“หากพูดถึงการสอนแต่งคำประพันธ์
ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ต้องร้องโอดโอยขึ้นมาว่ามันยากครับ/ยากค่ะครู
โดยหารู้ไม่ว่าครูน่ะร้องโอยก่อนพวกเธออีก
จะด้วยการต้องจำแผนผังวงกลมๆ จำเส้นโยงสัมผัสหรือแต่งให้ครบบท
ดังนั้นวันนี้เราก็เลยจะมาแชร์ไอเดียเล็กๆ
เกี่ยวการสอนแต่งคำประพันธ์ประเภท กาพย์ฉบัง ๑๖
ที่จะช่วยให้เด็กๆไม่ร้อง “โอ๊ยโอ๊ย” เหมือนเพลงพี่แจ้ ดนุพล
แต่เปลี่ยนเป็นร้อง “อ๋ออออออ” แทนทันทีที่คุณครูสอนจบ!”
*** เป็นการนำเอาแผนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
ในสมัยฝึกประสบการณ์การเรียนรู้เมื่อปีการศึกษา ๒๕๖๑ มาปรับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ลักษณะสำคัญของกาพย์ฉบัง ๑๖
ใน ๑ บทจะมี ๓ วรรค โดยวรรคแรกจะมี ๖ พยางค์ วรรคที่สองมี ๔ พยางค์ และวรรคที่สามมี ๖ พยางค์ รวมทั้งสิ้นเป็น ๑๖ พยางค์ จึงได้ชื่อว่า กาพย์ฉบัง ๑๖
รูปแบบการวางคณะ
เขียนในรูปแบบบรรทัดหนึ่งจะมีสองวรรค และบรรทัดที่สองจะมี ๑ วรรค รวมเป็น ๑ บท สลับกันไป
สัมผัสระหว่างวรรค
ในหนึ่งบทจะมีสัมผัสเพียงคู่เดียว คือ พยางค์สุดท้ายของวรรคที่หนึ่งสัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่สอง
สัมผัสระหว่างบท
พยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป
สิ่งที่นักเรียนควรรู้เพิ่มเติม
สัมผัสสระ คือ การนำคำที่มีเสียงสระหรือเสียงสระกับตัวสะกดในมาตราเดียวกันมาอยู่ใกล้กัน เช่น จะกล่าวกลับจับความตามท้องเรื่อง (กลับ-จับ , ความ-ตาม)
ตัวอย่างกาพย์ฉบัง ๑๖
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาคร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล
(บทสวดบูชาธรรมคุณ)
อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อัมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
(บทพากย์เอราวัณ)
พ่อแม่ตั้งหน้ารอวัน ลูกรักของฉัน
เมื่อใดจะหวนคืนมา
ลูกหายไปหลายเวลา มิได้พบหน้า
ทำงาน่ามกลางเมืองใหญ่
จากบ้านมาไกลแสนไกล รอวันคืนไป
สัมผัสอ้อมกอดอิ่มเอม
(บทกลอนคัดสรรจากผู้สอน)
อุปกรณ์ในการเรียนรู้
๑. ใบบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ
๒. กระดาษฟลิปชาร์ตสำหรับเขียนผังฉันทลักษณ์ของกาพย์ฉบัง ๑๖
๓. ปากกาเคมีกลุ่มละ ๑-๒ สี
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (๕ นาที)
๑) ครูชวนนักเรียนเล่นเกม “ประโยคต่อประโยค” โดยการต่อบทสรรเสริญพระสังฆคุณ โดยครูจะเป็นผู้เริ่มต้นให้ว่า “สงฆ์ใดสาวกศาสดา” จากนั้นให้นักเรียนต่อบทสวดไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๕ - ๖ คน หรืออาจสุ่มเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม (ตรงนี้นักเรียนหัวใจเต้นตึกตัก แม้จะมีคาบสวดมนต์ก็จริง แต่บางคนก็ลืมไปแล้วว่าบทสวดๆจริงๆเป็นอย่างไง มีพูดถูกบ้างผิดบ้าง)
๒) ครูสุ่มถามนักเรียนว่าทราบหรือไม่ว่าบทสวดดังกล่าวถูกแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทใด (คำตอบตรงนี้หลากหลายมาก) อาจเสริมในกรณีที่เคยสอนเรื่องคำประพันธ์ประเภทอื่นไปแล้วว่า คำปรพันธ์ประเภทนี้แตกต่างจากคำประพันธ์ที่เคยเรียนมา เช่น กลอนสุภาพ หรือไม่ อย่างไร
๓) ครูเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียนว่า คำประพันธ์ประเภทดังกล่าวคือ คำประพันธ์ประเภท กาพย์ฉบัง ๑๖ ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่ใช้ในการแต่งวรรณคดีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น บทพากย์เอราวัณ และยังรวมไปถึงบทสวดที่เราได้สวดกันในคาบสวดมนต์อีกด้วย ซึ่งในวันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่อง ฉันทลักษณ์ของกาพย์ฉบัง ๑๖ ผ่านกิจกรรมที่มีชื่อว่า “ช่วยกันคิด พิจารณาคำประพันธ์”
ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้ (๔๐ นาที)
๑) ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามความเหมาะสม โดยวิธีการแบ่งกลุ่มนั้นสามารถเลือกได้หลายวิธี (*** การแบ่งกลุ่มอาจใช้เวลาในการแบ่งจำนวนนานมาก เพราะบางคนไม่อยากอยู่กันคนนั้น คนนี้ไม่อยากทำงานด้วยหรอก ครูอาจแก้ปัญหาด้วยการแบ่งกลุ่มมาให้นักเรียน หรือให้นักเรียนส่งรายชื่อกลุ่มให้ครูท้ายคาบก่อนหน้า เพื่อความรวดเร็วในการจัดกลุ่ม และไม่กระทบกระเทือนต่อการทำกิจกรรมในคาบ)
๒) นักเรียนเข้าตามกลุ่มของตนเองเพื่อทำกิจกรรม “ช่วยกันคิด พิจารณาคำประพันธ์”โดยนักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้รับอุปกรณ์ประจำตำแหน่งกลุ่มละ ๑ เซต ประกอบด้วย
- แผ่นกระดาษบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ กลุ่มละ ๓ แผ่น (เพิ่มลดตามความเหมาะสม)
- กระดาษฟลิปชาร์ตแผ่นไม่ใหญ่มาก เอาขนาดพอดีๆ กลุ่มละ ๑ แผ่นสำหรับเขียนฉันทลักษณ์ของกาพย์ฉบัง ๑๖
- ปากกาเคมี ๑ - ๒ สี (ตรงนี้เสียงจะดังเป็นพิเศษ ถ้ามีสีที่นักเรียนอยากได้ เช่น สีชมพู สีเขียว นักเรียนบางคนถึงขนาดเป็นจริงเป็นจังกับการเลือกสี บางคนจัดเต็มโดยการเตรียมเอาสีมาจากบ้าน)
๓) ครูชวนนักเรียนแต่ละกลุ่มอ่านบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณที่แจกให้จำนวน ๖ บท จากนั้นชวนนักเรียนสังเกตรูปแบบของคำประพันธ์ โดยเริ่มให้ก่อน เช่น
สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์
เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน
ระงับและดับทุกภัย
ครูชวนนักเรียนพิจารณาในบทแรกว่า คำประพันธ์ทุกชนิดจะต้องมีสัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบท สัมผัสระหว่างวรรคจะต้องสัมผัสจากวรรควรรคหนึ่งไปอีกวรรคหนึ่ง ส่วนสัมผัสระหว่างบทจะเป็นสัมผัสที่เชื่อมระหว่างบทหนึ่งกับอีกบทหนึ่ง วรรคแรกคำที่คล้องจองหรือสัมผัสกันคือคำว่าอะไรบ้าง (ดา-มา , บรร-อัน) ชวนสังเกตไปทีละวรรคโดยเน้นการยกตัวอย่างจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย เมื่อมั่นใจแล้วจึงเริ่มลงมือทำ โดยครูให้นักเรียนฝึกโยงเส้นสัมผัสจากบทสวดที่ครูแจกให้ จากนั้นถ่ายทอดออกมาเป็นแผนผังแบบวงกลม ในกระดาษฟลิปชาร์ต
๔) ครูสุ่มนักเรียน ๑ - ๒ กลุ่มออกมานำเสนอ จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันพิจารณาไปพร้อมกัน โดยครูให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องจำนวนคำในแต่ละวรรค จำนวนวรรคในแต่ละบท รวมไปถึงสัมผัสระหว่างวรรค-ระหว่างบท และสัมผัสสระ-สัมผัสพยัญชนะ (ใช้กระดาน / ทำเพาเวอร์พ้อยต์นำเสนอก็ได้) โดยให้นักเรียนบันทึกความรู้เพิ่มเติมลงในกระดาษฟลิปชาร์ตที่แจกให้
ขั้นสรุปบทเรียน (๕นาที)
๑) ครูถามนักเรียนว่า “เพราะเหตุใดเราจึงต้องศึกษาลักษณะคำประพันธ์ก่อนจะเริ่มเรียนตัวบทวรรณคดี” (ตรงนี้ค่อนข้างชื่นใจเพราะคำตอบมีมาหลากหลายมาก ทั้งเพื่อให้เราสามารถแต่งคำประพันธ์ได้ถูกต้องตามผังฉันทลักษณ์ บางคนบอกว่าเพื่อให้เราแบ่งจังหวะการอ่านได้ถูกต้อง จะได้ไม่อ่านผิด)
๒) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนเพื่อทบทวนร่วมกันอีกครั้ง ปรากฏว่าเป็นที่หน้าชื่นใจมาก เพราะการนำเอาบทสวดที่นักเรียนได้สวดกันอยู่แล้วในคาบสวดมนต์มาใช้ในการสอนกาพย์ฉบัง ๑๖ ปรากฏว่านักเรียนจำผังฉันทลักษณ์ จะด้วยแผนภาพก็ดี จะด้วยการโยงเส้นสัมผัสก็ดี ทำให้คุณครูปลื้มใจมากๆ)
หลังจากการสอนเรื่องฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์ฉบัง ๑๖ จบ ครูหลายท่านอาจจะเริ่มต้นสอนตัวบทวรรณคดีเลย (ในที่นี้เป็นเรื่องของบทพากย์เอราวัณ) แต่ช้าก่อน... ไหนๆก็เรียนจบมาหนึ่งคาบแล้ว เราควรจะมีกิจกรรมเสริมสักนิดสักหน่อยเพื่อวัดว่าผู้เรียนเรียนรู้ไปแล้ว สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างน้อยก็เป็นการทบทวนความรู้ว่ามันจะไม่หลุดลอยหายไประหว่างทางเดินกลับบ้าน (ฮา)
นอกจากการแต่งคำประพันธ์มาส่งที่เราอาจจะมอบหมายให้ผู้เรียนได้ทำแล้ว มันจะมีกิจกรรมอื่นๆอีกมั้ยน้าที่ช่วยให้ทบทวนความรู้ที่เรียนมาโดยไม่รู้สึกว่ามันน่าเบื่ออีกต่อไป ดังนั้นเราจึงมีกิจกรรมเสริมมานำเสนอทั้งสิ้น ๕ กิจกรรมด้วยกัน โดยอาจมอบหมายให้ทำในคาบถัดไป หรือบางกิจกรรมสามารถทำได้ทันทีทันใดหากเวลาในคาบนั้นเหลือ
(๑) กิจกรรม “คำคมวัยเสี่ยวจะเปรี้ยวกะละมัง”
เป็นที่รู้ดีกันว่าเยาวรุ่นนักเรียนในสมัยนี้เล่นสื่อโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ทั้งทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ติ๊กต๊อก ซึ่งช่องทางเหล่านี้นี่แหละที่คุณครูน่าเอามาปรับใช้หลังจากการสอนกาพย์ฉบัง ๑๖ จบ โดยการอาจให้นักเรียน แต่งคำคมที่คิดว่าจี๊ดใจที่สุดสัก ๑ - ๒ บท พร้อมติดแฮชแท๊ก #คำคมวัยเสี่ยงจะเปรี้ยวกะละมัง พร้อมเปิดเป็นสาธารณะ เพื่อให้คุณครูเข้าไปตรวจงานผ่านช่องทางนั้น ๆ ได้ นอกจากนักเรียนจะได้คำคมเสี่ยวๆไว้โพสต์แก้เบื่อแล้ว คุณครูยังได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกใช้คำของนักเรียนอีกด้วยนะจะบอกให้!
(๒) กิจกรรม “แต่งกาพย์ฉบังเนื่องในโอกาสพิเศษ”
อันนี้เป็นเบสิคพื้นฐานที่หลายห้องเรียนอาจจะมีการใช้ เมื่อสอนคำประพันธ์จบ เอ้า แต่งเลยลูก ส่งเข้าประกวดเลยลูก จะวันภาษาไทย วันสุนทรภู่ วันรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด วันใดๆก็ตาม ก็สามารถให้นักเรียนได้แต่งคำประพันธ์ส่งได้ ข้อดีของกาพย์ฉบัง ๑๖ ก็คือจำนวนคำไม่ได้มากอย่างคนอื่นเขา แถมสัมผัสระหว่างบท ระหว่างวรรคก็จำง่ายแสนง่าย อยู่ที่คุณครูแล้วแหละว่าจะคิดโจทย์ในการแต่งให้ออกมาสุดท้าทายแค่ไหน
(๓) กิจกรรม “สรรหามาแบ่งปัน”
ครูมอบหมายให้นักเรียนไปค้นหากาพย์ฉบัง ๑๖ จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ (ได้สอดแทรกเรื่องทักษะการสืบค้นในอินเทอร์เน็ต แหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเชื่อถือ การคัดกรองข้อมูลที่เหมาะสม/ไม่เหมาะสม) อาจมอบหมายให้เป็นกลุ่มก็ได้ แล้วนำมาวิเคราะห์ฉันทลักษณ์ร่วมกัน หรือคุณครูอาจจะให้นักเรียนลองสังเกตกาพย์ฉบังที่ปรากฏในโรงเรียนหรือในชีวิตประจำวันเพื่อมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์เรียนรู้
(๔) กิจกรรม “แข่งขันแต่งกลอนสด”
ครูอาจมีการจัดแข่งขันขึ้นภายในคาบเรียนเพื่อวัดไหวพริบของนักเรียน โดยอาจมีการแข่งขันโดยแบ่งกันเป็นทีมเพื่อให้นักเรียนได้ช่วยกันระดมสมอง ครูอาจจะกำหนดโจทย์เป็นคำมาให้ แล้วนักเรียนแต่ละทีมคิดคำมาลง ซึ่งความสนุกจะอยู่ที่บางกลุ่มหาคำยากๆมาลงเพื่อให้เพื่อนอีกทีมหนึ่งเกิดอาการมึนไปชั่วคณะว่าจะหาคำที่ลงสัมผัสคำใดมาลงดี โดยเมื่อแข่งขันจบแล้วครูอาจนำของที่ระลึกเล็ก ๆ มามอบให้นักเรียนทีมที่ชนะ ส่วนทีมที่แพ้ได้รับรางวัลปลอบใจ (ครูอาจนำมาปรับใช้เป็นการแข่งขันระหว่างระดับชั้นในงานวันภาษาไทยหรือวันสุนทรภู่ได้)
(๕) กิจกรรม “แต่งเล่นเป็นเรื่องเป็นราว”
ครูเป็นผู้เริ่มกาพย์ฉบัง ๑๖ ในวรรคแรก จากนั้นให้นักเรียนอาจจะเป็นกลุ่มช่วยกันแต่งต่อไปเรื่อยๆ โดยความสนุกของกิจกรรมนี้จะอยู่ที่นักเรียนพยายามหาคำมาลง โดยเกิดเป็นเรื่องเป็นราวที่เกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่ก็สร้างเสียงหัวเราะให้เกิดในชั้นเรียนได้อย่างไม่หยุดหย่อน (กิจกรรมนี้ค่อนข้างเวิร์คมากๆเพราะนอกจากนักเรียนจาพากันฮือฮา ครูก็ขำจนตัวโยน เพราะอึ้งทึ่งกับความคิดอันแสนบรรเจิดของบรรดานักเรียนของเรา)
หมายเหตุ : กิจกรรมอาจปรับให้เหมาะสมกับชั้นเรียนแต่ชั้นได้ เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา เช่น ห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยๆ อาจปรับให้นักเรียนแต่ละคนได้ลองทำด้วยตนเอง ครูเป็นที่ปรึกษาแนะแนวทางให้เมื่อนักเรียนลองโยงสัมผัส
เพราะเราอยากทำให้คุณครูทุกท่านเห็น
ว่าการสอนเรื่องการแต่งคำประพันธ์ไม่ได้ยาก
และน่าเบื่ออย่างที่คิด แค่เราเปลี่ยนนิดปรับหน่อย
ห้องเรียนของเราก็จะหลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุก
ที่ได้ทั้งสาระและรอยยิ้มจากทั้งครูและนักเรียน
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะครับ
หากนำไปใช้แล้วได้ผลหรือไม่อย่างไร
แวะกลับมารีวิวหรือเล่าสู่กันฟังบ้างเน้อ :)
เอกสารประกอบการทำกิจกรรมสามารถดาวน์โหลดไปใช้งาน หรือปรับได้ตามความเหมาะสมเลยจ้า
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย