icon
giftClose
profile
frame

บูรณาการ “เล่าเส้นเป็นเรื่อง”

21341
ภาพประกอบไอเดีย บูรณาการ “เล่าเส้นเป็นเรื่อง”

ชวนเด็ก ๆ มาทำเส้นด้วยกัน ได้ทดลอง ได้แลกเปลี่ยน แล้วเกิดการเรียนรู้


ครูติ๊กตั้งจุดประสงค์ของการเรียนรู้นี้ว่า ให้เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารจากเส้น ประกอบอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายได้หลากหลายอย่างสร้างสรรค์ จึงเกิดเป็นหน่วยบูรณาการ ‘เล่าเส้นเป็นเรื่อง’ ซึ่งเป็นชื่อที่เด็ก ๆ ช่วยกันตั้งเอง


การสอนแบบบูรณาการ PBL ที่เรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เชื่อมกับชีวิตจริงของเด็ก ในแต่ละหน่วยบูรณาการได้หลายวิชา กิจกรรมนี้ครูได้ปรับมาจากแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่โรงเรียนที่สอนอยู่



ขั้นตอนการเรียนรู้ในหน่วย ‘เล่าเส้นเป็นเรื่อง’


1. สร้างแรงบันดาลใจ


เริ่มจากช่วงสัปดาห์แรก ทำกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ชวนให้ทำความรู้จักเส้นจากประเทศต่าง ๆ ดูคลิปเกี่ยวกับอาหารประเภทเส้น ได้เห็นว่าวัฒนธรรมเส้นเป็นอย่างไร จากนั้นชวนเด็ก ๆ มาตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้เรื่องเส้น ให้เสนอชื่อกันมาหลาย ๆ ชื่อ สุดท้ายแล้วในหน่วยนี้เด็ก ๆ ได้เลือกชื่อ ‘เล่าเส้นเป็นเรื่อง’ แล้วมาออกแบบการเรียนรู้ใน 10 สัปดาห์ด้วยกันว่าอยากเรียนรู้อะไรบ้าง อะไรที่รู้แล้ว อะไรที่ยังไม่รู้



2. เรียนรู้หาข้อมูลด้วยกันเป็นกลุ่ม


ในแต่ละสัปดาห์ครูจะมีโจทย์ให้นักเรียนแก้ปัญหา เด็ก ๆ จะได้ไปแสวงหาความรู้ ไปค้นคว้า เช่น การถนอมอาหาร และลงมือทำกิจกรรมด้วยกระบวนการกลุ่ม  เริ่มจากทำกิจกรรมจิตศึกษาก่อน แล้วจึงเริ่มมาพูดคุยมาแชร์กันว่า แต่ละคนได้ค้นคว้าข้อมูลอะไรมาบ้าง ทุกคนในกลุ่มจะได้พูด ในช่วงแรก ๆ ที่เรียนแบบนี้ เด็กบางคนไม่ได้ค้นข้อมูลมา เขาจะฟังอย่างเดียวแล้วบันทึกในสมุด ครูสังเกตว่าพอครั้งต่อ ๆ ไป ทุกคนกระหายที่จะค้นข้อมูลกันมามากขึ้น เพราะเขาอยากแชร์ส่วนที่ตัวเองหามา แล้วมีการสรุปการเรียนรู้ทุกสัปดาห์ว่าได้เรียนรู้ได้เข้าใจอะไรไปบ้าง 

โดยที่ทุกคนในกลุ่มช่วยกันทำเป็นชิ้นงาน มีการแบ่งงงานกันทำ แล้วมาช่วยกันดูแต่ละส่วนที่แบ่งกันทำเพื่อเติมเต็มให้กันและกัน เป็นการทวนความรู้และเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่ม 

ครูติ๊กใช้วิธี world cafe ที่ให้แต่ละกลุ่มมีเจ้าบ้านหนึ่งคนเล่าผลงานกลุ่มตัวเอง แล้วเพื่อนกลุ่มอื่นผลัดกันมาฟัง สลับกันไปจนครบทุกกลุ่ม ส่วนเจ้าบ้านที่ไม่ได้ฟังของกลุ่มอื่น จะมีเพื่อนในกลุ่มตัวเองที่ไปฟังมา จดบันทึกแล้วมาเล่าให้ฟัง จากนั้นปรับปรุงงานของกลุ่มตัวเองอีกรอบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในกิจกรรมนี้ครูพยายามให้เด็กทุกคนมีเวทีให้แสดง ให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด เด็กทุกคนมีคุณค่า เมื่อครูให้ค่าเด็กทุกคนเด็กก็อยากมาโรงเรียนและชอบที่ได้เรียนรู้



3. มาทำแป้งให้เป็นเส้นกัน


สัปดาห์ 2 ครูให้โจทย์ว่า จะทำแป้งให้เป็นเส้นจั๊บญวนได้อย่างไร เลือกเส้นจั๊บญวนเพราะเป็นอาหารที่คุ้นเคยในชุมชนนี้ เด็ก ๆ ได้ช่วยกันลองผิดลองถูก ทำซ้ำหลายครั้งกว่าจะได้เส้นที่หนานุ่มไม่ขาด 

ครูชวนคุยต่อว่าเราจะเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้เส้นจั๊บญวนได้อย่างไร แต่ละกลุ่มคิดออกมาไม่เหมือนกัน บางกลุ่มใส่อัญชันเพิ่มสีสัน บางกลุ่มใส่แครอท บางกลุ่มใส่เนื้อสัตว์อย่างเนื้อปลา เนื้อหมู 

ครูชวนคิดวิเคราะห์ว่าเส้นที่เราทำกันมีสารอาหารอะไรบ้าง ให้ไปหาข้อมูลสารอาหาร 5 หมู่ แล้วเรามีวิธีทดสอบสารอาหารอย่างไร เรามาวางแผนการกินตามธงโภชนาการกัน เด็ก ๆ ได้ค้นคว้าข้อมูลแล้วมาวางแผนด้วยกัน

นอกจากทำเส้นจั๊บญวน ในแต่ละสัปดาห์ถัดไปก็ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารที่หลากหลาย ตามที่ได้ออกแบบวางแผนหน่วยการเรียนนี้เอาไว้ ทุกกิจกรรมจะนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างเช่น การถนอมอาหาร การเลือกซื้ออาหารประเภทเส้น เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มได้เลือกทดลองแตกต่างกัน และได้ลงมือทำจริง ซึ่งเป็นความรู้ที่เอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย



4. โยงจากเรื่องเส้นสู่สังคม


ชวนไปดูวัฒนธรรมอาหารเส้นของประเทศต่าง ๆ ของแต่ละประเทศในภูมิภาค มีอาหารเส้นแตกต่างกันอย่างไร แล้วในไทยเองเป็นอย่างไร ชวนคุยจากเรื่องอาหารไปสู่เรื่องประเพณี วัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์



5. สรุปองค์ความรู้


ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของหน่วยการเรียน เด็ก ๆ ได้ประเมินตัวเอง เพื่อน ๆ และครู ครูให้เด็ก ๆ สรุปองค์ความรู้ที่ได้ทั้งหมด นอกจากโจทย์ที่ครูให้ไปหาคำตอบ ไปลงมือทำแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเอง แล้วพวกเขาเรียนรู้ อยากที่จะแก้ปัญหานั้น โดยที่ครูจะไม่บอกทุกอย่าง แต่ให้ได้หาคำตอบเอง


ปัญหาที่เกิดจากเด็ก

ในการทำเส้นแต่ละกลุ่มทำแล้วได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน บางกลุ่มเส้นหนา แข็ง ขาด เป็นปัญหาที่เด็ก ๆ พบ เมื่อเจอปัญหาหลากหลายต่างกัน ครูได้ชวนให้กลับมาคุยกัน มาแชร์ในกลุ่ม แต่ละกลุ่มนำเสนอหาเทคนิควิธีการร่วมกัน เขาไปคิดค้น พยายามด้วยตัวเอง พอทำซ้ำ เด็กเริ่มรู้เทคนิค เช่น น้ำต้องร้อนไม่อย่างนั้นแล้วจะนวดแป้งไม่ได้ ไม่เป็นเส้น บางกลุ่มพบว่าถ้าใส่น้ำมากไปต้องเพิ่มแป้ง บางกลุ่มพบว่าอัตราส่วนแป้งควรใส่อะไรเท่าไหร่ 

ครูติ๊กช่วยตั้งคำถาม ถามว่า “พี่ ๆ สังเกตุเห็นอะไร” “ เกิดอะไรขึ้น”

พยายามให้เขาหาเหตุให้เจอ เมื่อเจอแล้วจะแก้ไขอย่างไร พยายามคิด พอเห็นจากกลุ่มอื่นก็เกิดการเรียนรู้ไปด้วย ได้มาแชร์กันว่าทำอย่างไรจนได้วิธีการแก้ปัญหา ครูเป็นคนที่จะช่วยกระตุ้นเด็กให้ได้คิดมากขึ้น ช่วยจนเด็กสามารถหาคำตอบได้เอง



6. นำเสนอผลงาน

นำเสนอองค์ความรู้นี้ให้กับผู้ปกครองได้ฟัง ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่คิดกันเอง บางกลุ่มทำเป็นแบบรายการ MasterChef  โดยมีผู้ปกครองร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมชื่นชม ยินดีในความงอกงามที่เกิดขึ้นของนักเรียนทุกคน




ผลลัพธ์ที่ครูสังเกตเห็น


หลังจากผ่านกิจกรรมทั้ง 10 สัปดาห์ ผลที่ออกมาพบว่าผู้เรียนเกิดความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ ชอบวิธีการสอนแบบบูรณาการ ชอบความท้าทายและมีความเพียรพยายามไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ถึงแม้ว่าการทำเส้นจะล้มเหลวหลายครั้งแต่พวกเขาก็ไม่ละเป้าหมายลองผิด ลองถูกจนประสบผลสำเร็จได้วิธีการ เทคนิคหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง เกิดความภูมิใจเห็นคุณค่าของตนเองและคนอื่น ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ คือนักเรียนจัดการตนเองได้ มีการสื่อสารที่ดี เข้าใจการรวมพลังทำงานเป็นทีม ได้พัฒนาความคิดขั้นสูง เพื่อเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งต่อไป ครูมองว่ากิจกรรมแบบนี้ทำให้เด็กมีความรู้ที่ยั่งยืน ไม่เหมืนอกับการเรียนที่ครูบอกความรู้แล้วเด็กแค่จำ แต่เป็นความรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง




ความประทับใจของครู


ประการแรก ได้เห็นเด็ก ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจทำกิจกรรมจนงานสำเร็จทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับครู เด็กได้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและหาคำตอบด้วยตนเอง ครูเป็นเพียงผู้ช่วยสนับสนุน ให้โอกาสและกำลังใจ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง 


ประการที่สอง ผู้ปกครองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น ร่วมกิจกรรมจิตศึกษา สนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ ถ่ายทอดประสบการณ์และมาร่วมชื่นชมความงอกงามที่เกิดขึ้นของลูกหลานตัวเองโดยไม่ไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น มีความรัก ความเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น สัมพันธภาพระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนเป็นไปในทางบวก พร้อมทั้งได้เสนอความคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงเรียน


พ่อแม่ให้ความร่วมมือ หาอุปกรณ์มาให้ และพร้อมมาอาสาถ่ายทอดประสบการณ์ ตอนนั้นเด็กทำขนมกล้วยแขก ผู้ปกครองก็มาช่วยด้วย เป็นสัมพันธภาพระหว่างครูผู้ปกครองเด็ก เป็นในทางบวก ร่วมมือ เวลาเขามาชื่นชมลูก ผู้ปกครองภูมิใจ ไม่คิดว่าลูกจะทำได้ขนาดนี้ ครูได้บอกว่าให้ดูพัฒนาการงานชิ้นแรกถึงสุดท้าย และพ่อแม่ต้องไม่เอาไปเทียบกับของคนอื่น  เวลาให้ผู้ปกครองเสนอความเห็นคำแนะนำ เขาจะกล้าเสนอความจริงให้ ส่วนใหญ่เป็นคำชื่นชมตัวลูก ไม่คิดว่าลูกจะทำได้ขนาดนี้ และรู้สึกขอบคุณครู และผอ.โรงเรียน



เข้าไปดูภาพกิจกรรม ‘เล่าเส้นเป็นเรื่อง’ ได้ที่...

1. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1245765485816161&id=100011481630699

2. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1205687439823966&id=100011481630699

3. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1205687439823966&id=100011481630699



ขอขอบคุณคุณครูผู้ร่วมแบ่งปันไอเดีย :D

ครูติ๊ก ฉัตรวรีย์  บุญสิริเกียรติ

โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล) จ.นครพนม


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(8)