icon
giftClose
profile

บูรณาการ “ป่าผืนสุดท้าย”

26571
ภาพประกอบไอเดีย บูรณาการ “ป่าผืนสุดท้าย”

พาเด็ก ๆ เข้าป่า ไปเรียนรู้จากผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

โรงเรียนที่ครูสอนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็ก ๆ เรียนจาก DLTV (สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) ซึ่งเป็นการดูอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติตาม หรือเป็นการสอนแต่ในหนังสือ พอได้ไปดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จึงได้เอาการเรียนรู้แบบ PBL (Problem–based Learning) มาเป็นแม่แบบแล้วมาออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เข้ากับบริบทและพื้นที่ของโรงเรียนเราเอง ให้เด็กได้ลงมือทำ ได้ลงพื้นที่ เมื่อเรียนแบบนี้ครูเห็นว่าเด็ก ๆ กระตือรือร้นอยากที่จะเรียนรู้เองโดยไม่ได้ถูกบังคับ 



เรียนรู้แบบ PBL ทำอย่างไร


1. สร้างแรงบันดาลใจ


เริ่มสัปดาห์แรกด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็ก ๆ ไปสัมภาษณ์คนแก่ที่บ้านว่าหมู่บ้านมีที่มาอย่างไร บางคนเล่าว่าเมื่อก่อนพื้นที่แถวนี้สมบูรณ์มาก มีป่า แม่น้ำ สัตว์ป่า บางคนอัดวิดิโอที่สัมภาษณ์มาให้ดูกัน

ครูชวนคิดต่อด้วยการถามว่า “ทำไมไม่หลงเหลือป่าแล้ว” และพาเด็ก ๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจต่อ ว่าป่านั้นอยู่ตรงไหน พาไปเดินป่าในหมู่บ้าน ที่ชื่อว่าป่าแดงใหญ่ พาไปดูห้วยหนอง ระหว่างทางชวนให้สังเกตผู้คนที่ทำอาชีพต่าง ๆ ในพื้นที่ สังเกตไร่นา ดูร่องรอยสัตว์ป่า และร่องรอยการรุกป่า ขยะที่คนทิ้งไว้



2. ออกแบบหน่วยการเรียนรู้


ชวนให้เด็ก ๆ ได้มา reflect มาสะท้อนส่ิงที่ได้เรียนรู้จากการสำรวจพื้นที่ เด็กเขียนลงในกระดาษว่าได้เห็นอะไร แล้วรู้สึกอย่างไร คิดอะไร ครูได้เห็นว่าเด็ก ๆ แต่ละคนเขียนไม่ซ้ำกันเลย ได้เห็นความคิดที่หลากหลาย เด็ก ๆ ได้คิดถึงว่าต้นไม้กว่าจะโตใช้เวลานาน เริ่มเกิดคำถามว่า ทำไมคนต้องตัดต้นไม้ ขุดดิน ทำไมทิ้งขยะ เกิดคำถามต่อตัวเขาเองและเกิดการพูดคุยกับผู้ปกครองตัวเอง

จากนั้นครูชวนมาคิดว่าเราจะทำอย่างไร ด้วยการมาออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ คิดจากสิ่งที่ “รู้แล้ว” กับ “อยากรู้” เอามาจัดลำดับว่าแต่ละสัปดาห์เราเรียนอะไรบ้าง



3. เรียนรู้ด้วยตัวเองจากผู้คนและสิ่งรอบตัว


ช่วงสัปดาห์ที่ 2-9 จัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปะ สุขศึกษา โดยมีตัวชี้วัดมาจับว่าต้องได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เช่น วิทยาศาสตร์ เรียนเรื่องดิน, ประเภทของหิน, ปัจจัยสี่ วิชาศิลปะจะอยู่ได้ในทุกสัปดาห์ผ่านการสร้างสรรค์ทำใบงาน 

เด็ก ๆ จะได้ค้นหาความรู้สิ่งที่สงสัยด้วยตัวเอง โดยมีคนรอบตัวช่วยสนับสนุน มีการไปลงพื้นที่เดินป่ากับผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่อบต. ที่จะช่วยบอกว่าอันนี้ต้นอะไร 

ถ้าระหว่างการเรียนรู้นี้มีเรื่องที่เด็ก ๆ อยากรู้ ที่ไม่อยู่ในเค้าโครงที่ครูวางแผนไว้ก็อาจมีเอามาใส่เพิ่มเติมบ้าง เช่น มีเด็กที่เกิดคำถามว่า “ผมอยากรู้ว่าต้นไม้ทั้งหมดในโลกมีกี่ชนิด?”



4. ชวนขบคิดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้


ชวนเด็ก ๆ มาขบคิดต่อจากสิ่งที่ได้เรียนรู้กันในห้องเรียน ชวนคิดว่าเราอยู่ที่อีสาน ลักษณะของป่าและต้นไม้เป็นแบบนี้ แล้วพื้นที่อื่นในภาคอื่นเป็นอย่างไร ? ต้นไม้จะเหมือนกันมั้ย ? 

ให้เด็ก ๆ แบ่งกลุ่มไปค้นคว้ากันเอง โดยใช้สารานุกรมและคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในห้องเรียน 

เด็ก ๆ จะได้เขียนสิ่งที่อยากเรียนรู้ของตัวเอง 10 ข้อ ที่เป็นชิ้นงานเดี่ยวแล้วมาเติมคำตอบ ร่วมกับการทำงานเป็นกลุ่มที่ช่วยกันค้นหาข้อมูล

สัปดาห์ที่ 10 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนในหน่วยนี้ เด็ก ๆ จะได้นำเสนอผลงานต่อพี่ ๆ น้อง ๆ และครูในโรงเรียน รวมถึงเชิญผู้ปกครองมาร่วมฟังด้วย



ผลลัพธ์จากการเรียนแบบนี้


ตัวเด็ก ๆ เอง...

ก่อนที่จะมาจัดการเรียนรู้แบบ PBL เนื่องจากโรงเรียนที่ครูสอนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็ก ๆ เรียนจาก DLTV (สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) ซึ่งเป็นการดูอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติตาม หรือเป็นการสอนแต่ในหนังสือ พอมาทำเป็น PBL เด็กได้ลงมือทำ ได้ลงพื้นที่ เด็ก ๆ กระตือรือร้นอยากที่จะเรียนรู้เองโดยไม่ได้ถูกบังคับ อยากไปเดินสำรวจป่า ครูต้องคอยกำชับว่า ถ้าพ่อแม่หรือครูไม่พาไปห้ามไปเองนะ ครูสังเกตว่าเด็ก ๆ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ของเขาเอง ไปดูแลต้นไม้ที่ตัวเองปลูก และอยากให้พื้นที่บ้านของเขาเป็นเหมือนแต่ก่อนที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง เด็ก ๆ ได้เห็นว่าในโลกมีอะไรอีกมากที่พวกเขาอยากรู้


ผู้ปกครอง...

ครูเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ก็เปลี่ยนตามไปด้วย มีการปลูกต้นไม้มากขึ้น ครูเห็นมีการถ่ายรูปลงใน facebook ชวนเด็ก ๆ ไปปลูกต้นไม้ตามไร่นา ผู้ปกครองได้มามีส่วนร่วมในทุกหน่วยการเรียนรู้ เมื่อเรียนจบในช่วงสัปดาห์สุดท้ายได้มาฟังลูกนำเสนอ 

ครูเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้พูดได้สะท้อนคิดกัน



ความประทับใจของครู

ครูเห็นว่าเด็กอยากเรียน แทบไม่ขาดเรียนเลย เขาจะคอยถาม อยากรู้อยู่ตลอด จากแต่ก่อนเราถามเด็กแทบไม่ตอบเลย โดยเฉพาะเด็กที่เรียนไม่เก่ง แทบไม่มีโอกาส เพราะทุกวิชายัดความรู้ให้ เวลาตอบคำถามครูก็มองแต่คนเก่ง พอเป็นการเรียนแบบ PBL เรามองเห็นเด็กทุกคนสำคัญ เราไม่ปล่อยใครทิ้วไว้เลย บางคนที่ครูมองว่าไม่เก่งเค้ามุ่งมั่นมาก ครูได้เห็นว่าไม่มีใครโง่หรือฉลาด



ตามไปดูกิจกรรมที่เด็ก ๆ เดินสำรวจป่าได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=MRpVSjizJro&feature=youtu.be


ขอขอบคุณคุณครูผู้ร่วมแบ่งปันไอเดีย :D

ครูนาง กฤษณา ชาญวิชานนท์

โรงเรียนบ้านโกรกลึก จ.นครราชสีมา




รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(4)