icon
giftClose
profile

Learning Box ชุดความรู้ฉบับพกพาช่วงโควิด-19

55502
ภาพประกอบไอเดีย Learning Box ชุดความรู้ฉบับพกพาช่วงโควิด-19

ตัวช่วยในการจัดการเรียนรู้แบบออฟไลน์และออนไลน์ช่วงโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน

เมื่อต้นปีพ.ศ. 2563 เกิดปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ในประเทศไทยขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นมิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา และอีกมากมาย ทำให้ทุกคนต้องดำเนินชีวิตแบบมีระยะห่างทางสังคม เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านปลาดาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ ที่เปิดรับนักเรียนด้อยโอกาส เด็กชาติพันธุ์ ให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โรงเรียนบ้านปลาดาวจะเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Problem Based Learning (PBL) Makerspace และ นวัตกรรม 3R (Reading, Writing และ Arithmetic) โดยคณะครูได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบบรรจุลงใน Learning Box ส่งไปให้นักเรียนได้ใช้เรียนที่บ้านในช่วงโควิด-19

ครูกาว-รัชธา เนตรทิพย์ ครูประจำโรงเรียนบ้านปลาดาว เล่าถึงที่มา Learning box ว่าเกิดจากคณะครูร่วมกันหาวิธีการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่นักเรียนจะต้องหยุดเรียนและเรียนที่บ้านแทน แต่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีข้อจำกัดว่า นักเรียนบางคนไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถสอนออนไลน์เหมือนพื้นที่อื่น จึงเกิด Learning box ขึ้น

Learning box คืออะไร?

         Learning box คือเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับนักเรียนให้ใช้เรียนที่บ้านทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ออกแบบสำหรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ที่ประกอบด้วยการเรียนรู้ 3 รูปแบบของระดับประถมศึกษาคือ

1.     ชุดเครื่องมือ Problem Based Learning (PBL)

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน นักเรียนจะได้ทดลองเรียนรู้ในหัวข้อที่ตนเองสนใจ เช่น ทำไมมดชอบกินอาหาร? วิธีการกำจัดมดเป็นอย่างไร? ซึ่งนักเรียนจะได้ไปหาคำตอบด้วยตนเอง

2.     3R (Reading, Writing และ Arithmetic)

การเรียนรู้เนื้อหาในบทเรียน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ในลักษณะของใบงาน ถ้าหากสามารถค้นหาข้อมูลในสื่อออนไลน์หรือสามารถให้รุ่นพี่อาสาหรือผู้ปกครองอาสาอธิบายเสริมความเข้าใจได้

3.     กิจกรรม Makerspace

ให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานขึ้นเอง ซึ่งจะยึด STEAM design process (การตั้งคำถาม จินตนาการ วางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติ และการสะท้อนความคิด) ในการวางแผนและออกแบบผลงาน การสร้างสรรค์ชิ้นงาน ครูจะกำหนดโจทย์การเรียนรู้ เช่น การประดิษฐ์ของเล่นจากไม้ไผ่ การทำกระถางต้นไม้ เป็นต้น นักเรียนจะได้ฝึกทักษะชีวิตและการประยุกต์ใช้อุปกรณ์หรือวัตถุดิบที่มีรอบตัวมาพัฒนาและทำให้เป็นชิ้นงานขึ้น

         Learning box ถูกออกแบบสำหรับการเรียนใน 1 สัปดาห์ ฉะนั้นครูจะต้องออกแบบการเรียนรู้ในทุกๆสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครูทุกคนจะต้องช่วยกันออกแบบให้เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด ระหว่างทางก็มีการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้

1.     ผู้ปกครอง คือผู้ที่จะคอยดูแล ติดตาม จัดการเรียนรู้ร่วมกับลูกหลานช่วงที่อยู่บ้าน ถ้าหากผู้ปกครองเกิดปัญหาสามารถที่จะติดต่อมาทางครูได้โดยหรือหรือผ่านทางกลุ่มไลน์

2.     ผู้ปกครองอาสาและพี่อาสา คือทีมอาสาสมัครที่มีหน้าที่ติดตามนักเรียน ทบทวนความรู้ความเข้าใจในการเรียน ปัญหาที่เกิดขึ้น สำรวจสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ สื่อสาร ประสานงานและติดตามงานระหว่างครูและนักเรียน เนื่องจากผู้ปกครองบางคนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

3.     ผู้นำชุมชน คือผู้ที่อำนวยความสะดวกให้กับครูในการเข้า-ออกพื้นที่ภายในชุมชน เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียนและติดตามการเรียนของนักเรียนในพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีมาตรการเข้มงวดการเข้า-ออกของบุคคลนอกชุมชน

              ปัจจุบัน Learning box ของโรงเรียนบ้านปลาดาว เป็นโมเดลการเรียนรู้ที่เสนอกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) เพื่อให้โรงเรียนในเครือข่ายนำไปใช้ในการสอนเมื่อจะต้องมีการสอนแบบออฟไลน์และออนไลน์ หรือช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง

              ฉะนั้นการใช้ Learning box เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงโควิด-19 ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะชีวิต ทักษะการคิด การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีอิสระในการทดลองการเรียนรู้และการมีผู้ปกครองอาสาและรุ่นพี่อาสาทำให้นักเรียนไม่หลุดจากการเรียน อีกทั้งยังทำให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ครู ผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชน ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในช่วงที่อยู่บ้าน ดังคำกล่าวของครูกาวที่เชื่อว่า “ความรู้อยู่รอบตัวและนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา”

 

หมายเหตุ1.: Learning box ของระดับชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษาจะมีเนื้อหาการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ได้แก่

1.     ระดับชั้นอนุบาลจะมีกิจกรรม3R กิจกรรมMakerspace​ กิจกรรมทักษะชีวิต

2.     ระดับชั้นประถมศึกษาจะมีกิจกรรม3R กิจกรรมMakerspaceและกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) แบบบูรณาการ

หมายเหตุ2: ผู้ชมสามารถชมภาพและคลิปวิดีโอแนะนำการใช้ Learning box สำหรับอนุบาลและประถมศึกษาได้จากไฟล์แนบข้างล่าง

 

เครดิตไอเดีย ครูกาว รัชธา เนตรทิพย์ โรงเรียนบ้านปลาดาว

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 12

ชื่อไฟล์​: คลิปแนะนำ-ประถม.mp4

ดาวน์โหลดแล้ว 24 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(2)