icon
giftClose
profile

Role-play Chemistry

26279
ภาพประกอบไอเดีย Role-play Chemistry

การใช้บทบาทสมมุติในการจัดการเรียนการสอนเรื่องพันธะเคมี ในส่วนของพันธะโคเวเลนต์ ซึ่งเหมาะกับการใช้จัดการเรียนการสอนเมื่อครูไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ได้ โดยให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นอะตอม และให้ใช้แขน (อาจจะรวมขา) ของนักเรียนเป็นจำนวนอิเล็กตรอนวงนอกสุด เพื่อที่จำลองการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันเมื่อเกิดพันธะ

ในบทเรียนพันธะเคมี ตามหลักสูตรจะเป็นออกเป็น 3 พันธะคือ พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ และพันธะโลหะ ในส่วนของพันธะโคเวเลนต์นั้น เกิดขึ้นเมื่ออะตอมของธาตุมาใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน ตามชื่อพันธะโคเวเลนต์ (Covalent Bond) ซึ่ง Co หมายถึง ร่วมกัน และ Valent (adj.) มาจาก Valence (n.) electron ซึ่งหมายถึง อิเล็กตรอนวงนอกสุด


ในการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดพันธะโคเวเลนต์นั้นมีด้วยกันอยู่หลายวิธี วันนี้กระผมจะมานำเสนอวิธีที่ผมใช้ในห้องเรียน ยกตัวอย่างการเกิด Carbondioxide CO2 เกิดขึ้นจากการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันของ อะตอมของคาร์บอน และ อะตอมของออกซิเจนดังนี้ อะตอมของคาร์บอนมีอิเล็กตรอนวงนอกสุด (Valence e-) จำนวน 4 ตัว ซึ่งตามหลักก็ต้องทำให้อะตอมมีจำนวนอิเล็กตรอนวงนอกสุดครบ 8 ตัว (ตามกฏออกเต็ด; Octet Rule) นั่นแปลว่าอะตอมของคาร์บอนนั้นต้องการอิเล็กตรอนเพิ่มอีก 4 ตัว ในขณะเดียวกัน อะตอมของออกซิเจน มีอิเล็กตรอนวงนอกสุด 6 ตัว ก็ต้องการอิเล็กตรอนเพิ่มอีก 2 ตัว การจัดการเรียนการสอนในห้อง ครูจะให้นักเรียนจำลองตัวเองเป็นอะตอม และให้ใช้แขนเป็นจำนวนของอิเล็กตรอนที่ต้องการเพิ่ม ดังนี้ (ในตัวอย่างนี้ใช้นักเรียนจำนวน 4 คน)


  1. อะตอมของคาร์บอนมี 4 อิเล็กตรอน ต้องการเพิ่มอีก 4 ตัว = ให้นักเรียนสองคนหันหลังชนกันแล้วกางแขนออก จะได้ 4 แขนพอดี (การยื่นแขนออกมา 4 แขนแปลว่าอะตอมต้องการอิเล็กตรอนเพิ่ม 4 ตัว)
  2. อะตอมของออกซิเจนมี 6 อิเล็กตรอน ต้องการเพิ่มอีก 2 ตัว = ให้นักเรียนหนึ่งคนกางแขนออก จะได้ 2 แขนพอดี (การยื่นแขนออกมา 2 แขนแปลว่าอะตอมต้องการอิเล็กตรอนเพิ่ม 2 ตัว)
  3. เมื่ออะตอมทั้งสองชนิดมาเจอกัน โดยการให้นักเรียนที่เป็นอะตอมของคาร์บอนยืนอยู่ตรงกลาง และให้นักเรียนที่จำลองเป็นอะตอมของออกซิเจน เดินเข้ามาจับมือกับมือของนักเรียนที่เป็นอะตอมของคาร์บอน เกิดเป็นพันธะหนึ่งพันธะ (ซึ่งเป็นพันธะคู่)
  4. จะเห็นว่าอะตอมของคาร์บอนยังแข็นว่างอีก 2 แขน ดังนั้นให้นักเรียนอีกคนนึงทำหน้าที่เป็นอะตอมของออกซิเจนอีกอะตอมหนึ่ง แล้วเข้าไปจับอีก 2 แขนของคาร์บอนอีกฝั่งหนึ่ง เกิดเป็นพันธะหนึ่งพันธะ (ซึ่งเป็นพันธะคู่)
  5. ตอนนี้คาร์บอนและออกซิเจนไม่มีแขนว่างแล้ว แสดงว่าเกิดพันธะได้ครบถ้วน ระหว่างอะตอมของคาร์บอน 1 อะตอม และอะตอมของออกซิเจน 2 อะตอม



สรุปการใช้เทคนิค

  1. แขนแทนจำนวนอิเล็กตรอนที่อะตอมนั้นต้องการเพื่อให้ครบกฏออกเต็ด
  2. ลักษณะการเกิดพันธะ ดูได้จากจำนวนแขนที่จับกันระหว่างอะตอม
  3. ถ้าระหว่างอะตอมจับกันแขนเดียว = พันธะเดี่ยว (single bond)
  4. ถ้าระหว่างอะตอมจับกัน 2 แขน = พันธะคู่ (double bond)
  5. ถ้าระหว่างอะตอมจับกัน 3 แขน = พันธะสาม (triple bond)
  6. สามารถระบุจำนวนอะตอมที่เข้าร่วมพันธะได้อีกด้วย (ทำให้นักเรียนสามารถเขียนสูตรเคมีได้)
  7. เมื่อทุกคน (อะตอม) จับแขนกันทั้งหมดแล้ว นักเรียนจะสามารถสังเกตได้อีกว่าอะตอมใดอยู่ตรงกลาง ซึ่งสามารถนำไปสู่การระบุอะตอมกลาง เพื่อการเขียนสูตรโครงสร้าง และการทำนายรูปร่างของโมเลกุลต่อไป


** เพิ่มเติม **

ครูอาจชี้ให้นักเรียนเห็นเพิ่มเติมได้ว่า ถ้านักเรียนจับมือกันแบบหลวม ๆ (จับมือห่าง ๆ อาจจะเป็นลักษณะของการเอื้อมือจับ จับแค่ปลายนิ้ว) เป็นตัวบ่งชี้ถึงระยะห่างระหว่างอะตอมซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของพันธะได้อีกด้วย (จับมือห่าง ๆ ความยาวพันธะยาว มือหลุดง่าย พันธะไม่แข็งแรง) หรือถ้าอะตอมอยู่ใกล้กันเกินไป (นักเรียนยืนชิดกันไป ก็จะอึดอัด) ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนได้คอนเซปด้วยว่าการเกิดพันธะเคมีต้องมีระยะห่างระหว่างอะตอมที่เหมาะสม


ครูอาจจะปรับการจัดการเรียนการสอนแบบธรรมดาให้เป็นเกมส์ได้ โดยกำหนดเลขที่นักเรียนเรียนให้จำลองตัวเองเป็นอะตอมของธาตุ แล้วให้นักเรียนวิ่งหาอะตอมของธาตุอื่นๆตามที่กำหนดเพื่อให้เกิดเป็นสารประกอบได้ พอจับได้ครบทุกแขนแล้ว นักเรียนจะทราบชนิดของพันธะที่เกิด รวมถึงจำนวนอะตอมคู่ร่วมพันธะ สามารถทำให้นักเรียนเขียนสูตรสารประกอบได้อีกด้วย


จะเห็นว่าไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างอื่น ในการจัดการเรียนการสอน เพียงแค่มีครูมีนักเรียน ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้เลย ซึ่งสามารถใช้ในการเรียนนอกห้องได้ การใช้เทคนิคดังกล่าวนี้นอกจากจะให้ผู้เรียนได้เห็นภาพ เข้าใจ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้เกิด Self-awareness อีกด้วย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(11)
เก็บไว้อ่าน
(8)