icon
giftClose
profile

เทคนิคการใช้ Three Part Cards ฝึกภาษาสำหรับเด็ก

83341
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิคการใช้ Three Part Cards ฝึกภาษาสำหรับเด็ก

น่าสงสัยว่าทำไมเด็กๆชอบงานนี้มาก น่าสงสัยว่าทำไมต้องทำการ์ดเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในการสอนภาษาสำหรับเด็กอนุบาล มาร่วมไขคำตอบโดยอาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เทคนิคการใช้ Three Part Cards เพื่อฝึกภาษาสำหรับเด็กอนุบาล

 

โดยอาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

“เด็กๆจะเรียนรู้การฟังและการอ่านได้ดีถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับตัวเขา การเรียนรู้ผ่านบัตรภาพ 3 ส่วนจะทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้ เด็กได้มีอิสระในการเลือกเรียนรู้ในหมวดที่ตนเองสนใจ เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวไปไกลตัว และสัมพันธ์กับชีวิตจริงของเด็ก”

อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

 

จากประสบการณ์การสอนเด็กปฐมวัยในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ของอาจารย์ พบว่า งานหนึ่งที่เด็กๆตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปให้ความสนใจมาก คืองานบัตรภาพ 3 ส่วน หรือ Three Part Cards ที่จะกล่าวต่อไปนี้ แม้เด็กอายุ 4 ขวบส่วนใหญ่จะยังอ่านเป็นคำหรือประโยคไม่ได้ แต่เด็กสนใจรูปภาพและสนใจที่ใช้ทักษะการฟังในการทำงาน โดยต้องมีครูคอยนำเสนองานอยู่ใกล้ๆ แต่สำหรับเด็ก 5 ขวบขึ้นไปนั้นสามารถอ่านเป็นคำง่ายๆได้แล้วก็สามารถฝึกฝนให้อ่านจากงานนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ งานนี้เป็นอีกน่าสนใจมาก ปรากฎอยู่ในหมวดงานภาษาตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ ซึ่ง ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ แพทย์หญิงชาวอิตาลีคนแรกเป็นคนคิดค้นขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะการฟัง และการอ่านสำหรับเด็ก 

อย่างไรก็ตามกว่าที่เด็กจะมาถึงการที่สามารถอ่านได้เองจากบัตรคำในงานนี้ หากเป็นห้องเรียนมอนเตสซอรี่แบบเต็มรูปแบบ เด็กๆจะต้องเรียนรู้งานหลายงานกว่าจะมาถึงงานในส่วนบัตรภาพ 3 ส่วนนี้ เช่น เด็กต้องเรียนรู้งานตัวอักษรกระดาษทราย งานตัวอักษรเคลื่อนที่ งานการออกเสียงต้น เป็นต้น แต่สำหรับห้องเรียนปกติ    ก็สามารถใช้เป็นส่วนเสริมได้ โดยคุณครูอาจใช้วิธีการสอนอื่นๆ เมื่อเด็กเริ่มอ่านได้แล้วหรือสนใจการฟังหรือการอ่าน ก็สามารถนำงานบัตรภาพ 3 ส่วนมาประยุกต์ใช้ได้ อาจทำในรูปแบบของเกมการศึกษา โดยใช้วิธีการประยุกต์การสอนให้เข้ากับบริบทในห้องเรียนปกติ ดังที่จะกล่าวต่อไป

อุปกรณ์  

1.บัตรภาพ (ที่จัดทำเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดผลไม้ หมวดสัตว์ หมวดของใช้ในครัว หมวดดอกไม้ ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น) หมวดละประมาณ 10 ภาพ ไม่ต้องมีขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ในการวาง ถ้าใหญ่จะทำให้ไม่มีที่ในการวางบัตรคำและบัตรตรวจสอบ

2. บัตรคำ (ที่สัมพันธ์กับบัตรภาพ)

3. บัตรตรวจสอบ (ที่มีภาพและคำอยู่ในบัตรเดียวกัน)

4. ซองใส่บัตร (ที่เย็บเป็นช่อง 3 ช่อง เพื่อให้ใส่บัตรภาพ บัตรคำ และบัตรตรวจสอบ)

5. เสื่อ หรือ โต๊ะ (หากเป็นห้องเรียนมอนเตสซอรี่ แต่ห้องเรียนปกติอาจใช้แค่โต๊ะ)

การประยุกต์เทคนิคการสอนให้เข้ากับบริบทห้องเรียนปกติ

1. ให้เด็กเลือกซองใส่บัตรภาพในหมวดที่เด็กชื่นชอบ เช่น หมวดผลไม้ และเดินมาที่โต๊ะทำงาน

2. ครูนำเฉพาะบัตรภาพออกมาจากซอง นำบัตรภาพวางเป็นแถวทีละใบ เรียงจากบนลงล่าง หากพื้นที่ไม่พอให้เริ่มแถวใหม่ และอ่านออกเสียงคำนั้น เช่น peach watermelon เป็นต้น

 

    ที่มารูปภาพ : maitrilearning.com/collections/3-part-reading-cards

3. ครูนำเฉพาะบัตรคำออกมาจากซอง และอ่านออกเสียงคำนั้น และเอาไปวางใต้ภาพที่สัมพันธ์กันกับบัตรภาพ

 

     ที่มารูปภาพ : maitrilearning.com/collections/3-part-reading-cards

4. ครูบอกว่า “เราจะมาทำการตรวจสอบกัน” ครูนำเฉพาะบัตรตรวจสอบ (ที่มีภาพและคำอยู่ในบัตรเดียวกัน) จับคู่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยให้วางไว้ทางด้านขวามือของบัตรภาพ

ที่มารูปภาพ : maitrilearning.com/collections/3-part-reading-cards

5. ครูชี้คำที่บัตรคำ และอ่านออกเสียง ครูชี้คำที่บัตรตรวจสอบและออกเสียง (ตรงนี้ ทำให้เด็กเห็นว่าคำ   2 คำนั้นคือคำเดียวกัน และส่วนภาพเด็กจะมองเห็นอยู่แล้วว่าเป็นภาพเดียวกัน ** ทำให้ในครั้งต่อไป หรือเมื่อทำซ้ำๆ เด็กจะเริ่มสังเกต ตัวอักษรเพื่อเปรียบเทียบเองว่าตัวไหนเหมือนกัน เด็กจะเอามาวางคู่กัน เด็กได้การเรียนรู้ตัวอักษร)

6. ให้เด็กลองทำเอง ครูจะเข้าช่วยเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ

7. ครูเก็บงานให้เด็กดูเป็นตัวอย่างใส่ซอง

หมายเหตุ : เด็กอายุ 4 ปี ขณะที่เด็กลองทำครูควรช่วยอ่านออกเสียง

ทำไมเด็กถึงสนใจงานนี้กันมาก

         อาจารย์วิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1) บัตรภาพที่ใช้ในงานนี้จะเป็นตัวหลักในกระตุ้นความสนใจของเด็ก เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ได้ดีจากภาพที่มีสีสันสวยงาม ภาพที่เป็นของจริง แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออก ประกอบกับการนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ ประเภทต่างๆ ทำให้เด็กสามารถจดจำคำศัพท์ได้อย่างง่ายดาย เช่น บัตรภาพหมวดสัตว์ บัตรภาพหมวดของใช้ในครัว บัตรภาพหมวดดอกไม้ บัตรภาพหมวดใบไม้ เป็นต้น 

2) การเปิดโอกาสให้เด็กเลือกทำงานจากบัตรภาพในหมวดที่เด็กๆชื่นชอบ จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นอิสระ มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ จะส่งผลให้เด็กอยากเรียนรู้ และมีความสุขในการทำงานนั้น

3) บัตรคำที่ใช้ในงานนี้เป็นบัตรคำที่มีความหมาย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับภาพ ทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงภาพกับคำ และเรียนรู้ว่าภาพและกับนั้นมีความสัมพันธ์กัน และเป็นสิ่งที่มีความหมาย การเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับเด็กจะทำให้เด็กสามารถจดจำได้ดี

4) บัตรตรวจสอบที่ใช้ในงานนี้จะเป็นบัตรที่มีทั้งภาพและคำ ทำให้เด็กสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องมีครูมาบอก ทำให้เด็กเกิดภูมิใจ และเชื่อมั่นในตนเอง

5) เหมาะกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กมีเริ่มมีความสนใจในการอ่านมากขึ้น

6) การเก็บบัตรใส่ซองด้วยตนเองทำให้เด็กรู้สึกสนุก เหมือนได้ใส่ของลงในที่แคบๆ พอใส่ได้ครบหมด เด็กจะมีความสุขมาก และภูมิใจมาก 

Tips การสอนให้สนุก

1. หากเด็กสามารถทำได้แล้ว ครูอาจใช้เทคนิคการสอน 3 ขั้นตอน โดยใช้แต่บัตรภาพ (สามารถอ่านได้จากที่อาจารย์เขียนใน inskru ไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 อ่านประกอบ)

2. ครูสามารถสอนคำศัพท์ได้หลายภาษา โดยทำเป็นบัตรภาพหมวดหมู่หลายภาษา เช่น ไทย จีน อังกฤษ

3. ครูสามารถประยุกต์ใช้บัตรภาพ 3 ส่วนกับการเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ เช่น วงจรชีวิตผีเสื้อ วงจรชีวิตกบ การใช้ชีวิตประจำวัน

4. ครูประถมต้น ประถมปลาย สามารถนำไปบูรณาการกับวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคม สุขศึกษา เป็นต้น

5. ครูปฐมวัยสามารถไปปรับใช้กับกิจกรรมเกมการศึกษา บูรณาการกับหน่วยการเรียนรู้

6. ครูควรจัดทำบัตรภาพเป็นหมวดหมู่ มีซองใส่ และมีที่จัดวางให้เรียบร้อยสวยงาม โดยอาจประยุกต์ใช้ที่คว่ำจานที่เป็นไม้มาวางได้ เมื่อทำงานเสร็จให้เอาไปเก็บเข้าที่ตามเดิม ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องของความมีระเบียบวินัยไปในตัว ซึ่งเป็นการประยุกต์แนวคิดของมอนเตสซอรี่เรื่องของการมีอิสระอย่างมีขอบเขตมาใช้ด้วย

หมายเหตุ : สำหรับคุณครูที่สนใจสามารถ Download สื่อบัตรภาพ 3 ส่วน ได้จาก website ทั่วไป เพียงพิมพ์คำว่า Three Part Cards Montessori 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(10)