันจะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับนักเรียนได้อย่างไรบ้างนะ” คงเป็นคำถามที่คุณครูหลายคนตั้งข้อสงสัยและพยายามเติมเต็มคำตอบนี้


วันนี้จึงอยากชวนทุกคนร่วมเดินทางสำรวจห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของคุณครูตีที่ออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนบนความเชื่อที่ว่า “นักเรียนทุกคนล้วนมีศักยภาพและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง”


ตั้งสมการ (ที่มาและแรงบันดาลใจ)

ครูตีเริ่มต้นจากการ “สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน” ว่าแต่ละคนมีความชื่นชอบหรือถนัดในสิ่งใด จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบการเรียนรู้ของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ “ระยะทางและการกระจัด” เดินทางมาพบกับ “ศิลปะ”


แก้สมการ (กระบวนการ)

วัตถุประสงค์ของคาบเรียนนี้ นักเรียนสามารถอธิบายความแตกต่างและคำนวณหา “ระยะทางและการกระจัด” ได้ รวมถึงพัฒนาทักษะการสื่อสาร, คิดวิเคราะห์, ความร่วมมือ และการเป็นเจ้าของการเรียนรู้


ช่วงต้นคาบครูตีอธิบายว่าวันนี้จะเรียนรู้เรื่องอะไรและมีทำกิจกรรมอะไรบ้าง จากนั้นคุณครูจึงวาดรูปสถานที่สมมติ 3 สถานที่บนกระดาน แล้วให้นักเรียนสังเกตว่าอะไรคือความแตกต่างของระยะทางและการกระจัด ก่อนจะเฉลยให้นักเรียนทราบถึงความแตกต่างนั้น รวมถึงอธิบายวิธีการคำนวณหาค่าดังกล่าว


ต่อมาคุณครูเริ่มกิจกรรม “ผู้เรียน = เจ้าของการเรียนรู้” โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 3 – 4 คน จากนั้นคุณครูชี้แจงถึงหน้าที่ภายในกลุ่ม (นักเรียนแต่ละคนจะมีหน้าที่แตกต่างกัน และสามารถแบ่งหน้าที่กันได้ตามความถนัดหรือความสนใจ) ดังนี้

  1. สืบค้นรูปสถานที่ (5 สถานที่)
  2. วาดรูป
  3. ระบายสี
  4. กำหนดตัวเลขให้กับ “ระยะทาง (กิโลเมตรหรือเมตร) และเวลา (ชั่วโมงหรือนาที)” (แต่ละกลุ่มสามารถกำหนดตัวเลขขึ้นเองตามความต้องการ)

ตัวแทนกลุ่มรับกระดาษปรู๊ฟกลุ่มละ 1 แผ่น และเริ่มทำกิจกรรมภายในเวลาที่กำหนด

หลังจากนั้นให้นักเรียนทุกคนแสดงวิธีคำนวณหาระยะทางและการกระจัดของกลุ่มตนเองลงในสมุดของแต่ละคน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคำนวณสามารถสอบถามเพื่อนหรือคุณครูได้


เมื่อทุกคนคำนวณเสร็จ ให้แต่ละกลุ่มนำกระดาษปรู๊ฟมาติดหน้าห้อง ก่อนที่ครูจะแจกกระดาษ post-it ให้กับนักเรียนทุกคน เพื่อประเมินผลงานของแต่ละกลุ่มถึงสิ่งที่ชื่นชอบ สิ่งที่พัฒนาได้ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากชิ้นงานนั้น ซึ่งครูตีย้ำกับนักเรียนเสมอว่าการสะท้อนหรือประเมินผลงานใด ๆ ควรอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติและสื่อสารอย่างสร้างสรรค์


ผลลัพธ์ของการแก้สมการ (ผลลัพธ์การเรียนรู้)

จากกิจกรรมครูตีสังเกตเห็นว่านักเรียนมีความตั้งใจในการทำงานกลุ่มและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งสามารถอธิบายและคำนวณหาค่าระยะทางและการกระจัดได้ นอกจากนี้พวกเขาสามารถให้การสะท้อนที่มีความหมายและสร้างสรรค์ต่อผลงานของเพื่อนร่วมชั้นเรียน


ผมคำนวณไม่เก่ง แต่ผมวาดรูปได้ ผมดีใจที่ได้ช่วยเพื่อนระบายสี”
“ตื่นเต้นทุกครั้งที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ อยากรู้ว่าครูจะมีอะไรมาให้ทำ” – เสียงสะท้อนจากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของครูตี


“ตีเชื่อว่าเมื่อนักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะเปิดใจให้กับการเรียนรู้ และความรู้จะคงทนอยู่กับเขา” - ครูตี ฮายาตี ยาโก๊ะ


จากสมการ “ความเชื่อของครู” ที่มีค่าเป็น “นักเรียน = เจ้าของการเรียนรู้” ทำให้ระยะทางและการกระจัดเดินทางมาพบกับ “ความเป็นไปได้” เสมอ


คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกสมการการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์ “ห้องเรียนแห่งความเป็นไปได้” นะคะ


คุณครูเจ้าของไอเดีย: ฮายาตี ยาโก๊ะ (ครูตี) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว: ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย (ครูเท็น) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)