เมื่อครูต้องสอนเรื่องขั้นตอนการผลิต 3 ขั้นตอน (ปฐมภูมิ,ทุติยภูมิ,ตติยภูมิ) แล้วคิดว่าจะสอนอย่างไรดี
เมื่อคิดอยู่หลายวันจึงได้ออกมาเป็น....
กิจกรรมที่ปรับเอาวิธีการสอน ให้เด็กทุกคนได้มามีส่วนร่วมในวิธีการสอน
เกิดการเรียนรู้จากวิถีชีวิตของตัวเอง จากเรื่องใกล้ตัวอย่างขนมที่เด็ก ๆ กินกัน
ขนมนี้ทำมาจากอะไร ?
ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน 4-5 คน แล้วลองกินขนมที่ครูเตรียมมา
ครูชวนนักเรียนคุยถึงวัตถุดิบ ให้ลองคิดว่าขนมที่กินมีวัตถุดิบอะไรบ้าง
ให้เขียนออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะนึกออก เช่น แป้ง น้ำตาล
จากนั้นให้นักเรียน เลือกวัตถุดิบของกลุ่มตัวเอง มา 3 อย่าง เพื่อหาว่าสิ่งนั้นผลิตมาจากอะไรผลิตที่ไหน (เช่น น้ำตาล ผลิตมาจากอ้อย แหล่งผลิตอ้อย เช่น สุพรรณบุรี หรือจังหวัดในภาคอีสาน ฯลฯ)
ครูเดินดูคำตอบนักเรียนในกระดาษบรู๊ฟเพื่อสำรวจความเข้าใจของนักเรียน
ชวนคุยถึงแหล่งผลิตของวัตถุดิบ ทั้งภาคเกษตร การแปรรูป ขนส่ง ตามหลักการของขบวนการผลิต
ชวนคิด กระบวนการผลิตแบ่งได้กี่ขั้นตอน ?
ครูชวนนักเรียนคุยว่า ถ้าให้แยกกระบวนการผลิตจากข้อมูลที่พบในกระดาษบรู๊ฟ ในความคิดตามหลักการหรือทฤษฎีของนักเรียนเอง จะแบ่งได้กี่ขั้นตอน (คำตอบที่ได้ ก็มีเยอะนะ 3 บ้าง 4 บ้าง 2 บ้าง)
ครูถามต่อเป็นรายบุคคลสำหรับคนที่ตอบ เช่น 2 ขั้นตอน มีอะไรบ้าง 3 ขั้นตอนมี อะไรบ้าง ก็จะเริ่มมีนักเรียนที่ตอบ คำสำคัญออกมา
จากนั้น
พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
ให้นักเรียนได้มานำเสนอหน้าชั้นเรียน ว่าแบ่งกระบวนการผลิตได้เป็นกี่ขั้นตอน โดยที่ครูยังไม่ไปจำกัดความคิดของเค้า แล้วให้นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
หลังจากนั้น ครูสรุปขั้นตอนการผลิตให้นักเรียนฟัน ใช้การเขียนอธิบายบนกระดานถึงการแบ่งขั้นตอนการผลิตเป็น 3 ขั้นตอนคือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
ในระหว่างที่เล่า ครูค่อย ๆ ดึงเอา keyword มาจากคำที่นักเรียนนำเสนอ เช่น “สินค้าที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว” เอาคำเหล่านี้มาสรุปให้อีกที จากนั้นให้นักเรียนเขียนสรุปขั้นตอนการผลิตและวัตถุดิบของกลุ่มมาแบ่งตาม 3 ขั้นตอนนี้
ผลลัพธ์ที่ครูเห็น
เมื่อเรียนรู้แบบนี้แล้ว นักเรียนได้คิดเอง เกิดการคิดแบบไม่มีกรอบอะไรมากั้น ไม่ยึดติดทฤษฎี หลักการ หรือตำรา ให้ได้คิดเองว่าวัตถุดิบมีอะไรบ้าง ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ
คำแนะนำสำหรับคุณครู
1. วางแผนแต่ไม่ยึดติดกับตำรา
อย่างเช่นคาบนี้ การให้เด็กกินขนม ก็เป็นแผนการของครู ที่หยิบมาใช้สอน การสอนไม่ควรยึดติดกับตำรา และไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนทำใบงาน
เด็ก ๆ อาจจะเบื่อใบงาน อย่างเช่นคาบนี้ที่ได้ลองตัดรูปแบบเดิม ๆ ทิ้งไป แล้วให้เด็กมีการสะท้อนผลการเรียนรู้ตอนท้ายคาบ การออกแบบการเรียนรู้บางอย่างไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ลองคิดนอกกรอบ แต่ต้องตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน ว่าจะให้เด็กเรียนรู้อะไร
2. พัฒนาทักษะการคิดผ่านคำถาม
เราสามารถพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ กับเรื่องในชีวิตประจำวัน ตอนนั้นเราบอกนักเรียนว่า วันนี้จะไม่สอนจะให้กินขนม ทำให้นักเรียนตื่นตัวและมีส่วนร่วม ระหว่างที่กินก็เป็นการเรียนโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน ไม่รู้สึกจริงจัง
เรารู้สึกว่าประสบการณ์ทำให้ได้เรียนรู้ลึกซึ้งกว่าการเรียนจากหนังสือ รู้สึกว่าการเรียนการสอนสังคมศึกษาให้สำเร็จ ครูต้องเชื่อมโยงหลักการให้เข้ากับเหตุการณ์จริง ประสบการณ์ของนักเรียน หรือสังคมภายนอกให้ได้ แล้วมันจะสนุกมากกว่า
ดูภาพกิจกรรมนี้ได้ที่...
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1091826257820045&id=915534408782565
ขอขอบคุณคุณครูผู้ร่วมแบ่งปันไอเดีย :D
ครูบิ๊ก ปรมัตถ์ ทองธวัช
โรงเรียนคลองบางโพธิ์ จังหวัดปทุมธานี
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!