9 เทคนิคการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมง่ายๆสไตล์อนุบาล
โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ
และคณะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และนักศึกษาชั้นปีที่ 5
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
จากประสบการณ์การสอน และนิเทศการสอนนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล อาจารย์พบว่า มีสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจนั่นคือ “เทคนิคการแบ่งกลุ่มผู้เรียน” ที่ไม่ยุ่งยาก และสอดคล้องกับวัยอนุบาล นักศึกษาที่สอบสอนกับอาจารย์แต่ละคนจะมีเทคนิคการแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งน่าสนใจว่าแต่ละเทคนิคง่าย ๆ เหล่านั้นทำให้ผู้เรียนในวัยอนุบาลซึ่งเป็นวัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง สามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาเป็นไอเดียแบ่งปันให้กับครู อาจารย์ที่สนใจทั้งระดับปฐมวัย และระดับอื่นๆนำไปประยุกต์ใช้ได้
อาจารย์จึงได้จัดทำ KM เล็กๆขึ้นระหว่างตัวอาจารย์ซึ่งเคยมีประสบการณ์การสอนและการนิเทศการสอน และนักศึกษาในความดูแลในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ทั้งหมด 6 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 2 คน และนักศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 4 คน ซึ่งมีประสบการณ์การสอนในห้องเรียนอนุบาลเช่นกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทำให้ได้ 9 เทคนิคการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมง่ายๆสไตล์อนุบาล ดังนี้
1 . แบ่งกลุ่มโดยการนับ 1 2 3 4
ให้เด็กนั่งเป็นแถวตอนลึกหรือนั่งแบบครึ่งวงกลม และให้เด็กนับเลข 1 – 4 ไปเรื่อย ๆ จนถึงคนสุดท้าย ใครนับเลข 1 อยู่กลุ่มที่ 1 ใครนับเลข 2 อยู่กลุ่มที่ 2 ใครนับเลข 3 อยู่กลุ่มที่ 3 ใครนับเลข 4 อยู่กลุ่มที่ 4
การแบ่งกลุ่มนี้สามารถจัดได้ทั้งกิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
*การแบ่งกลุ่มอาจขึ้นอยู่กับจำนวนของเด็กที่มาโรงเรียนแต่ละวัน หรือแต่ละกิจกรรมตามความเหมาะสม
2. แบ่งกลุ่มโดยใช้เพลง
2.1 เพลงผึ้งน้อยบินหารัง
ครูร้องเพลง
หึ่ง หึ่ง หึ่ง ผึ้งน้อยบินหารัง (ซ้ำ)
ผึ้งน้อยจ๋า (จ๋า) ผึ้งน้อยจ๋า (จ๋า)
เจ้าบินหาอะไร ผึ้งตอบเร็วไว
ผึ้งน้อยบินหารัง
จากนั้นครูออกคำสั่งให้ผึ้งบินหารัง เช่น รังละ 3 คน ให้เด็กๆจับกลุ่ม 3 คน โดยหากมีเศษ ครูจะให้จับกับเพื่อนที่อยากอยู่ด้วย หรือออกคำสั่งว่าผึ้ง 3 รัง 2 ให้เด็กๆจับกลุ่ม 5 คน คนที่เป็นรัง 2 คนให้จับมือกันเอาไว้ คนที่จะเป็นผึ้ง 3 คนให้บินเข้ามาอยู่ในรัง จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
2.1 เพลงชูมือ
ครูร้องเพลง
ชูมือขึ้นไปตรงๆ แล้วลดแขนลง โยกซ้ายโยกขวา
ยักไหล่ ส่ายเอวไปมา (ซ้ำ) แล้วฟังคุณครูว่า……..
จากนั้นครูออกคำสั่ง เช่น ให้เด็กๆจับกลุ่ม 3 คน จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
2.2 เพลงลมเพลมพัด
ครูร้องเพลง
ลมเพลมพัด โบกสะบัด พัดมาไวๆ ลมเพลมพัดอะไร (ซ้ำ)
ครูจะบอกให้……
จากนั้นครูออกคำสั่ง เช่น พัดให้เด็กๆจับกลุ่ม 3 คน จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
2.3 เพลงลอยเรือ
ครูร้องเพลง
ลอยเรือไปตามนาวา เห็นหอยปูปลาลอยล่องตามชล พายเรือกันไปหลายคน (ซ้ำ) เห็นคน……คนจับวงคุยกัน
ครูออกคำสั่งตามจำนวนที่ต้องการให้เด็กจับกลุ่ม จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
3.แบ่งกลุ่มตามรูปภาพ
ครูเตรียมรูปภาพต่างๆ เช่น รูปภาพผลไม้ รูปภาพดอกไม้ รูปภาพสัตว์ ถ้าครูต้องการแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ก็เตรียมฉลากรูปผลไม้มา 4 ชนิด จากนั้นให้เด็กจับฉลาก ใครที่ได้ผลไม้ชนิดเดียวกันก็อยู่กลุ่มเดียวกัน เป็นต้น
การแบ่งกลุ่มนี้สามารถจัดได้ทั้งกิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
3. แบ่งกลุ่มตามสี
ครูเตรียมสิ่งของที่มีสีที่หลากหลาย เช่น ไม้หนีบสี ไม้ไอติมสี กำไลสี หลอดสี ให้เด็กจับฉลากสิ่งของที่มีสีที่ครูเตรียมมา เช่น ไม้หนีบสี ใครที่มีสีไม้หนีบเหมือนกันก็อยู่กลุ่มเดียวกัน ไม้ไอติมสี ใครที่มีไม้ไอติมสีเดียวกันให้อยู่กลุ่มเดียวกัน การแบ่งกลุ่มนี้สามารถจัดได้ทั้งกิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
4. แบ่งกลุ่มตามสีและสัญลักษณ์
การแบ่งกลุ่มให้เด็กเข้าทำกิจกรรมตามมุมประสบการณ์ ได้แก่ มุมบทบาทสมมุติ มุมวิทยาศาสตร์ มุมคณิตศาสตร์ มุมสร้างสรรค์ มุมภาษา ครูเตรียมแกนกระดาษทิชชู่เพื่อทำเป็นกระป๋อง ติดกระดาษสีรอบแกนทิชชู่(กระป๋อง) ตามสีของมุมแต่ละมุม ติดรูปภาพสัญลักษณ์ของแต่ละมุมไว้ตรงกลางแกนทิชชู่ (กระป๋อง) ด้วย เช่น มุมภาษา อาจเป็นรูปตัวอักษร ก ข มุมคณิตศาสตร์ อาจเป็นรูปตัวเลข จากนั้นนำไม้หนีบสีที่ตรงตามสีของมุมติดรูปภาพของมุมไว้ที่ปลายไม้หนีบ (มี 5 มุม ดังนั้นไม้หนีบจะมีกระป๋องละ 5 อัน) ให้ใส่ไว้ในแกนทิชชู่ (กระป๋อง)
ครูบอกกติกาเด็กว่าถ้าหากจะเข้ามุมเด็กๆจะต้องมีไม้หนีบสี หากเด็กคนใดอยากเปลี่ยนมุมให้เอาไม้หนีบใส่คืนในแกนทิชชู่ (กระป๋อง) ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเอาสีไม้หนีบอันอื่นมาเพื่อเข้ามุมอื่น ครูให้เด็กเลือกไม้หนีบสี หนีบที่กระเป๋าเสื้อ และให้เด็กเข้ามุมตามสีของไม้หนีบของแต่ละมุม เมื่อหมดเวลาให้เอากลับมาใส่คืนในแกนทิชชู่(กระป๋อง) ตามเดิม การแบ่งกลุ่มนี้สามารถจัดได้ในกิจกรรมเสรี
5. แบ่งกลุ่มตามรูปทรงเรขาคณิต (หรืออาจจะเป็นสิ่งของอื่น ๆ )
ใช้กิจกรรมตามหาของ ครูให้เด็กแต่ละคนออกตามหารูปทรงเรขาคณิต ใครที่มีรูปเรขาคณิตแบบเดียวกันก็อยู่กลุ่มเดียวกัน เป็นต้น การแบ่งกลุ่มนี้สามารถจัดได้ทั้งกิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง
6. แบ่งกลุ่มตามรายชื่อ เด็กเก่ง เด็กปานกลาง เด็กอ่อน
ครูสังเกตพฤติกรรมที่อยู่ในชั้นเรียน การทำกิจกรรมต่างๆ การเขียน การตอบคำถาม การเล่น การช่วยเหลือตนเอง โดยจัดให้มีเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงคละกันในกลุ่ม ซึ่งมีเด็กเก่ง เด็กปานกลาง เด็กอ่อน อยู่ด้วยกันในกลุ่ม เป็นการช่วยเหลือกันและกันในกลุ่มของตนเอง เพื่อให้เด็กรู้จักช่วยเหลือเพื่อน การเคารพการตัดสินใจของผู้อื่น ความสามัคคี การแบ่งปัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เช่น การแสดงบทบาทสมมติ เด็กจะมีบทบาทหน้าที่ของตนเองทุกคน
7. แบ่งกลุ่ม ชาย/หญิง
การทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น วิ่งเปี้ยว ซึ่งการแบ่งชาย/หญิง จะทำให้เด็กไม่สับสนในการส่งต่ออุปกรณ์ ผู้หญิงส่งให้ผู้หญิง ผู้ชายส่งให้ผู้ชาย ทำให้กิจกรรมดำเนินไปได้อย่างสนุกสนาน
8. แบ่งกลุ่มตามเลขคู่ เลขคี่
ครูนับเลขที่ของเด็ก ถ้าเด็กเลขที่เด็กเป็นเลขคี่ ให้ไปยืนมาตำแหน่งที่ครูบอก ถ้าเป็นเลขคู่ ให้ไปยืนตำแหน่งที่ครูบอก (จะได้ 2 กลุ่ม)
ที่สำคัญอาจารย์อยากขอบคุณลูกศิษย์ทั้ง 6 คน ที่ได้ร่วมแบ่งปันเทคนิคดีๆ ได้แก่
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 2 คน ได้แก่
นางสาวนภัสวรรณ แซ่อึ้ง
นางสาวณัฐกานต์ พวงทอง
นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 4 คน ได้แก่
นางสาวพรพรรณ เกงขุนทด
นางสาววนิดา มีชัย
นางสาวดวงนฤมล พลภัทรพิเศษกุล
นางสาวอัญชลีภรณ์ ใจเที่ยง
เพราะเมื่อศิษย์ได้เรียนรู้จากอาจารย์ และอาจารย์ได้เรียนรู้จากศิษย์ นั่นคือ การรวบรวมองค์รวมรู้เพื่อร่วมกันสร้าง และจะเป็นพลังเล็กๆที่ช่วยกันขับเคลื่อนห้องเรียนปฐมวัยให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุขต่อไป
สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ทั้ง 4 คนในความดูแลของอาจารย์ในภาคเรียนที่ 2/63 นี้ กำลังจะเสร็จสิ้นการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 2 อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของความเป็นนักศึกษาฝึกสอน ไปสู่ความเป็นครูปฐมวัยอย่างเต็มรูปแบบ อาจารย์หวังว่าศิษย์ทุกคนจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการร่วมกันแบ่งปันความรู้สู่ห้องเรียนปฐมวัยได้อีกจำนวนมากในอนาคต
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!