icon
giftClose
profile

Light up monster: ปลุกไฟ Monster ที่ดีในตัวคุณ

54474
ภาพประกอบไอเดีย Light up monster: ปลุกไฟ Monster ที่ดีในตัวคุณ

จากสมุดบันทึกความดีในคาบโฮมรูม รวมกับ ความเชื่อในการสอนที่ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นสังคมได้ จึงเกิดคาบเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มาใน ธีม “Light up monster: ปลุกไฟ Monster ที่ดีในตัวคุณ”

วิทยาศาสตร์ ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นสังคมได้ การใช้เพียงมุมมองด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาอาจนำมาซึ่งความล้มเหลว ดังนั้นการสอนวิทยาศาสตร์ที่ตัดขาดการมองในแง่มุมของสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ จริยธรรม ย่อมมิใช่การสอนตามแบบวิทยาศาสตร์ที่ควรจะเป็น

……………………………………………………………………………………………………………………………

คาบโฮมรูมประจำวัน

ครู: นักเรียนครับ วันนี้ทางโรงเรียนได้แจกสมุดบันทึกความดีให้เราบันทึก

นักเรียน: หนูไม่มีความดีค่ะ ไม่อยากทำเลย หนูไม่ใช่คนดี …. ฟหกด่าสว!!! ฟหกด่าสว บลา ๆๆๆ … แล้วทั้งห้องก็เริ่มเข้าสู่การบ่น

ครู: ครูว่าที่จริงเราทำความดีกันอยู่ตลอดนะ เพียงแค่เรานึกไม่ออกเฉย ๆ OK เดี๋ยวจะช่วยคิด

……………………………………………………………………………………………………………………………

จากสมุดบันทึกความดีในคาบโฮมรูม รวมกับ ความเชื่อในการสอนที่ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นสังคมได้ จึงเกิดคาบเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มาใน ธีม “Light up monster: ปลุกไฟ Monster ที่ดีในตัวคุณ”



    การออกแบบกิจกรรมมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. กิจกรรมบูรณาการหลากหลายเนื้อหา เพราะปิดโควิดมาหลายเดือน กิจกรรมประกอบด้วย การนำไฟฟ้าของวัสดุ การวัดมวลและปริมาตรของสสาร ระบบสุริยะ การชั่ง ตวง วัด การคาดคะเน และการตั้งสมมติฐาน

2. กิจกรรมฝึกฝนในเรื่องของอภิปัญญา (Metacognition) ความตระหนักรู้

ของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เข้าใจกระบวนการคิดของตนเอง และประเมินความคิดของตนเองได้

    3. กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม ผ่านการบูรณาการในคาบเรียนวิทยาศาสตร์

……………………………………………………………………………………………………………………………

ภารกิจเมื่อเริ่มคาบเรียน

เมื่อพูดถึง Monster นักเรียนน่าจะมีภาพในจินตนาการ ผ่านการดูหนัง การ์ตูน เช่น เบ็นเทน การ์ดเกมส์ ยูกิ ซึ่ง Monster เหล่านี้ไม่ได้มีแต่นิสัยดุร้าย คาบเรียนนี้คุณครูจะชวนนักเรียนสร้าง Monster ที่ดีประจำตัวเองขึ้นมา โดยมีข้อมูลพื้นฐาน ดังนี้

1. ชื่อของ Monster

2. แหล่งกำเนิด (เลือกดวงดาวในระบบสุริยะ)

3. ลักษณะภายนอก (สอดคล้องกับลักษณะดวงดาวในระบบสุริยะ)

4. ลักษณะนิสัย (ลักษณะนิสัยที่ดี เขียนมาหลาย ๆ ข้อ สอดคล้องกับลักษณะนิสัยที่ดีของเจ้าของ Monster หากนักเรียนนึกไม่ออกให้ลองถามเพื่อนในกลุ่ม)

5. จุดเด่น และข้อมูลด้านอื่น ๆ

……………………………………………………………………………………………………………………………

ปั้นแป้งโดว์สร้าง Monster Light up ที่นำไฟฟ้าได้

    1. ให้นักเรียนทำแป้งโดว์ เริ่มจากนำแป้งอเนกประสงค์ 250 กรัม และครีมออฟทาร์ทาร์ 2 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับเกลือ น้ำร้อน น้ำมันพืช สีผสมอาหาร ซึ่งไม่ได้กำหนดปริมาณ ให้นักเรียนค้นหาสูตรด้วยตัวเอง

2. ให้เคล็ดลับแต่ละกลุ่มในการทำแป้งโดว์กลุ่มละ 1 เคล็ดลับ โดยการสุ่มจับฉลาก

เคล็ดลับที่ 1 หากแป้งโดว์แฉะ ให้เติมแป้งอเนกประสงค์เพิ่ม

เคล็ดลับที่ 2 หากแป้งโดว์ไม่จับตัวเป็นก้อน ให้เติมน้ำเพิ่ม

เคล็ดลับที่ 3 หากแป้งโดว์ติดมือ ให้เติมน้ำพืช

เคล็ดลับที่ 4 เติมสีผสมอาหารทีละนิด

เคล็ดลับที่ 5 หากแป้งโดว์ติดมือ ให้เติมน้ำพืช

เคล็ดลับที่ 6 หากแป้งโดว์ไม่นำไฟฟ้า ให้เติมสารละลายน้ำเกลือ

3. ทดสอบการนำไฟฟ้าของแป้งโดว์ โดยใช้ หลอดไฟ LED 1.5 V สีต่างกัน (แดง น้ำเงิน เขียว) ถ่าน 9 V 1 ก้อน และสายไฟ แดง ดำ ต่อปากคีบจระเข้

4. ทำกิจกรรมตาม ข้อ 1-3 ซ้ำจำนวน 5 รอบ เพื่อให้ได้แป้งโดว์หลากหลายสี โดยแต่ละรอบนักเรียนจะได้รับเคล็ดลับการทำแป้งโดว์เพิ่ม รอบละ 1 เคล็ดลับ

5. นำแป้งโดว์ที่ได้ปั้นเป็น Monster ที่ดีประจำตัว และต่อวงจรไฟฟ้าให้ไฟติด พร้อมทั้งนำเสนอ อัดคลิปวีดีโอ

……………………………………………………………………………………………………………………………

ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย

ช่วงท้ายกิจกรรมให้นักเรียนเขียนสะท้อนคิด สรุปประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ จากความสงสัยว่า “ทำไมแป้งนำไฟฟ้าได้” นักเรียนได้พิจารณาส่วนผสมที่ทำให้แป้งโดว์นำไฟฟ้า (สารละลายน้ำเกลือ)

ประเด็นที่ 2 เกิดความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามีแต่ของแข็งเท่านั้นที่นำไฟฟ้าได้ แต่พวกสารละลายน้ำเกลือก็นำไฟฟ้าได้นะ

ประเด็นที่ 3 เกิดบูรณาการทั้งเนื้อหา และทักษะหลายด้าน ทั้งระบบสุริยะ สถานะของสาร ทักษะการสังเกต การตั้งสมมติฐาน การชั่ง ตวง วัด เพื่อให้ได้สูตรแป้งโดว์ที่ดีที่สุดออกมา

ประเด็นที่ 4 การทำความดีไม่ใช่เรื่องยาก โดยนักเรียนเห็นตัวอย่างความดีจากลักษณะนิสัยที่ดีของ Monster ที่เขาสร้างขึ้น เปรียบเสมือนเป็นภาพสะท้อนตัวตนของนักเรียนเอง

ประเด็นที่ 5 เกิดการฝึกฝนในเรื่องของอภิปัญญา เกิดการตระหนักรู้ถึงการคิด นักเรียนพบว่าในการทำแป้งโดว์ครั้งแรกที่ไม่มีสูตร นักเรียนต้องแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก เมื่อนักเรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ได้รับข้อมูลจากเคล็ดลับของครู และการสังเกตกลุ่มเพื่อน นักเรียนเริ่มค้นพบสูตรแป้งโดว์ของกลุ่มตัวเอง เป็นกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เมื่อเขาทำอีกในครั้งหลัง ๆ คุณภาพของแป้งโดว์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่หลาย ๆ คน กว่าจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้สำเร็จ พวกเขาต้องลองถูกลองผิดนับครั้งไม่ถ้วน

……………………………………………………………………………………………………………………………

จบคาบเรียนวิทยาศาสตร์

จากเสียงสนธนาเดิม

“ครูหนูขี้เกียจเรียน”

“หนูไม่อยากทำบันทึกความดี”

สู่เสียงสนธนาใหม่

“ครูวันนี้มีเรียนกับครู วันนี้ทำอะไร”

“หนูอยากทำแป้งโดว์อีก กลุ่มหนูทำได้ดีแน่นอน”

“หนูจะเอาไปทำให้น้องเล่นที่บ้าน”

“หนูทำบันทึกความดีเสร็จแล้ว”

“เรียนวิทย์กับครูก็สนุกนะ”

วิทยาศาสตร์ย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน

 

 

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(18)
เก็บไว้อ่าน
(5)