icon
giftClose
profile

"Artimatics" บูรณาการสองศาสตร์ได้มากกว่าที่คิด

37441

เมื่อความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพียงในห้องเรียน และการศึกษาเปิดโอกาสให้คนได้มีความรู้ที่หลากหลายศาสตร์ แต่ใครจะคิดล่ะว่าวิชาคณิตศาสตร์ที่แสนจะซับซ้อนจะบูรณาการเข้ากับวิชาศิลปะได้อย่างลงตัว ผ่านการปั้นอาหารจิ๋วของดีเมืองตากอย่างเมี่ยงคำจอมพล โดยใช้ชุมชนภายในจังหวัดบ้านเกิดของพวกเราเป็นฐานการเรียนรู้

  • กิจกรรมอนุรักษ์และส่งเสริมของดี เมืองตาก ผ่านกระบวนการจัดเรียนรู้แบบบูรณาการ (ปั้นอาหารจิ๋วของดีเมืองตาก)

โรงเรียนผดุงปัญญา อำเภอเมือง จังหวัดตาก >>คลิ๊กเพื่อรับชมวิดีโอกิจกรรม<<


มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวกับเราไว้ว่า "การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในระดับที่เราสามารถแยกออกว่าเราใช้ความรู้เรื่องนี้มาจากวิชาอะไรบ้าง เป็นระดับที่มีการบูรณาการไม่มากเท่ากับการบูรณาการที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างน้ำปั่น ไม่สามารถแยกสิ่งไหนออกมาได้ เพราะหลายๆศาสตร์เหล่านั้นถูกใช้ควบคู่ไปด้วยกันอย่างลงตัวมาเนิ่นนานแล้ว" ประโยคดังกล่าวถูกดังขึ้นอีกครั้งเมื่อหลายๆท่านถามเราว่าการปั้นอาหารจิ๋วเป็นการบูรณาการการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้อย่างไร เป็นวิชาศิลปะไม่ใช่หรือ...

ถ้าพูดถึงจังหวัดตากบ้านเกิดของพวกเรา ตากเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายๆด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี เช่น ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง เป็นต้น ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตกทีลอซู เขื่อนภูมิพล และสะพานแขวนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นต้น และอาหารประจำถิ่น เช่น เมี่ยงคำเมืองตาก ไส้เมี่ยง ยำข้าวเกรียบ และแกงมะแฮะ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวตากที่มีของดี เมืองตากอยู่มากมาย

เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ของดีเมืองตาก จึงเล็งเห็นถึงการนำเสนอเอกลักษณ์ของจังหวัดตากผ่านกระบวนการจัดเรียนรู้แบบบูรณาการวิชาศิลปะและคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานการปั้นของจิ๋วเป็นของที่ระลึกของดี เมืองตาก ซึ่งการปั้นของจิ๋วถือเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ปัญหาของรายวิชาคณิตศาสตร์ที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของผู้เรียน ซึ่งในการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์ในชีวิตจริงมาเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์ผ่านสถานการณ์การย่อขนาดงานปั้นของจิ๋ว ที่ใช้ความรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วน ไปใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อย่อส่วนงานปั้นของจิ๋วในวิชาศิลปะให้ขนาดของของจิ๋วออกมาได้สัดส่วนตามขนาดของจริง จากการได้ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนจากผู้มีความความรู้ หรือปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน

โดยดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานยังอยู่ภายใต้ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์(Experiential Learning Theory) โดย David Kolb กำหนดไว้ 4 ขั้นตอน (Bedri and Dowling, 2017) ดังต่อไปนี้

1. การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Concrete Experience : CE) ถ้าพูดถึงของขึ้นชื่อและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตาก ทุกคนจะนึกถึงรสชาติของอาหารที่มีการนำวัตถุในท้องถิ่นมาประกอบอาหารที่หาทานได้เฉพาะที่ตากเท่านั้น นั่นก็คือ เมี่ยงคำเมืองตาก หรือเมี่ยงคำเต้าเจี้ยว โดยที่เราพานักเรียนของเราไปลงชุมชนเด่นสน อำเภอหัวเดียด จังหวัดตากที่มีร้านขึ้นชื่ออย่าง 'เมี่ยงจอมพล' โดยได้ไปศึกษาประวัติความเป็นมา วัตถุดิบ การประกอบอาหารและรสชาติของอาหาร เพื่อทำความรู้จักกับอาหารที่เราจะนำมาทำกิจกรรมในวันนี้

2. การสะท้อนการเรียนรู้/ทบทวนการเรียนรู้ (Reflective Observation : RO) เมื่อได้ร่วมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากการลงพื้นที่ศึกษาเมี่ยงคำจอมพล หลายๆการสะท้อนทำให้พวกเรารู้สึกประหลาดใจและตื่นเต้นมากๆ เนื่องจากพบว่านักเรียนหลายๆคนไม่เคยเห็นหน้าตาของเมี่ยงคำมาก่อน เคยได้ยินแต่เพียงชื่อโดยให้เหตุผลว่าไม่น่าสนใจ "เพราะคำว่า 'เมี่ยงคำ' น่าจะมีพวกสมุนไพรเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่น่าทานเอาซะเลย" และพึ่งได้ลองชิมเมี่ยงคำเป็นครั้งแรก โดยก่อนจะชิมบางคนบอกกับพวกเราว่า "ขอไม่ใส่ขิงได้ไหม เขาไม่ชอบเลย" แต่เขาก็ตัดสินใจลอทานแบบดั้งเดิมก่อน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนักเรียนชอบมากๆ สมุนไพรที่ใส่ไว้สามารถเข้ากันได้อย่างลงตัวกับเต้าเจี้ยวของเมืองตาก ทำให้พวกเรารู้สึกว่าการมาในครั้งนี้ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆของนักเรียน ให้นักเรียนได้เข้าใจว่า ทำไมเมี่ยงคำจอมพล จึงเป็นอาหารขึ้นชื่อและใครมาก็ต้องมารับประทาน

3. การสรุปองค์ความรู้ (Abstract Conceptualization : AC) ก่อนจะนำเข้าสู่กิจกรรมหลัก พวกเราได้ให้นักเรียนร่วมกันเขียนความรู้ที่ได้ก่อนและหลังการเรียนรู้จากชุมชนในรูปแบบ mind mapping พร้อมกับร่วมกันเสนอแนะวิธีการนำเสนอความภาคภูมิใจของดีเมืองตากอย่างไรให้น่าสนใจ

4. การประยุกต์ใช้ความรู้ (Active Experimentation : AE) โจทย์ของพวกเราในวันนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ความภาคภูมิใจในอาหารของท้องถิ่นถูกนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งพวกเราได้นำการปั้นอาหารจิ๋วเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ ผ่านการบูรณาการการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์และวิชาศิลปะเข้าด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  • วัดขนาดของอาหารโดยใช้เครื่องมือบนโทรศัพท์ ที่มีชื่อว่า 'Measure' แล้วนำไปคำนวณหาขนาดที่ย่อแล้วด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสมเช่นเดียวกันกับทุกๆชิ้นส่วน

  • โดยวาดจำลองรูปจริงลงในช่องรูปจริง และคำนวณด้วยวิธีการของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเทียบสัดส่วน หรือการคำนวณด้วยนำขนาดจริงไปหารด้วยอัตราส่วน เป็นต้น แล้วจึงนำขนาดของอาหารจิ๋วที่ได้จากการคำนวณ ไปวาดจำลองในช่องรูปวาดจำลอง(กรณีที่ขนาดไม่ใหญ่จนเกินช่องจะวาดให้เท่ากับขนาดที่คำนวณได้) เพื่อจะนำไปดินที่ปั้นไปทาบ ให้ขนาดสมจริง

  • ผสมดินเพื่อเตรียมพร้อมปั้น

  • เมื่อได้ขนาดของอาหารจิ๋วแล้วจึงนำไปปั้นชิ้นส่วนต่างๆของเมี่ยงคำให้มีขนาดดังกล่าว พร้อมกับตกแต่งให้คล้ายกับอาหารจริง

  • ประกอบอาหารจิ๋ว(เมี่ยงคำ) เข้าด้วยกัน ก็จะมีลักษณะสวยงามและเสมือนของจริง จากการย่อด้วยัตราส่วนที่เท่ากัน

  • โดยพวกเราได้นำเสนอความภาคภูมิใจในเมี่ยงคำจอมพลกลับไปสู่ท้องถิ่น ด้วยการจัดกิจกรรม workshop ปั้นอาหารจิ๋วของดีเมืองตาก ณ กาดนั่งยองคล้องยาม อำเภอเมือง จังหวัดตาก


ถึงแม้ว่าการทำน้ำปั่นการเรียนรู้นั้นจะเป็นเรื่องยาก แต่พวกเราทั้ง 2 จะไม่หยุดพัฒนาตนเองเพื่อที่จะทำเรื่องท้าทายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแบ่งปันไอเดียในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณครูทุกท่านค่ะ

โดย ครูพิชญาภรณ์ ฮวบน้อยและครูณัฐนิชา ดีสลิด โรงเรียนผดุงปัญญา

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 6

ชื่อไฟล์​: 162666308_449296909752580_1216026490542367612_n.jpg

ดาวน์โหลดแล้ว 21 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(3)