icon
giftClose
profile

สร้างห้องเรียนแบบ Growth Mindset

38918
ภาพประกอบไอเดีย สร้างห้องเรียนแบบ Growth Mindset

การสร้าง Growth Mindset เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ห้องเรียน’ ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอันดับหนึ่งต่อการเปลี่ยน mindset ของเด็กๆ นอกจากการเตรียมห้องเรียนข้างต้น ครูต้องมีแผนการสอนที่ดี จัดกิจกรรมให้เข้ากับลักษณะการเรียนรู้

เพราะตราบใดที่มี Growth Mindset มนุษย์ทุกคนไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ในทุกทาง


จุดประสงค์การเรียนรู้ของเด็ก 

– นักเรียนต้องแยกแยะ Growth Mindset และ Fixed Mindset ได้

– ให้ตัวอย่างของ Growth และ Fixed Mindset ได้

– เข้าใจว่าทุกคนเกิดมาเพื่อเรียนรู้และต่างก็กำลังพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

 

คำถามสำคัญที่ต้องอบอวลตลอดการสอน

-  หากเรากำลังเจอเรื่องที่ยาก การมี growth mindset ช่วยเราได้ไหม?

-  ฉันมีความพยายามมากพอแล้วหรือยังกับบทเรียนในวันนี้?

-  เรามีกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่อย่างไร?

-  ทำไม Growth Mindset จึงจำเป็นต่อการเรียนรู้?

-  ความเข้าใจแบบ Growth Mindset และ Fixed Mindset ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร?

 

 

คติประจำชั้นเรียน 

ครูและนักเรียนร่วมกันออกแบบชั้นเรียน Growth mindset โดยมีคติประจำชั้น เพื่อช่วยให้นักเรียนไม่หลุดคอนเซ็ปต์ของ Growth Mindset หรือส่งผลให้ทุกคนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะร่วมสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้เป็นไปตามนั้น เช่น

– เราจะเรียนรู้ด้วยการคิดบวก

– เราจะพยายาม ไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง

– เราจะแก้ปัญหาอย่างรักใคร่ปรองดองกัน

 

การจัดห้องเรียนให้พร้อมเรียนรู้แบบเติบโต

– จัดโต๊ะเก้าอี้เป็นกลุ่มเล็กๆ หรือล้อมวงเป็นกึ่งๆ ห้องเสวนาให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันได้ ไม่มีเด็กหน้าห้องเด็กหลังห้องอีกต่อไป เพราะครูสามารถเดินเข้าถึงทุกคน

– ตกแต่งบอร์ดหรือตั้งโชว์ผลงานนักเรียนที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบ ชิ้นงานเว้าแหว่ง ปะติดปะต่อด้วยรอยกาวเลอะเทอะ บนบอร์ดเขียนนิยามความเป็น Growth Mindset เช่น “ความรู้เติบโตได้ไม่สิ้นสุด” “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” “Impossible is Nothing” “Done is Better than Perfect” “Just Do it!

– เวลาครูให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครูเน้นการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็กอย่างทั่วถึง ไม่เน้นว่าคำตอบต้องถูกต้องเสมอไป หรือผลงานต้องสมบูรณ์แบบ แต่เด็กต้องได้ผ่านกระบวนการคิดเพื่อทำความเข้าใจ

 

กิจกรรมและแบบฝึกหัด

-ฝึกให้นักเรียนแยกแยะ Growth Mindset และ Fixed Mindset เป็น โดยให้เปิดวิดีโอให้นักเรียนดูเกี่ยวกับชุดความคิดทั้ง2แบบ พร้อมให้นักเรียนประเมินตนเอง

-แจก post it ให้นักเรียนคนละ 2แผ่น และให้นักเรียนเขียนพฤติกรรมใดที่เป็น Growth Mindset และ Fixed Mindset หลังจากนั้นนำ post it แปะแยกไว้บนกระดาน

-เสวนากันถึงปัจจัยที่จำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ความคิดของเด็กๆ อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น การรับมือแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และข้อเสนอแนะ

 

อุปกรณ์

– แลปท็อปและจอโปรเจ็คเตอร์ (สำคัญมากในการสืบค้นนอกเหนือตำราเรียน)

– กระดานดำ/ไวท์บอร์ด/กระดาษแผ่นใหญ่

– ดินสอสี, Post it, มาร์คเกอร์ 

 

ผลลัพธ์จากการทำกิจกรรม

-            เมื่อนักเรียนเจอโจทย์ในการทำแบบฝึกหัดที่ท้าทายขึ้น นักเรียนได้ตระหนักตนเองให้มี growth mindset โดยการพูดออกมา เช่น หนูจะต้องพยายามให้ได้/มันไม่ยากเกินความสามารถนี่น๊าาาาา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ครูต้องช่วยเหลือเขาและเสริมแรงด้วยคำพูดเพื่อให้เขามี growth mindset หากสังเกตเห็นเขาทำไม่ได้จริงๆ

-            เพื่อนๆในห้องเรียนมักติดคำพูดเพื่อให้กำลังใจเพื่อนเสมอ เช่น เฮ้ย...มี growth mindset หน่อยน๊า / พยายามเข้าไว้ / ถ้าแกคิดว่าโง่ แสดงว่าแกมี fixed mindset อยู่นะเพื่อน เป็นต้น


ขอบคุณไอเดียจาก the potential และมาปรับให้เข้ากับห้องเรียนของตัวเอง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(3)