icon
giftClose
profile

บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง

27804
ภาพประกอบไอเดีย บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง

หากการสอบปลายภาคอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการประเมินผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน แล้วคุณครูจะวัดผลได้อย่างไรบ้างนะ บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง จึงเป็นอาวุธลับของครูในครั้งนี้

วันนี้อยากจะชวนทุกคนมามองเห็น “ความเป็นไปได้” ในการประเมินผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน ผ่านห้องเรียนของครูธามและครูมดที่มี “บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง” เป็นอาวุธลับ (เครื่องมือวัดและประเมินผล) ของคุณครู


บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง

หากการสอบปลายภาคอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการประเมินผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน แล้วคุณครูจะวัดผลได้อย่างไรบ้างนะ วันนี้จะชวนทุกคนมามองเห็น “ความเป็นไปได้” ผ่านห้องเรียนของครูธามและครูมดที่มี “บอร์ดเกม ตัวละคร และการเดินทาง” เป็นอาวุธลับ (เครื่องมือวัดและประเมินผล) ของคุณครู


อะไรคือแรงบันดาลใจ

“การวัดผลระหว่างทาง เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราไม่คิดว่าการสอบปลายภาคจะตอบโจทย์ได้จริง” – ครูธาม และครูมด ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์


เมื่อการสอบปลายภาคอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการวัดประเมินผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน “บอร์ดเกมการเดินทางข้ามทวีป” จึงกลายมาเป็นเครื่องมือวัดและประเมินผลที่ครบคลุมทั้งความรู้ทางวิชาการ ทักษะที่จำเป็น และคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง


เริ่มกระบวนการ

1. ปักธงดินแดนที่ต้องพิชิต (กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน)

ครูธามและครูมดเริ่มต้นจากกำหนดเป้าหมายใหญ่ (goal) ที่ต้องการพัฒนานักเรียนในเทอมนี้ (โดยคำนึงถึงบริบทของผู้เรียนที่ควรได้รับการพัฒนา) ทั้งด้านความรู้ทางวิชาการ ทักษะที่จำเป็น และคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง แล้วจึงนำมาออกแบบเป็นเป้าหมายย่อย (milestone) ซึ่งเป้าหมายย่อยนี่เองจะถูกนำมาใช้เป็นภารกิจในการพิชิตการเดินทางผ่านทวีปต่าง ๆ


2. บอร์ดเกม และ เงื่อนไข (การวางระบบการเก็บคะแนน)

ถัดมาคุณครูสร้างกระดาน “บอร์ดเกม” ที่ประกอบไปด้วยประเทศจากทวีปต่าง ๆ และวางระบบการเก็บคะแนน (ทั้งรายบุคคลและรายห้อง)


* กิจกรรมบอร์ดเกมการเดินทางข้ามทวีป ทำให้ครูมองเห็นภาพรวมของห้องเรียนว่านักเรียนในห้องนี้มีแนวโน้มของการเรียนรู้และพฤติกรรมเป็นอย่างไรบ้าง

* ส่วนการติดตามผลรายบุคคล คุณครูอาศัยจากการสังเกต, exit ticket, class dojo และเครื่องมืออื่น ๆ โดยจะทำควบคู่กันไปกับกิจกรรมบอร์ดเกม


โดยคุณครูกำหนดให้ “เป้าหมายย่อย (milestone) 1 เป้าหมาย” เท่ากับ “ทวีป 1 ทวีป” ดังนั้นแต่ละห้องจะผ่านด่านทวีปแต่ละทวีปไปได้ จำเป็นต้องสะสมดาวให้ครบทั้งหมด 3 ดวง ถึงจะพิชิตทวีปได้ 1 ทวีป (ทั้งนี้คุณครูจะปั๊มดาวลงในหนังสือเดินทาง (passport) ของแต่ละห้อง เพื่อติดตามการเดินทาง) ก่อนที่จะออกเดินทาง เพื่อพิชิตทวีปถัดไป (จำนวนทวีปที่ต้องพิชิตสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสม)


เงื่อนไขการสะสมดาว

คุณครูสามารถกำหนดเงื่อนไขการสะสมดาวแต่ละดวง โดยบอกถึงสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนแสดงออกทั้งด้านวิชาการและพฤติกรรม เช่น ห้องนี้จะได้รับดาวดวงที่ 1 ก็ต่อเมื่อนักเรียนทุกคนสามารถปฏิบัติตามกฎของห้องเรียนได้ และจะได้รับดาวดวงที่ 2 ก็ต่อเมื่อนักเรียนร้อยละ 70 สามารถออกเสียงคำศัพท์ได้ถูกต้องอย่างน้อย 3 คำต่อคาบ เป็นต้น


ในการเดินทางผ่านแต่ละทวีป ครูธามกับครูมดจะค่อย ๆ เพิ่มความท้าทายของการสะสมดาวในแต่ละทวีป เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ


3. ตัวละครสมมติ (ชี้แจงให้นักเรียนทราบเกี่ยวกับเกณฑ์ วิธีการเล่น และสร้างตัวละคร)

ขั้นตอนนี้ ครูธามและครูมดชี้แจ้งให้นักเรียนทราบเกี่ยวกับกิจกรรม “บอร์ดเกมข้ามทวีป” ทั้งเกณฑ์การให้คะแนนและวิธีการเล่น รวมถึงมอบหนังสือเดินทาง (passport) ให้แต่ละห้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามการเดินทาง


จากนั้นให้นักเรียนช่วยกันออกแบบตัวละครของแต่ละห้อง โดยตัวละครจะต้องมีลักษณะหรือบุคลิกที่สื่อถึงห้องของตนเอง พร้อมกับออกแบบยานพาหนะ เพื่อใช้ในการเดินทางบนบอร์ดเกมข้ามทวีป หลังจากนั้นคุณครูจึงมอบอาวุธลับให้นักเรียน เพื่อใช้ต่อรองหรือโต้แย้งในกรณีที่ไม่เห็นด้วยในคาบเรียน


เมื่อทุกอย่างพร้อม การเดินทางก็เริ่มต้น โดยคุณครูจะเก็บคะแนนรายห้องและรายบุคคล แล้วนำมาวิเคราะห์ผล เพื่อให้การสะท้อนและคำปรึกษาแก่นักเรียน ช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้ดีขึ้น


บทสรุปการเดินทาง (ผลลัพธ์ของกิจกรรม)


“นักเรียนตื่นเต้นกับระบบเก็บคะแนนแบบนี้” - ครูธาม คุณครูประจำวิชาภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์
“นักเรียนเริ่มแสดงพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น เช่น ยกมือตอบคำถาม” – ครูมด คุณครูประจำวิชาคณิตศาสตร์


กิจกรรมดังกล่าว ช่วยให้คุณครูมองเห็นพัฒนาการของนักเรียนทั้งรายบุคคลและรายห้อง ทำให้คุณครูสามารถพัฒนานักเรียนได้ทันทีระหว่างเทอม นอกจากนี้นักเรียนเองก็มองเห็นพัฒนาการของตนเองและห้องเรียนเช่นกัน ทำให้พวกเขารู้ว่าตอนนี้เขายืนอยู่ตรงไหนของแผนที่ และกำลังจะมุ่งหน้าไปที่ไหน โดยจะต้องมีความรู้หรือพฤติกรรมใดบ้างที่จะสามารถพิชิตทวีปทั้งหมดให้ได้


เมื่อ “บอร์ดเกม” พร้อม “ตัวละคร” พร้อม “การเดินทางของนักเรียนและคุณครู” จึงเริ่มต้นขึ้น ผ่านทวีปของความเชื่อ...ที่ทุกการเรียนรู้สามารถ “ออกแบบ” และ “เป็นไปได้” เสมอ


คุณครูเจ้าของไอเดีย: ณัฐชนน โรจน์วัลลี (ครูธาม) และ ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ (ครูมด) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว: ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย (ครูเท็น) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(17)
เก็บไว้อ่าน
(11)