icon
giftClose
profile

โปรแกรม วิถีชีวิต และการวัดผลจากกระบวนการ

7650
ภาพประกอบไอเดีย โปรแกรม วิถีชีวิต และการวัดผลจากกระบวนการ

ขอบคุณไอเดียจากครูดนย์ ปิยพัทธดนย์ พันธ์สุวรรณ โรงเรียนนารีนุกูล ผู้ร่วมแบ่งปันความเป็นไปได้ในการสอนวิชาวิทยาการคำนวน กับไอเดียการสอนพื้นฐานการคิดของการเขียนโปรแกรมผ่านเรื่องราวในชีวิต และการวัดผลที่เรื่องราวระหว่างทาง ไม่ใช่เพียงแค่ผลลัพธ์ที่จุดหมาย

แม้ว่าโรงเรียนนารีนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม และมีประวัติความเป็นมายาวนานแม้แต่ในสาขาวิชาที่ค่อนข้างใหม่เช่นวิชาวิทยาการคำนวณ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้คุณครูต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและเรียนรู้วิธีการสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนการเติบโตของนักเรียนได้เต็มที่มากขึ้น


หนึ่งในไอเดียของลำดับการสอน และการวางหลักสูตรเพื่อพานักเรียนให้เป็นผู้ที่สามารถปรับใช้วิทยาการคำนวณ หรือการเขียนโปรแกรมในชีวิตของพวกเขานั้น ไม่ได้เริ่มจากคีย์บอร์ด เมาส์ และหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่จะเริ่มจากชีวิตประจำวันของพวกเขาก่อน เช่นการลองสำรวจเส้นทางจากบ้านของนักเรียนแต่ละคนมาที่โรงเรียน ลองดูเหตุผลที่เราเลือกใช้เส้นทางนั้น วิเคราะห์ข้อดี สำรวจข้อจำกัด และสรุปเส้นทางที่ตอบโจทย์การเดินทางที่สุด จากนั้นลองออกแบบ "บัตรคำสั่ง" เพื่อให้ใครก็ตามสามารถเดินตามเส้นทางนั้นได้ ซึ่งผลลัพธ์จากการคิดของนักเรียนไม่ใช่การออกแบบให้เหมือนกับที่เราคิด แต่เป็นการได้ลองสร้างเส้นทางของตัวเอง และสื่อสารเหตุผลประกอบการเดินบนเส้นทางนั้น


จากนั้นอาจจะเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้นโดยนำความเป็นเกมซึ่งมีธีมและเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ เช่นการเดินทางในป่า หรือในทะเลทราย โดยที่เรากำหนดเงื่อนไขและอุปสรรคระหว่างทางไว้ เพื่อให้นักเรียนได้ลองสร้างสรรค์วิธีการไปสู่จุดหมายที่มีประสิทธิภาพที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ


เมื่อนักเรียนเข้าใจความเป็นมา หลักการคิด และได้ฝึกทักษะการลำดับความคิดแล้ว หลังจากนั้นนักเรียนจะได้ทดลองงานในมิติอื่น ๆ ที่ใช้ศาสตร์ของวิทยาการคำนวน เช่น เขียนโปรแกรม ทำงานกราฟฟิค การออกแบบ application และการพัฒนาหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ของเราในตอนนั้นคือการทำให้โปรแกรมและพื้นที่ในการทดลองต่าง ๆ พร้อมใช้งาน รวมถึงการเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อเสริมเครื่องมือและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ให้กับนักเรียน ไปจนถึงการจัดให้มีเวทีแข่งขันภายใน และเชื่อมต่อกับเวทีแข่งขันจากภายนอก เพื่อเป็นการเสริมแรงและฉายแสงมาที่สิ่งที่นักเรียนได้ออกแบบขึ้น


ในระหว่างที่ทำงาน ส่วนที่ถูกให้ความสำคัญนอกเหนือจากผลลัพธ์ว่านักเรียนจะสามารถไปถึงจุดหมายได้ไหมนั้น เราชวนนักเรียนกลับมาสะท้อนตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยว่า "ระหว่างทางพวกเราได้ทำอะไรไปบ้าง" โดยให้นักเรียนเขียนบันทึกถึงบทบาทของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละครั้งที่ตัวเองได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ เพราะเราอยากให้นักเรียนได้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการในการทำงานร่วมกันด้วย และเราปรับการวัดประเมินผลจากการมองเฉพาะแต่ผลลัพธ์ที่ปลายทาง มาเป็นการประเมินจากการอ่าน พูดคุย และรับฟัง บันทึกระหว่างทางของนักเรียนด้วย


ผลลัพธ์คือนักเรียนมีการต่อยอดจากพื้นฐานที่ได้ฝึกฝนไปในห้องเรียนจนสามารถเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ เช่นหุ่นยนต์ หรือ application รวมถึงบอกเล่ากระบวนการคิด และเรื่องราวระหว่างการทำงาน ซึ่งนักเรียนสามารถนำมารวบรวมเป็นพอร์ตโฟลิโอสำหรับใช้ในการศึกษาต่อได้ด้วย


ขอขอบคุณเจ้าของไอเดีย ครูดนย์ ปิยพัทธดนย์ พันธ์สุวรรณ โรงเรียนนารีนุกูล สำหรับการร่วมแบ่งปันครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)